เด็กก็เครียดเป็น จิตแพทย์แนะ4วิธีป้องกัน

ข่าวทั่วไป Monday July 14, 2008 14:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--โรงพยาบาลมนารมย์
จิตแพทย์เผยสถิติเด็กเครียดในปัจจุบันมีมากถึง 30 % แจง 10% อยู่ในระดับที่รุนแรง ชี้เหตุเด็กเครียดเนื่องจากถูกดุด่า ตำหนิ เห็นพ่อแม่เครียดเลยซึมซับ ระบุด้านครูสั่งการบ้านเยอะและยาก มีส่วนทำให้เด็กเสี่ยงเป็นโรคเครียด แนะ4วิธีป้องกัน หมั่นสังเกตอาการ ไม่กดดัน ดุด่าหรือตำหนิ และควรเข้าใจมีเวลาอยู่กับลูกทุกวัน น.พ.จอม ชุมช่วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
โรงพยาบาลมนารมย์ เปิดเผยว่า สถิติความเครียดของเด็กในปัจจุบันนั้นพบว่าเด็กชายจะมีอัตราความเครียดที่เกิดจากความวิตกกังวลมากกว่าหญิงในกรณีที่เป็นเด็กเล็กๆ ก่อนวัยรุ่น แต่ถ้าหากเป็นเด็กที่เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นจะพบว่าเด็กหญิงจะเกิดความเครียดซึ่งมาจากโรคซึมเศร้าได้มากกว่า เพราะเป็นเรื่องของฮอร์โมนทางเพศ ยิ่งช่วงที่มีประจำเดือน ผู้หญิงก็มักจะอารมณ์หงุดหงิด เครียดง่ายกว่าผู้ชาย หรืออาจจะคิดวิตกเกี่ยวกับเรื่องของสรีระกลัวว่าจะไม่สูง ไม่สวย อ้วน มีสิวเป็นต้น และจากการวิจัยพบว่าร้อยละ 5-10 ของกลุ่มโรควิตกกังวล และซึมเศร้าที่เกิดจากความเครียด ที่พบในเด็ก ส่วนมากจะพบว่าเป็นความเครียดที่เข้าสู่ระดับกลางถึงรุนแรง แต่ถ้าเป็นความเครียดธรรมดาทั่วๆไปนั้นมีมากถึงร้อยละ 20-30 เลยทีเดียว จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า ความเครียดของเด็กสามารถแบ่งออกเป็นได้ 3 ระดับอาการ ซึ่งระดับแรกเด็กอาจจะเครียด วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ แต่ไม่กระทบกับผลการเรียน และไม่กระทบกับความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง อาจจะเป็นเพียงแค่ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น ส่วนระดับที่สองก็จะเริ่มรุนแรงขึ้นมาอีก โดยส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์ของคนรอบข้างแล้ว และระดับที่สามถือว่าเป็นระดับที่รุนแรงและมีผลกระทบอย่างมาก ทำให้เด็กไม่มีสมาธิ ผลการเรียนตก ซึมเศร้า เหม่อลอย อยากตาย ร่างกายไม่มีพละกำลัง เนื่องจากทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ ฟังก์ชั่นของเด็กผิดปกติไปด้วย เช่นสมองไม่มีความสมดุล เมื่อเจอความเครียดระบบสมองก็จะลดน้อยถอยลงไป การทำงานของเซลล์ติดขัด ทำให้การทำงานของสมองเปลี่ยนแปลงไป น.พ.จอม กล่าวว่า สาเหตุหลักที่เด็กเครียดนั้นส่วนใหญ่เกิดมาจากปัญหาครอบครัว เพราะบางทีเด็กเห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน หรือถูกแม่ดุด่า ตำหนิบ่อยๆ ทำให้เด็กเข้าใจว่าพ่อแม่ไม่รัก ไม่ให้ความสำคัญ เมื่อนานๆ ไปเด็กก็เกิดความวิตกกังวล และซึมซับไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถขจัดออกไปจากความคิดได้ หรือไม่ก็เกิดจากการที่เด็กกดดันตัวเอง เห็นเพื่อนเก่ง เลยคิดว่าตัวเองไม่เก่งไม่มีความสามารถเลยเครียดได้ ส่วนปัจจัยที่โรงเรียนก็มีส่วนทำให้เด็กเครียดได้ เช่น ครูอาจจะดุ เข้มงวดเกินไป และสั่งการบ้านเยอะหลายๆวิชา และมีความยาก เด็กเลยเครียด หรือบางทีเด็กถูกเพื่อนแกล้ง ล้อเลียน ไม่คบด้วย ก็เลยเกิดความวิตกกังวลว่าเพื่อนไม่รักจนเครียดในที่สุด ซึ่งผลกระทบที่ตามมาก็คือเด็กมีปัญหาเรื่องการเรียน ไม่มีสมาธิ ทำให้ผลการเรียนตก หรือเกิดปัญหาในเรื่องของความสัมพันธ์กับเพื่อนในห้องเรียนได้ ซึ่งเด็กไม่อาจหาทางออกได้ ซ้ำร้ายบางรายอาจจะมีอาการทางกายร่วมด้วย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานๆ ควรจะพาเด็กมาพบจิตแพทย์โดยด่วน น.พ.จอม แนะนำวิธีการป้องกันและแก้ไขเพื่อไม่ให้เด็กเครียดหลักๆ ว่า 1. พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของลูกอยู่เสมอ เพราะเบื้องต้นแล้วพ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้ โดยการเข้าไปพูดคุย รับฟังความคิดเห็นจากลูก เช่นเห็นลูกเงียบๆ ก็ควรจะถามว่า เห็นลูกเหนื่อยๆ มีอะไรหรือเปล่า พยายามแสดงความเป็นห่วงและเข้าใจลูก แล้วพวกเขาก็จะรับรู้ว่าพ่อแม่เข้าใจเขามากขึ้น 2. ไม่ควรกดดันลูกในเรื่องของการเรียน อย่าคาดหวังมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เด็กเครียดได้ สมมติว่าเด็กบางคนเรียนไม่ค่อยเก่ง แล้วพ่อแม่คาดหวังสูง ก็อาจจะทำให้เด็กเกิดความกดดันและเครียดได้ แต่ถ้าหากว่าเด็กเป็นคนที่อ่อนไหวต่อความรู้สึก ถึงแม้พ่อแม่ไม่ได้กดดัน หรือคาดหวังอะไร แต่เด็กก็อาจจะเครียดเอง เพราะสร้างความกดดันให้กับตัวเอง โดยที่ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะต้องทำให้ได้ หรือไม่ก็เกิดการเปรียบเทียบและแข่งขันกับเพื่อน เพราะฉะนั้นในสถานการณ์เดียวกัย เด็กบางคนอาจจะเครียด และไม่เครียดก็ได้ ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยของเด็กเอง 3. ไม่ควรดุ ตำหนิ หรือใช้วิธีการตีกับเด็ก เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง และอาจจะเข้าใจได้ว่าพ่อแม่ไม่รัก อีกทั้งยังทำให้เด็กเกิดการต่อต้าน จนบางครั้งเกิดการเลียนแบบนำเอาวิธีที่พ่อแม่ปฏิบัติต่อตนเองนั้นไปใช้กับเพื่อนที่โรงเรียน ทางที่ดีพ่อแม่ควรมีสติ และเหตุผลให้มากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนั้นควรเลือกที่จะเพิกเฉยต่อเด็กอย่างสมเหตุสมผล เพราะบางอย่างเด็กอาจจะต้องการให้พ่อแม่สนใจและเข้าใจเขา 4. ควรเข้าใจลูกให้มาก ควรมีเวลาอยู่กับลูกบ่อยๆ เช่นทำกิจกรรม เล่นกับลูก ทำให้ความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายแนบแน่น ถ้าหากลูกอยู่ในวัยประถมศึกษาก็อาจจะเล่นสนุกกับลูก ชมเชย และมีเวลาให้ลูกสม่ำเสมอ ส่วนลูกโตเป็นวัยรุ่นก็อาจจะเป็นเพื่อนคุยที่ปรึกษา ก็จะทำให้ลูกเล่าหรือระบายความในใจออกมาได้ เด็กก็จะไม่เครียด สำหรับผู้ที่สนใจอยากทราบเกี่ยวกับภาวะความเครียดของเด็ก รวมถึงวิธีการสังเกตอาการ และวิธีปฏิบัติสำหรับเด็กเครียด สามารถเข้าฟังบรรยายพิเศษจากโรงพยาบาลมนารมย์ได้ฟรี ในหัวข้อ “เด็กก็เครียดเป็น”....จะทำอย่างไรเมื่อลูกเครียด? โดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กและวัยรุ่นอย่าง น.พ.จอม ชุมช่วย พ.ญ.เพียงทิพย์ พรหมพันธุ์ และ พ.ญ.พัชรี พรรณพานิช มาร่วมกันให้ความรู้และแนะทางออกเกี่ยวกับเรื่องเด็กเครียดในวันเสาร์ที่ 26 กรกฏาคม เวลา 8.30 — 12.00 น. ณ ห้องประชุมโรงพยาบาลมนารมย์
สอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-725-9595, 02-399-2822

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ