ปภ. เตือนผู้ปฏิบัติงานและเจ้าของสถานประกอบการ รับมืออุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลในโรงงานอุตสาหกรรม

ข่าวทั่วไป Thursday June 12, 2008 16:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--ปภ.
จากเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลของบริษัทในเครือ ปตท. ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดระยอง โดยสาเหตุของการรั่วไหลเกิดจากการทดลองเดินเครื่อง ทำให้แก๊สที่อยู่ในถังระเหยออกมา ส่งผลให้คนงานที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงสูดดมสารพิษเข้าไปจนได้รับบาดเจ็บจำนวน ๑๑๒ ราย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะวิธีปฏิบัติตนเพื่อป้องกันอันตรายจากเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลในโรงงานอุตสาหกรรม ดังนี้ ก่อนการปฏิบัติงาน ควรสวมชุดป้องกันที่โรงงานจัดเตรียมอย่างครบถ้วนทั้งเสื้อผ้า หมวกนิรภัย ที่คลุมผม หน้ากาก อุปกรณ์กรองอากาศหายใจ แว่นตานิรภัยชนิดแบบปิดด้านข้าง อุปกรณ์ครอบหู ถุงมือ และรองเท้าบูท ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้สามารถทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมีได้ และภายในโรงงานควรมีประตูทางออกให้เพียงพอ กับการอพยพหนีภัยของผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน กรณีที่สารเคมีเกิดการรั่วไหล ให้รีบอพยพออกจากพื้นที่ที่มีสารเคมีรั่วไหล เพราะฤทธิ์ของสารเคมีที่รั่วไหลออกมา จะทำให้ผู้ที่สูดดมสารเคมีเข้าไป มีอาการแน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน และมึนงง ในการอพยพควรใช้ผ้าสะอาดปิดจมูกเพื่อป้องกันการสูดดมสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย พยายามหนีออกไปอยู่ในบริเวณที่อากาศสามารถถ่ายเทได้อย่างสะดวก และควรอยู่เหนือลมหรืออยู่ในที่สูง แล้วรีบแจ้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบที่มีความชำนาญเพื่อกำจัดหรือทำความสะอาดบริเวณที่เกิดการรั่วไหล โดยเก็บกวาดสารพิษที่หกหรือรั่วไหลใส่ภาชนะที่มิดชิด หรือใช้ขี้เลื่อย ดูดซับสารเคมี และเก็บใส่ภาชนะที่มิดชิดเพื่อนำไปกำจัด หากพบเห็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสูดดมสารเคมี ทางการหายใจ ให้นำผู้ป่วยออกมารับอากาศบริสุทธิ์ หากผู้ป่วยหยุดหายใจให้ใช้วิธีผายปอด และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที โดยบอกประเภทลักษณะของสารเคมีที่ผู้ป่วย สูดดมเข้าไป เพื่อประโยชน์ต่อการวินิจฉัยและรักษาของแพทย์ นอกจากนี้ยังพบว่า โรงงานที่ประกอบการเกี่ยวกับสารเคมีมีความเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงไหม้สูง เช่น โรงงาน ผลิตทินเนอร์ เฟอร์นิเจอร์ กาว และโรงงานที่มีการอ็อกหรือเชื่อมเหล็ก ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องกำหนดแนวทางป้องกันและควบคุมการเก็บรักษาสารเคมีอย่างเข้มงวด และออกมาตรการห้ามผู้ปฏิบัติงานประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และเก็บแยกสารเคมีให้ถูกต้องตามประเภทในที่ที่มิดชิด ซึ่งมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่ไม่ควรเก็บไว้ในที่ที่มีความร้อนสูง ตลอดจนติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง และหมั่นตรวจสอบสายไฟและหม้อแปลงอยู่เสมอ อีกทั้งควรจัดให้มีการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติภัยสารเคมีและอัคคีภัย สุดท้ายนี้ ขอให้ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนและการเตรียมความพร้อมรับมือกับอุบัติภัยสารเคมี ก่อนปฏิบัติงานควรสวมชุดที่โรงงานจัดให้อย่างครบถ้วน สำรวจเส้นทางอพยพออกจากโรงงานให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้หนีภัยได้อย่างสะดวก หากเกิดอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลให้ใช้ผ้าปิดจมูก และออกห่างจากบริเวณที่สารเคมีรั่วไหลทางด้านเหนือลมในทันที ส่วนเจ้าของสถานประกอบการสารเคมี ควรกำหนดแนวทางป้องกันและควบคุมการเก็บรักษาสารเคมีอย่างเข้มงวด ออกมาตรการห้ามผู้ปฏิบัติงานประกอบกิจกรรมต่างๆที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย เพื่อลด ความสูญเสียจากเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลในโรงงานอุตสาหกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ