“เรกูเลเตอร์” เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างกฎหมาย ๖ ฉบับ ในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ก่อนประกาศใช้ภายในปี ๒๕๕๑

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 30, 2008 15:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงการจัดรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “ร่างระเบียบและประกาศเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน” ณ ห้องบอลรูม บี ชั้น ๒๓ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอนด์ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ ว่า การจัดรับฟังดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างระเบียบกฎหมายที่จะออกโดย กกพ. ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๒๖ ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งให้ความสำคัญกับการเปิดเผยสาระสำคัญ และการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อนที่จะมีการประการบังคับใช้กฎหมาย
ทั้งนี้ การกำกับกิจการพลังงานตามกฎหมายนี้ได้กำหนดให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ทำหน้าที่กำกับกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติผ่านการให้ใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน ดังนั้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจึงได้ยกร่างระเบียบและประกาศเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานตามความในมาตรา ๔๗ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๔ ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๐ รวมทั้งสิ้น ๖ ฉบับ เพื่อจัดรับฟังความคิดเห็น ดังนี้
๑. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดประเภท ขนาด และลักษณะของกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... กล่าวถึงประเภท ขนาด และลักษณะของกิจการพลังงานที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตตามกฎหมายนี้
๒. ร่างประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง การกำหนดให้กิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตเป็นกิจการที่ต้องแจ้ง พ.ศ. .... กล่าวถึงประเภทกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตทุกประเภทเป็นกิจการที่ต้องแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมข้อมูลสถิติของกิจการพลังงานซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำกับกิจการพลังงานในภาพรวม
๓. ร่างประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง การกำหนดประเภทและอายุใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... กล่าวถึงการแบ่งประเภทใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน ได้แก่
๓.๑ ใบอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้า แบ่งเป็น ๕ ประเภท ดังนี้ ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า ใบอนุญาตระบบส่งไฟฟ้า ใบอนุญาตระบบจำหน่ายไฟฟ้า ใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า และใบอนุญาตควบคุมระบบไฟฟ้า
๓.๒ ใบอนุญาตการประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ แบ่งเป็น ๔ ประเภท ดังนี้ ใบอนุญาตขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อผ่านระบบส่งก๊าซธรรมชาติ ใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ใบอนุญาตค้าปลีกก๊าซธรรมชาติผ่านระบบจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ และใบอนุญาตเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ
๔. ร่างระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการขอรับใบอนุญาตและการอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาต ตลอดจนการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน
๕. ร่างประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ. .... กล่าวถึง หลักเกณฑ์การยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต และการดำเนินการต่ออายุใบอนุญาต
๖. ร่างระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการอนุญาตและการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... กล่าวถึง อัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับการออกใบอนุญาตตามประเภทของการประกอบกิจการพลังงาน และ อัตราค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการพลังงานรายปีตามประเภทของกิจการพลังงาน ตลอดจน อัตราค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมใบแทนใบอนุญาต
นายดิเรก กล่าวว่า “การจัดรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ นอกจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชนจะได้แสดงความคิดเห็นผ่านเวทีการรับฟังความคิดเห็นแล้ว กกพ. ยังจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ซึ่งสามารถแสดงความคิดเห็นผ่าน www.eppo.go.th ได้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ถึงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑ เวลา ๑๕.๐๐ น. ทั้งนี้ ความคิดเห็นทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายและประกาศดังกล่าวให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์และสามารถใช้กำกับดูแลกิจการพลังงานของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาวต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถประกาศใช้กฎหมายและระเบียบต่างๆ ได้ภายในปี ๒๕๕๑ นี้”
แถลงข่าวในนาม : คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
รายละเอียดเพิ่มเติม : โกวิท สว่างวารีสกุล
อรวรรณ ตองอ่อน
โทร. ๐ ๒๒๐๕ ๖๖๑๓, ๐ ๒๒๐๕ ๖๖๒๙
โทรสาร ๐ ๒๒๐๕ ๖๖๘๖-๗

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ