ไตรมาสแรกปี 48 บริษัทจดทะเบียนกำไรรวมกว่าแสนสามหมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27

ข่าวทั่วไป Thursday May 19, 2005 10:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บริษัทจดทะเบียนประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาสแรกปี 2548 มีผลกำไรสุทธิรวมถึง 136,480 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 จากงวดเดียวกันของปีก่อน กลุ่มทรัพยากรทำกำไรสูงสุดถึง 41,406 ล้านบาท รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจการเงินมีกำไรรวม 31,114 ล้านบาท ส่วนบริษัทใน SET50 และ SET100 กำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เท่ากัน โดย 5 อันดับหุ้นทำกำไรสูงสุดได้แก่ PTT, SCC , BBL , ADVANC และ SCB
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนประจำไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2548 ว่า บริษัทจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้นำส่งงบการเงินงวดสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2548 แล้วจำนวน 454 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 96 จากบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้น 474 บริษัท
“ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2548 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 430 บริษัท จาก 448 บริษัท มี ยอดขายรวม 1,019,367 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 และมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 136,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 107,008 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 โดยบริษัทที่มีผลกำไรสุทธิมีจำนวน 388 บริษัท คิดเป็นร้อยละ 90
ส่วนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2548 มีจำนวน 26 บริษัท ได้นำส่งงบ การเงิน 24 บริษัท มียอดขายรวม 3,510 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 และมีผลกำไรสุทธิ 226 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 196 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 โดยบริษัทที่มีผลกำไรสุทธิมีจำนวน 19 บริษัทคิดเป็นร้อยละ 79” นายกิตติรัตน์กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม SET50 มีกำไรสุทธิ 103,966 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม (136,480 ล้านบาท) โดยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เนื่องจากยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 และมีกำไรขั้นต้นร้อยละ 29
ส่วนบริษัทในกลุ่ม SET100 มีกำไรสุทธิ 112,821 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม โดยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 และมีกำไรขั้นต้นร้อยละ 26
กรรมการผู้จัดการกล่าวต่อไปว่า “บริษัทที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรกคือบมจ. ปตท. (PTT) , บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) , บมจ. ธนาคารกรุงเทพ (BBL) , บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และบมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
1. PTT มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 112 เนื่องจากปริมาณการใช้ปิโตรเลียมโดยรวมของประเทศสูงขึ้น และราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันและราคาปิโตรเคมียังอยู่ในวงจรขาขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลมาจากการเข้าถือหุ้นในบริษัทโรงกลั่นน้ำมันระยองในสัดส่วนร้อยละ 100 ทำให้รายได้จากการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 39 และรับรู้กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทย่อยดังกล่าวอีก 7,738 ล้านบาท
2. SCC มีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 สาเหตุหลักมาจากเกือบทุกกลุ่มธุรกิจยังคงมีผลประกอบการที่ดีขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี ส่งผลให้รายได้จากการขายเติบโตขึ้นร้อยละ 31 และมีกำไรจากการขายสินทรัพย์ 701 ล้านบาท
3. BBL มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 81 เนื่องจากมีรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 44 ในขณะที่ ดอกเบี้ยและส่วนลดจ่ายลดลง
4. ADVANC บริษัทมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจากปลายปี 2547 เพียงร้อยละ 2.2 แต่บริษัทมีค่าใช้จ่ายทางการตลาดและค่าใช้จ่ายในการบริหารลดลงจึงทำให้มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 7
5. SCB มีกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 28 เนื่องจากในงวดเดียวกันของปีก่อนบริษัทมีกำไรจากเงินลงทุน 3,670 ล้านบาท อย่างไรก็ดีบริษัทมีผลการดำเนินงานในธุรกิจหลักดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิซึ่งไม่รวมกำไรจากเงินลงทุนและหนี้สูญเท่ากับ 4,723 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23”
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group) จำนวน 396 บริษัท ไม่รวมบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูการดำเนินงาน (REHABCO) มีกำไรสุทธิรวม 132,876 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 97 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม โดยเรียงลำดับตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิสูงสุดได้ ดังนี้
1. กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียนในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค 16 บริษัท และหมวดเหมืองแร่ 1 บริษัท มีกำไรสุทธิ 41,406 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 67 โดยมีสาเหตุหลักจากหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เนื่องจากปริมาณการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
2. กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียนในหมวดธนาคาร หมวดเงินทุนหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต 65 บริษัท มีกำไรสุทธิรวม 31,114 ล้านบาท
โดยธนาคารพาณิชย์ 12 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 25,309 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 25,523 ล้านบาท โดยมีสาเหตุจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 18 หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 2,435 รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 โดยมีการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อและเงินรับฝากเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับงวดเดียวกับของปีก่อน
ส่วนกลุ่มธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ (ไม่รวมบริษัทที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง) 21 บริษัท มีกำไรรวม 3,319 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3,851 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 14 โดยกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์มีกำไร 1,059 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลงตามภาวะตลาด
ด้านหมวดประกันชีวิตและประกันภัย ซึ่งประกอบด้วยบริษัทประกันภัย 17 แห่ง และบริษัทประกันชีวิต 2 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 1,078 ล้านบาท มีกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 4 เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,126 ล้านบาท เนื่องจากรายได้และกำไรจากการลงทุนลดลงร้อยละ 25 และมีกำไรจากการประกันภัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 18
3. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียนในหมวดวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง 30 บริษัท และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 40 บริษัท มีกำไรสุทธิรวม 19,325 ล้านบาท
4. กลุ่มบริการ ประกอบด้วย 7 หมวดธุรกิจรวม 79 บริษัท มีกำไรสุทธิ 16,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11 เนื่องจากยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 โดยหมวดขนส่งและโลจิสติกส์มีสัดส่วนกำไรสุทธิ ร้อยละ 68 ของกลุ่มอุตสาหกรรม มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 โดยปัจจัยหลักมาจากผลการดำเนินงานของบริษัทที่ประกอบธุรกิจขนส่งทางเรือ ซึ่งมีปริมาณการใช้บริการเพิ่มขึ้นและอัตราค่าระวางการขนส่งทางน้ำปรับตัวดีขึ้น
5. กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียนในหมวดสื่อสาร หมวดชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ 42 บริษัท มีกำไรสุทธิรวม 11,151 ล้านบาท โดยหมวดสื่อสารมีกำไรสุทธิคิดเป็น ร้อยละ 84 ของกลุ่มอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดีกำไรดังกล่าวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2 เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบของหมวดชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์สูงขึ้น
6. กลุ่มวัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรม 46 บริษัท มีกำไรสุทธิ 9,128 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 57 เนื่องจากกำไรของหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83 ของกลุ่มอุตสาหกรรม) เพิ่มขึ้นร้อยละ 80 เนื่องจากราคาปิโตรเคมีอยู่ในวงจรขาขึ้น
7. กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วยหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 22 บริษัท และหมวดธุรกิจการเกษตร 19 บริษัท มีกำไรสุทธิ 3,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 142 โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 หมวดธุรกิจการเกษตรมีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า เนื่องจากปริมาณขายในประเทศและต่างประเทศของผู้ประกอบการรายใหญ่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าเพิ่มมูลค่าและมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนในขณะที่งวดก่อนมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
8. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 36 บริษัท มีกำไรสุทธิ 1,306 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3 อย่างไรก็ตาม บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มดังกล่าวมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 และมีอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับร้อยละ 19 เท่ากับงวดเดียวกันของปีก่อน
“สำหรับบริษัทจดทะเบียนหมวด REHABCO จำนวน 45 บริษัท นำส่งงบการเงินจำนวน 34 บริษัท คิดเป็นร้อยละ 76 ของบริษัทหมวด REHABCO ทั้งหมด มีผลกำไรสุทธิ 25 บริษัท และขาดทุนสุทธิ 9 บริษัท โดยมีกำไรสุทธิรวม 3,379 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีขาดทุนสุทธิ 3,900 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 187 เนื่องจากมียอดขาย เพิ่มขึ้น 15,613 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 และมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 242 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 93” กรรมการและผู้จัดการกล่าว
ด้านความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2548 บริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม REHABCO มีหนี้ คงค้างรวม 230,111 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,022 ล้านบาทจากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลหนี้ทั้งสิ้น 227,089 ล้านบาท ทั้งนี้ สามารถสรุปสถานะการฟื้นฟูกิจการของบริษัทหมวด REHABCO ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548-วันที่ 16 พฤษภาคม 2548 ได้ดังนี้
- บริษัทจดทะเบียนที่ย้ายเข้าหมวด REHABCO เพิ่มจำนวน 5 บริษัท คือ บมจ.เซอร์คิทอีเลคโทรนิคส์ อินดัสตรีส์ (CIRKIT), บมจ.ไดโดมอน กรุ๊ป (DAIDO) , บมจ.พันธุ์สุกรไทย-เดนมาร์ค (D-MARK), บมจ.นครหลวงเส้นใยสังเคราะห์ (HTX) และ บมจ.นิวพลัสนิตติ้ง (NPK)
- บริษัทที่จะย้ายกลับไปซื้อขายหมวดปกติ 1 บริษัทในวันที่ 20 พฤษภาคม 2548 คือ บมจ.นครไทย สตริปมิล (NSM)
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049
วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797--จบ--

แท็ก set50   SET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ