ดร.เกรียงศักดิ์ ชี้ปี 2020 ชีวิตคนกรุงเทพฯเข้าขั้นวิกฤต ประกาศนโยบายพัฒนาเมือง ต้องเร่งวางรากฐานทุกด้าน

ข่าวทั่วไป Friday June 27, 2008 16:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--124 คอมมิวนิเคชั่นส
ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แสดงความพร้อมในการอาสาทำงานเพื่อชาวกรุงเทพมหานคร โดยเปิดเผยถึงอนาคตของกรุงเทพฯ ในปี 2020 ว่า จะพบกับวิกฤตในหลาย ๆ ด้าน ดังนั้นจำเป็นต้องวางรากฐานเพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ซึ่งมั่นใจว่านโยบายที่จะนำใช้เพื่ออาสาทำงานให้พี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพฯ สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งปัจจุบันและอนาคต โดยวางรากฐานระยะสั้น 4 ปี และระยะยาว 12 ปี มุ่งวิสัยทัศน์ กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่ติด 1 ใน 20 อันดับโลก
“ผมไม่ต้องการเป็นนักการเมืองธรรมดา ๆ ที่มองอนาคตเพียง 4 ปี ว่าจะทำอะไรเพื่อสร้างผลงาน สะสมเป็นคะแนนเสียงให้กับการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ผมมาในฐานะนักทำงานเมืองตั้งใจมาเพื่อวางรากฐานของเมือง ที่อาจจะถึงยุคเสื่อมโทรมและเผชิญปัญหาร้ายแรงมากที่สุดในอีก 12 ปีข้างหน้า”ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ด้วยปัจจัยหลายประการทั้งระดับโลกและระกดับภูมิภาคที่เกี่ยวเนื่องกับความเจริญ และความเป็นอยู่ของชาวกรุงเทพฯ อาทิ ความเจริญทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ภาวะโลกร้อน และทิศทางการขยายตัวของกรุงเทพฯ จะนำปัญหาและโอกาสมาสู่ กทม. จึงต้องวางแผนในการรับมือและป้องกันตั้งแต่วันนี้
โดยเห็นว่าอนาคตอีก 12 ปีข้างหน้า ในปี พ.ศ.2563 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองขยะพิษ ขยะพิษจากโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เกมส์ อุปกรณ์ทันสมัยที่ตกรุ่นอย่างรวดเร็วจะเหลือสะสมกว่า 3 หมื่นตัน กลายเป็น “มรดกพิษ” ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจะทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็น เมืองน้ำท่วมขังและแหล่งโรคระบาด จากสัตว์พาหะนำโรคหนู แมลงสาบ ยุง แมลงวัน ที่แพร่พันธุ์รวดเร็ว และเป็นเมืองที่คนส่วนใหญ่เป็นภูมิแพ้ หากไม่มีการบริหารจัดการให้สภาพแวดล้อมมีความสะอาดขึ้น นอกจากนี้ กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองผู้สูงอายุ จากความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ระบบสวัสดิการสังคมอาจพังทลาย ผู้สูงอายุยากจนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยไม่มีแผนการที่ดีด้านสาธารณสุขรองรับ
ส่วนการขยายตัวของ กรุงเทพฯ จะมีสภาพเหมือนโดนัทที่บิดเบี้ยว โดยตรงกลางจะอัดแน่นด้วยธุรกิจ ชาวต่างชาติที่ย้ายฐานมาอยู่ในกรุงเทพฯ รายรอบด้วยที่อยู่อาศัย ซึ่งจะเบี้ยวไปทิศตะวันออก การจราจรจะติดขัดมากขึ้นมหาศาล โดยเฉพาะถนนที่เชื่อมชานเมืองกับเขตเมืองชั้นใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการสร้างรถไฟฟ้าพร้อม ๆ กันปัญหาการจราจรที่ติดขัดก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่า กรุงเทพ ฯ จะเป็นเมืองศูนย์กลางในการเชื่อมต่อเศรษฐกิจจีนและอินเดียไปสู่โลก ตั้งแต่ปี 2006-2020 การเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อปีของจีนและอินเดียจะเติบโตสูงเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ของโลก ผลักดันให้กรุงเทพ ฯ กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะได้รับทั้งประโยชน์และปัญหาจากกระแสดังกล่าว
ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า การวางรากฐานการพัฒนาของกรุงเทพฯ จำเป็นต้องใช้ “ปัญญา” คิดทั้งระบบอย่างลึกซึ้ง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งขณะนี้ตนได้มีการจัดเตรียมนโยบายการดำเนินงานกว่า 300 นโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวกรุงเทพฯ โดยมีที่มาจากการศึกษา ค้นคว้า และคิดค้น มากว่าสิบปี เพื่อรองรับปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น ความเจริญทางด้านเทคโนโลยีที่จะก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดขยะอีเลคทรอนิคล้นเมือง ดังนั้นจำเป็นต้องวางรากฐานเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยปฏิวัติระบบการจัดเก็บขยะทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะขยะพิษจากเทคโนโลยีจะต้องมีการจัดเก็บ กำหนดให้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการเก็บขยะ ทั้งขยะอีเลคทรอนิคโดยเฉพาะและขยะทั่วไปอย่างชัดเจน
อนาคตที่เมืองจะมีน้ำท่วมขังและโรคระบาด ต้องวางรากฐานเรื่องสาธารณสุข และสุขอนามัยของประชาชน โดยจะประกาศสงครามกับหนู แมลงสาบ ยุง แมลงวัน เลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมเพื่อกำจัดอย่างรวดเร็ว และจะลดการเป็นโรคภูมิแพ้ของคนโดยการกำจัดมลภาวะที่เป็นพิษ โดยการปักธงอาคารปลอดฝุ่น ใช้เตาเผาศพที่ได้มาตรฐาน สร้างพื้นที่สีเขียว ให้กรุงเทพ ฯ เป็นเมืองสวยด้วยไม้งาม
สำหรับนโยบายระยะสั้นที่จะรองรับเรื่อง การขยายเมืองแบบโดนัท แบบบิดเบี้ยว ซึ่งทำให้เกิดปัญหาจราจรที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากจะเร่งประสานให้ก่อสร้างรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเร็ว และเพิ่มเส้นทางลาดพร้าวซึ่งไม่อยู่ในแผนของรัฐบาล ก็จะมีแผนรองรับระหว่างการก่อสร้างเพื่อไม่ให้เกิดปัญหารถติด โดยมองภาพที่กว้างมากกว่าที่จะทำการตัดถนน หรือเพิ่มทางลัดการเคลื่อนย้ายทุนและคนจากต่างชาติ จะทำให้คนย้ายถิ่นฐานเข้ามาในกรุงเทพฯ มากมาย ทำให้ต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างชัดเจน เพราะความปลอดภัยเป็นปัจจัยแห่งการเลือกกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของธุรกิจ โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังเมือง 24 ชม. และศูนย์เฝ้าระวังภัยชุมชน โดยมีกล้องวงจรปิดนับหมื่นตัวติดอยู่บริเวณต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อป้องกันไม่ให้ทั้งนักท่องเที่ยวและคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับอันตรายในรูปแบบต่างๆ
อีกทั้งเพิ่มมาตรการในการดูแลความปลอดภัยของผู้หญิง และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้กับคนทุกกลุ่มเช่น ปรับปรุงทางเท้า รถสาธารณะ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เอื้อต่อผู้พิการและผู้สูงอายุ และจะต้องมีการวางรากฐานเรื่องการพัฒนาคนอย่างชัดเจน เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจในอนาคต โดยการพัฒนาโรงเรียนกทม.ให้เป็นโรงเรียนสองภาษา ทำให้เด็กไม่กลัวที่จะติดต่อกับคนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนและท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งพัฒนามหาวิทยาลัยกทม. ให้เป็นแหล่งสร้างผู้เชี่ยวชาญ ด้านกรุงเทพฯ และเมืองหลวง
อีกด้านหนึ่งคือในอนาคตจะมีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก จึงจะปรับโครงสร้างระบบสาธารณสุขให้ทั่วถึง และมีมาตรฐาน อีกทั้งส่งเสริมให้มีการดูแลผู้สูงอายุและเด็กอย่างใกล้ชิด โดยการตั้งเนอร์สเซอรี่สองวัย ในชุมชน และในสถานที่ทำงาน ซึ่งการบริหารงานทุกด้าน จะยึดหลักธรรมาภิบาล โดยจะสร้าง ดัชนีวัดความอยู่ดีมีสุข เพื่อกำกับการทำงานในทุกเรื่อง ทุกหน่วยงาน ประเมินผลงานที่การทำความดี และตั้งรางวัลเชิดชูคนทำดี เปิดให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร การประมูลโปร่งใส ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยจัดให้มีที่ปรึกษาผู้ว่าฯประจำซอย และจะ เปิดศาลาว่าการ โดยตั้งวันอย่างชัดเจนให้ประชาชนเข้าพบผู้ว่าฯ โดยไม่ต้องนัดหมาย
“ไม่ว่าใครจะเข้ามาดูแลกรุงเทพฯ ก็ตาม ปัญหาเหล่านี้จะต้องมาถึงกรุงเทพฯ อย่างแน่นอน ด้วยแรงผลักดันจากสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ผมยอมไม่ได้ที่จะเห็นปัญหาที่รู้ว่าต้องเกิดขึ้น มาสร้างปัญหาให้กับพวกเราทั้ง ๆ ที่เรารู้ล่วงหน้า ในฐานะผู้อาสาตัวมาทำงานเมือง ตั้งใจขอโอกาสจากคนกรุงเทพฯ มาร่วมวางรากฐานอนาคตกรุงเทพฯ ด้วยปัญญา เพื่ออนาคตอีก 12 ปีข้างหน้า ท่านและลูกหลานจะอยู่อย่างมีความสุข จุดมุ่งหมายปลายทาง นั่นคือ การนำพากรุงเทพฯ ไปสู่ เมืองน่าอยู่ มาตรฐานโลก ติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลกได้ในปี ค.ศ. 2020 หรือปี พ.ศ. 2563”ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ