ฟิทช์ ประกาศอันดับเครดิตภายในประเทศที่ ‘AA+(tha)’แก่พันธบัตรของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday October 5, 2005 19:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว ที่ ‘AA+(tha)’ แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน มูลค่าไม่เกิน 7 พันล้านบาท ซึ่งจะออกจำหน่ายในเดือนนี้ โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (“EXIM”) หุ้นกู้ดังกล่าวมีอายุไม่เกิน 5 ปี ในขณะเดียวกัน บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ EXIM ที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ อันดับเครดิตสากลของ EXIM ยังได้รับการคงอันดับเครดิต โดยอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’
อันดับเครดิตสกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาวของ EXIM จะเปลี่ยนแปลงไปตามอันดับเครดิตของประเทศ โดยฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หากมีความจำเป็น เนื่องมาจากการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมดและมีอำนาจควบคุมการบริหารงานในธนาคาร รวมถึงบทบาทของ EXIM ในการสนับสนุนนโยบายในด้านการพัฒนาประเทศ ภายใต้พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ในกรณีที่ธนาคารมีผลการดำเนินงานขาดทุนเนื่องมาจากการดำเนินธุรกิจเพื่อสนองนโยบายต่างๆของรัฐบาลหรือมติต่างๆของคณะรัฐมนตรี กระทรวงการคลังจะต้องจัดสรรเงินจากรายได้รวมเพื่อชดเชยผลขาดทุนดังกล่าวของ EXIM ในทำนองเดียวกัน ผลขาดทุนจากการให้บริการการประกันการส่งออกและการลงทุนก็ได้รับความคุ้มครองด้วย แต่ในส่วนของการค้ำประกัน แม้ว่าจะไม่มีการค้ำประกันโดยทั่วไปแก่เจ้าหนี้ EXIM ก็ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลและเป็นกลไกที่สำคัญของภาครัฐ
EXIM มีบทบาทหลักในการให้บริการการประกันการส่งออกและการจัดหาเงินทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาวแก่ผู้ส่งออกไทย EXIM ให้บริการสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อเตรียมการส่งออก ซึ่งสินเชื่อดังกล่าวมีสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับยอดสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร EXIM ได้มุ่งเน้นที่จะรักษาระดับการเติบโตโดยขยายการปล่อยสินเชื่อระยะยาวสำหรับธุรกิจพาณิชย์นาวี การขยายแหล่งการผลิตของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่โครงการลงทุนต่างๆในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ มากขึ้น
EXIM รายงานผลกำไรสุทธิที่ 477.2 ล้านบาท ในปี 2547 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 717.4 ล้านบาท ในปีก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่แล้ว สืบเนื่องมาจากกำไรจากหนี้สูญได้รับคืนที่ลดลงและผลขาดทุนจากการขายทรัพย์สินรอการขายที่เพิ่มขึ้น สินเชื่อเพื่อเตรียมการส่งออกซึ่งเป็นสินเชื่อหลักได้เพิ่มขึ้น 16.9% ในปี 2547 ในขณะที่สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 14.7% อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิได้ลดลงไปอยู่ที่ระดับ 2.5% ในปี 2547 จาก 3% ในปี 2546 โดยมีสาเหตุหลักจากการแข่งขันในตลาดภายในประเทศที่รุนแรงขึ้น ในครึ่งปีแรกของปี 2548 EXIM รายงานผลกำไรสุทธิที่ 203.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 202.4 ล้านบาท ผลกำไรก่อนหักสำรองเพิ่มขึ้นมากถึง 24.1% โดยอยู่ที่ 725.8 ล้านบาท ในครึ่งปีแรกของปี 2548 จาก 584.9 ล้านบาทในครึ่งปีแรกของปี 2547
หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ EXIM เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 5.2 พันล้านบาท หรือ 10.2% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2548 จาก 4.9 พันล้านบาท หรือ 10.1% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2547 ระดับสำรองหนี้สูญของ EXIM อยู่ที่ 4.9 พันล้านบาท เทียบเท่ากับ 94.1% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งจัดได้ว่าอยู่ในระดับที่สูง แต่อัตราดังกล่าวจะลดลงเป็น 55.7% หากนับรวมหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างเข้าไปด้วย ถึงแม้ว่าระดับการกันสำรองของ EXIM จะดูแข็งแกร่ง แต่เมื่อพิจารณาถึงบทบาทการปล่อยสินเชื่อที่ต้องสนองนโยบายของรัฐบาลของธนาคาร ทำให้ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงการที่ธนาคารกำลังขยายการปล่อยสินเชื่อให้แก่โครงการลงทุนในต่างประเทศหลายโครงการ
EXIM มีสถานะของเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยอัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารอยู่ที่ 17.7% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2548 สะท้อนถึงการสนับสนุนจากรัฐบาลที่แข็งแกร่ง ถึงแม้ว่าการเติบโตของสินทรัพย์อาจส่งผลให้อัตราส่วนดังกล่าวลดลงในอีก 2 ปีข้างหน้า
EXIM ได้เริ่มดำเนินการในปี 2537 ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยได้ให้อำนาจกระทรวงการคลังในการแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการ รวมทั้งกำกับดูแลการบริหารงานโดยทั่วไป จุดมุ่งหมายหลักของ EXIM คือการสนับสนุนธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกและการลงทุนของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ และขอบเขตการดำเนินงานต่างๆของ EXIM ได้ถูกจำกัดเพียงแค่กิจกรรมต่างๆซึ่งได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัติเท่านั้น โดยทั่วไปแล้ว ธนาคารสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเงินใดๆก็ตามซึ่งธนาคารพาณิชย์สามารถดำเนินการได้ ยกเว้นการรับเงินฝากจากประชาชนทั่วไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ