การสำรวจทั่วโลกเผยถึงปัจจัยเสี่ยงทางเทคโนโลยีอันดับต้นๆ ของธุรกิจ เกือบร้อยละ 80 ของบริษัทในเอเชียแปซิฟิกเชื่อว่าความเสี่ยงทางไอทีจะเพิ่มขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday July 8, 2008 17:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน
เอชพีประกาศผลการสำรวจความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีจำนวน 1,125 คน จาก 20 ประเทศทั่วโลก ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงทางด้านไอทีและความเกี่ยวข้องระหว่างความเสี่ยงทางไอทีกับความเสี่ยงทางธุรกิจ
การศึกษาครั้งนี้จัดทำขึ้นโดย Economist Intelligence Unit (EIU) ในนามของเอชพี และได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ที่ทำงานอยู่ในวงการไอทีในทวีปอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชียแปซิฟิก การสำรวจเปิดเผยว่าต้นเหตุที่สำคัญที่สุดของความเสี่ยงทางไอทีมาจากการเปลี่ยนแปลงที่มีจำนวนมาก ระบบที่ซับซ้อนมากขึ้น และการถูกโจมตีด้านความปลอดภัยจากแฮคเกอร์
มร. คลินท์ วิทชอลส์ บรรณาธิการอาวุโส จาก Economist Intelligence Unit กล่าวว่า “ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความสามารถในการคาดการณ์ล่วงหน้าเป็นประเด็นหนึ่งที่องค์กรทางด้านไอทีต่างๆ ให้ความสำคัญ เมื่อพิจารณาว่าไอทีและธุรกิจมีความเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก การที่ไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ทางไอทีเท่ากับการไม่สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ทางธุรกิจ ดังนั้น บริษัทที่สามารถจัดการกับประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดีจะได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างชัดเจน”
ผลการสำรวจในทวีปเอเชียแปซิฟิก
- ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลง ความซับซ้อน และการรักษาความปลอดภัยเป็น 3 สิ่งที่เพิ่มความเสี่ยงทางไอทีมากที่สุด
- ร้อยละ 39 ของผู้ที่ถูกสอบถามกล่าวว่า การจัดการความเสี่ยงระดับองค์กรธุรกิจของบริษัทของพวกเขาเป็นไปควบคู่กับการจัดการความเสี่ยงด้านไอที
- เกือบ 1 ใน 4 ของผู้ที่ถูกสอบถามในเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า พวกเขาเคยประสบกับการที่ระบบไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลง
- ร้อยละ 57 ของผู้ที่ถูกสอบถามตรวจสอบความอ่อนแอของระบบความปลอดภัยของแอพพลิเคชั่น โดยใช้คนปฏิบัติ
- เพียงร้อยละ 24 ของผู้ที่ถูกสอบถามมองว่า กระบวนการด้านความปลอดภัยของแอพพลิเคชั่นของพวกเขามีความสมบูรณ์พร้อม ด้วยการมีนโยบายอย่างชัดเจนพร้อมด้วยเครื่องมือที่พร้อมใช้งาน เพื่อจัดการกับเรื่องความปลอดภัยตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างจนถึงการตรวจสอบคุณภาพและการดำเนินงาน
- ร้อยละ 30 ของผู้ที่ถูกสอบถามในเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้ใช้กรอบการทำงานที่เป็นมาตรฐานในองค์กรของพวกเขาเลย
- IT Infrastructure Library (ITIL), Six Sigma และ ISO 20000 เป็นกรอบการทำงานที่ใช้กันมากที่สุดในการทำให้กระบวนการทำงานต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐาน
- ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่ถูกสำรวจกล่าวว่า การทำให้กระบวนการทำงานต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานทำให้สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ขององค์กรด้านไอทีได้มากขึ้น
- ร้อยละ 37 ของผู้ที่ถูกสำรวจกล่าวว่า การทำให้การจัดการความเปลี่ยนแปลงทางไอทีเป็นไปอย่างอัตโนมัติทำให้สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ได้มากขึ้น
- ร้อยละ 43 ของผู้ที่ถูกสำรวจเห็นด้วยว่า การทำให้การทำงานของระบบไอทีเป็นไปอย่างอัตโนมัติช่วยลดระยะเวลาและงบประมาณในการสร้างนวัตกรรมใหม่
มร. แดร์ริล ดิกเคนส์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด เอชพีซอฟต์แวร์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น กล่าวว่า “เอชพีซอฟต์แวร์ช่วยให้ลูกค้าลดความเสี่ยงจากดาวน์ไทม์ของบริการทางธุรกิจ โดยการมอบโซลูชั่นที่สามารถช่วยลูกค้าจัดการและทำให้การดำเนินงานด้านไอทีเป็นไปอย่างอัตโนมัติ ข้อมูลสำคัญๆ ที่ได้จากการศึกษาของ Economist Intelligence Unit ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าความขัดข้องของบริการทางธุรกิจส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางไอที การทำให้กระบวนการต่างๆ ทางไอทีทำงานได้อย่างอัตโนมัติจึงทำให้เรามั่นใจได้ว่าจะสามารถคาดการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านั้นได้มากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ”
ข้อมูลเกี่ยวกับเอชพี
เอชพีมุ่งมั่นสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ใช้งานง่าย สำหรับลูกค้าในทุกระดับ นับตั้งแต่ผู้บริโภคระดับคอนซูเมอร์ไปจนถึงองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ด้วยสายผลิตภัณฑ์ซึ่งครอบคลุมถึงด้านโซลูชั่นภาพและการพิมพ์ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซอฟต์แวร์ บริการ และโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ทำให้เอชพีเป็นหนึ่งในบริษัทด้านไอทีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ณ วันที่ 30 เมษายน 2551 เอชพีมีรายได้รวมนับจาก 4 ไตรมาสทั้งสิ้น 110.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอชพี (NYSE, Nasdaq: HPQ) สามารถเข้าชมได้ที่ http://www.hp.com
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย
เพ็ญศรี เอี่ยมคล้าย และ
วีรนุช พุทธชาติเสวี
โทรศัพท์ 02-627-3501 ต่อ 105 และ 101 แฟกซ์ 02-627-3510
อีเมล์ : piem-klai@th.hilland knowlton.com, wputtachartsaewee@th.hillandknowlton.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ