สรุปผลแบบสอบถามนักวิเคราะห์ครั้งที่ 1/2548 มาตรการควบคุมราคาเชื้อเพลิงในประเทศ

ข่าวทั่วไป Friday March 18, 2005 09:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
นักวิเคราะห์เชียร์รัฐบาลลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล โดยเห็นด้วยกับความเห็นนายกฯ ในการทยอยปรับราคาทีละน้อย เพื่อลดผลกระทบ ชี้การที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลลบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมองว่ารัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่มีความเหมาะสมในระดับปานกลาง
จากภาวะน้ำมันแพงในปัจจุบัน สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์จึงได้จัดทำแบบสอบถามนักวิเคราะห์ เพื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับประเด็นในเรื่องพลังงาน โดยมีนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์แสดงความคิดเห็นรวม 25 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 73.5
ประเด็นที่สอบถามเกี่ยวกับความเห็นในการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล วิธีที่เหมาะสมในการปรับราคา ผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ กลุ่มธุรกิจที่คิดว่าจะได้รับผลกระทบ ผลกระทบต่อตลาดหุ้น และความเหมาะสมของรัฐมนตรีทางเศรษฐกิจ
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 88 ของที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่ารัฐบาลควรปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลค้าปลีกในประเทศลอยตัว ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 8 ที่ไม่เห็นด้วย สำหรับวิธีการลอยตัวราคาน้ำมันนั้น จำนวนร้อยละ 64 เห็นว่า ควรขยับราคาทีละน้อย เช่น 60 สตางค์ แต่ขยับได้บ่อยครั้ง โดยร้อยละ 20 เห็นว่าควรขยับราคาทีละมากหน่อย เช่น 2-3 บาท แต่น้อยครั้ง และร้อยละ 8 เห็นว่าควรปล่อยให้ลอยตัวเสรี
ทั้งนี้ หากราคาน้ำมันดีเซลในประเทศมีการปรับสูงขึ้น นักวิเคราะห์มองว่า น่าจะส่งผลกระทบต่อปัจจัยหลัก คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย เป็นต้น โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัวลง นักวิเคราะห์ร้อยละ 8 ของที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบในทางลบมากกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ไว้ ในขณะที่ร้อยละ 16 คิดว่าจะมีผลกระทบไม่มากนัก และจะมีการปรับตัวได้ดี นักวิเคราะห์อีกร้อยละ 16 คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะลดลงประมาณ 0.2-0.6% และจำนวนที่เหลือร้อยละ 60 ไม่ได้ระบุระดับความรุนแรงของผลกระทบ
อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น โดยมีนักวิเคราะห์เพียงร้อยละ 12 ที่เชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มไม่มากนัก ในขณะที่อีกร้อยละ 88 ไม่ระบุระดับของผลกระทบ
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่นักวิเคราะห์คิดว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (ร้อยละ 46) ขนส่ง (ร้อยละ 23) และสินค้าอุปโภคบริโภค (ร้อยละ 7)
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่า การลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างแน่นอน โดยร้อยละ 32 ของที่ตอบแบบสอบถาม เชื่อมั่นว่า ผลกระทบจะเกิดในระยะสั้นเท่านั้น และนักวิเคราะห์เห็นว่า สาเหตุน่าจะเป็นผลจากปัจจัยทางด้านจิตวิทยา และแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่อาจลดลงจากต้นทุนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว จะขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันและการปรับตัวของผู้ประกอบการ
ต่อคำถามเกี่ยวกับความหมาะสมของรัฐมนตรีทางเศรษฐกิจที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่นั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 72 เห็นว่ามีความเหมาะสมปานกลาง จำนวนร้อยละ 20 เห็นว่าเหมาะสมมาก และร้อยละ 8 เห็นว่าเหมาะสมน้อย
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้โดยตรงที่
คุณสาธิต วรรณศิลปิน กรรมการและปฏิคม สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
โทร.02-285-0618 หรือ 01-815-6993--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ