iTAP เพิ่มทางรอด SMEs อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้

ข่าวทั่วไป Wednesday July 9, 2008 14:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--สวทช.
จากสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะสถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยที่มีการแข็งตัวขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งพึ่งพาอัตราแลกเปลี่ยนมากเกินไป กอปรกับพื้นฐานโครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่แข็งแรง ทำให้ไม่สามารถปรับตัวตามภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ อาทิ วัตถุดิบไม้ยางพารา ค่าจ้างแรงงาน ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ได้รับผลกระทบจากประเทศคู่แข่งที่สำคัญ ทั้งจีน เวียดนาม และมาเลเซีย เนื่องจากผู้ประกอบการของไทยยังคงมุ่งเน้นการผลิตสินค้าราคาถูก ด้วยการใช้แรงงานราคาถูก ผลที่ออกมาคือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ ก็ต้องปิดกิจการไปอย่างน่าเสียดาย
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนแนวคิดการผลิตจากการทำธุรกิจแบบรับจ้างผลิตสู่การผลิตภายใต้รูปแบบของตนเอง และต่อยอดจนสามารถผลิตภายใต้แบรนด์สินค้าของตนเองได้ ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ 3 ด้านคือ ด้านการผลิต การออกแบบ และการตลาด
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สวทช. จึงได้ร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จัดโครงการ “จากแนวคิด..สู่แนวค้า : เพื่อพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย” Module 2 : การเพิ่มผลผลิตและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในเรื่องมุมมองของเทคนิคการผลิต แนวทางการเพิ่มผลผลิตและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคลัสเตอร์ รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้มีศักยภาพในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
นายนพดล ห้อธิวงศ์ หัวหน้างานฝ่ายปฏิบัติการ โครงการ iTAP สวทช. กล่าวถึงการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า จากสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอยู่กันได้ยาก บางรายก็ถอดใจไปแล้ว ซึ่งแท้ที่จริงนั้นท่ามกลางวิกฤติก็มักมีโอกาสเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถฝ่าฟันวิกฤติตรงนั้นแล้วพลิกให้เป็นโอกาสหรือไม่
“วิกฤติกับโอกาสเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นสลับกันได้ตลอดเวลา อาจเกิดโอกาสใหม่ๆ ท่ามกลางสภาวะวิกฤติ ฉะนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถทำได้ดีที่สุดคือการเสริมความเข้มแข็ง สร้างความแข็งแรง เพิ่มศักยภาพทุกด้านทั้งความสามารถในการผลิต ความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีทันสมัย สิ่งเหล่านี้เท่านั้นที่จะช่วยให้อยู่รอดได้”
โครงการ iTAP สวทช. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเกิดความเข้มแข็งและแข็งแรง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวที่จัดขึ้นนี้นับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี มีผู้ประกอบให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการแล้วหลายร้อยบริษัท ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้เน้นในเรื่องของการเพิ่มผลผลิต และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เข้มแข็ง ให้สามารถฝ่าฟันวิกฤติเศรษฐกิจไปได้ด้วยดี
ด้านนายวุฒิพงศ์ บุญนายวา ผู้จัดการส่วนบริหารการผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการเพิ่มผลผลิตและการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเราถูกบีบบังคับด้วยสภาพแวดล้อมทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักอย่างหนึ่งของประเทศ
“เมื่อสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง หรือค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัว ประกอบกับมีการแข่งขันอย่างรุนแรงจากคู่แข่งทางการค้าทั้งประเทศจีน และเวียดนาม ซึ่งถ้าผู้ประกอบการรายใดนิ่งเฉยไม่มีการปรับตัวคงต้องปิดกิจการไปในที่สุด เห็นได้จากที่ผ่านมาบริษัทอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้เป็นอันดับหนึ่งที่ต้องปิดกิจการลงและยังคงทยอยปิดอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ทางเดียวคือการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน โดยตรวจสอบว่ามีจุดอ่อนอย่างไรบ้าง ความสูญเสียอยู่ตรงไหน จัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง และรีบแก้ไข เปลี่ยนมาเป็นรายได้หรือต้นทุนที่ลดได้โดยไม่ต้องเพิ่มยอดขาย ไม่เพิ่มราคาขาย”
ซึ่งการอบรมสัมมนาแบบมีวัตถุประสงค์ชัดเจนที่ทางโครงการ iTAP สวทช. และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ร่วมมือกันจัดขึ้นนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถอยู่รอดได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะผู้บริหารที่จะนำแนวความคิดนี้กลับไปถ่ายทอดให้กับพนักงานเพื่อนำไปสู่การแก้ไขอย่างจริงจัง นอกจากนี้การเลือกเครื่องมือในการเพิ่มผลผลิตก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งแต่ละองค์กรจำเป็นที่จะต้องเลือกให้เหมาะสมกับองค์กรของตนเอง มิใช่เลือกตามแฟชั่น
ส่วน นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย และนายกสมาคมพ่อค้าไม้ กล่าวเสริมว่า ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ผู้ประกอบการไม่ควรนั่งรอให้รัฐเข้ามาช่วยเหลืออย่างเดียวเพราะเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน แต่ควรยอมรับตามสภาพที่เป็นจริงพร้อมกับหาทางพัฒนาด้านอื่นๆ หากทำได้ก็จะอยู่รอดได้เช่นกัน
“การจัดกิจกรรมครั้งนี้เน้นการสร้างคลัสเตอร์ด้านการผลิต ซึ่งได้ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญในการแสวงหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม เป็นแนวคิดที่ทำได้ไม่ยาก ผสมผสานระหว่างการเข้าอบรมสัมมนา การศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาเชิงลึก ทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านการตลาด และด้านการออกแบบ ซึ่งถ้าลงมือทำตั้งแต่วันนี้ ไม่ปล่อยให้โอกาสดีๆ หลุดลอยไป ในอนาคตก็มั่นใจได้ว่าจะที่พื้นที่ยืนหยัดในอุตสาหกรรมได้แน่นอน”
ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้นอกจากการอบรมสัมมนาสลับกับการศึกษาดูงานตามโรงงานต่างๆ แล้ว ผู้ประกอบการยังจะได้เดินทางไปดูงานด้านงานไม้โดยเฉพาะที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อศึกษาทั้งด้านเทคโนโลยีและสายการผลิตซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งที่จะนำกลับมาพัฒนาแก้ไขจุดบกพร่องของตนเอง
ขณะที่ นายธัญญ์ นิพัทธโกศลสุข ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เฟอร์นิรอยส์ จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบที่เข้าร่วมกิจกรรม ให้ทรรศนะว่า เหตุที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้เพราะเห็นด้วยว่าการเพิ่มผลผลิตและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเป็นหนทางที่จะช่วยให้เราอยู่รอดได้จริง
บริษัท เฟอร์นิรอยส์ ทำธุรกิจเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด เป็นบริษัทขนาดกลาง มีพนักงานปฏิบัติการในฝ่ายการผลิตประมาณ 700 คน ดังนั้นการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะการลดต้นทุน และลดของเสียให้มีน้อยที่สุด 2-3 ปีที่ผ่านมานี้เศรษฐกิจทรุดตัวส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ มากโดยเฉพาะปัญหาเรื่องอัตราการแลกเปลี่ยน เนื่องจากเป็นบริษัทฯ ที่ส่งออก 100% ความย่ำแย่นี้ทำให้เราต้องเร่งปรับตัวทั้งการลดต้นทุน การเพิ่มกำลังการผลิต ฯลฯ ในปีที่ผ่านมาเราได้รับผลกระทบมากขึ้นเพราะค่าเงินบาทลดลงอย่างมหาศาลจนปรับตัวไม่ทัน ต้องเร่งหาวิถีทางที่จะอยู่รอดต่อไปให้ได้ กระทั่งปีนี้เราต้องเผชิญมรสุมใหญ่ในเรื่องของราคาน้ำมัน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าจ้างแรงงาน ขณะที่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์กลายเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นลดน้อยลง ผู้บริโภคซื้อน้อยลง เราจึงยิ่งต้องดิ้นรนมากกว่าเดิม และสิ่งที่จะช่วยเราได้คือการเพิ่มผลผลิตและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตนั่นเอง
“การเข้าร่วมกิจกรรมนี้นอกจากจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยชี้แนะให้คำปรึกษาแล้ว ยังได้รับโอกาสดีที่จะเดินทางไปศึกษาดูงานยังต่างประเทศ ไปดูงานในโรงงานที่มีชื่อเสียง มีประสิทธิภาพสูงในสายการผลิต มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่สำคัญคือได้พันธมิตรเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่หามิได้ง่ายๆ ฉะนั้นผู้ที่มีโอกาสเข้าร่วมจึงไม่ควรพลาดโอกาสทองนี้” นายธัญญ์กล่าวในที่สุด.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ