คต. เตือนผู้ส่งออก บริษัทเซอร์เวย์และเซอร์เวย์เยอร์

ข่าวทั่วไป Monday July 14, 2008 16:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ในการส่งออกสินค้ามาตรฐานตาม พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 ซึ่งปัจจุบันมี 10 ชนิด โดยสินค้ามาตรฐานที่มีการส่งออกที่สำคัญ คือ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวหอมมะลิไทย ฯลฯ ทั้งนี้ ในการส่งออกสินค้ามาตรฐานดังกล่าว มีผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่ายใหญ่ ๆ คือ ผู้ส่งออก ผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า หรือบริษัทเซอร์เวย์ และผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าหรือเซอร์เวย์เยอร์ โดยการส่งออกสินค้ามาตรฐาน ผู้ส่งออกจะต้องเตรียมสินค้ามีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และจ้าง/แจ้งให้บริษัทเซอร์เวย์เพื่อจัดเซอร์เวย์เยอร์ไปทำการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด เมื่อทราบผลการตรวจสอบทางกายภาพและผลวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ (Lab) แล้ว ก็จะแจ้งผลให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยออกใบรับรองมาตรฐานสินค้า เพื่อผู้ส่งออกจะได้นำไปแสดงต่อพนักงานศุลกากรเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรขาออกตามด่านที่กำหนดต่อไป
ปัจจุบันมีผู้ส่งออกที่จดทะเบียนเป็นผู้ทำการค้าขาออกซึ่งสินค้ามาตรฐานกับสำนักงานมาตรฐานสินค้า กรมการค้าต่างประเทศ 440 บริษัท มีบริษัทเซอร์เวย์และเซอร์เวย์เยอร์ที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานสินค้า รวม 30 บริษัท และ 838 คน โดยสินค้ามาตรฐานที่ส่งออกที่สำคัญ ๆ 3 ชนิด เช่น ข้าวหอมมะลิไทย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและแป้งมันสำปะหลัง ในปี 2550 มีมูลค่ารวมเท่ากับ 87,588.91 ล้านบาท สูงกว่าปี 2549 ซึ่งมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 75,856.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกัน คิดเป็นร้อยละ 15.47 สำหรับในช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค. — มี.ค.) ของปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกเท่ากับรวม 28,867.23 ล้านบาท
ผู้ส่งออก บริษัทเซอร์เวย์และเซอร์เวย์เยอร์ จึงเป็นกลไกในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่มีบทบาทสำคัญมากต่อคุณภาพมาตรฐานสินค้าที่ส่งออก ซึ่งหากทุกฝ่ายยึดมั่นในเรื่องกฎระเบียบ คุณธรรม และมีสำนึกที่ดีต่อประเทศชาติ ก็จะช่วยสามารถรักษาตลาดสินค้ามาตรฐานสำคัญข้างต้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไทยและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังให้มีราคาดีอย่างยั่งยืนต่อไป ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานให้คุ้มกับราคาในระยะที่ผ่านมา
แม้ว่า สำนักงานมาตรฐานสินค้า กรมการค้าต่างประเทศ จะได้เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานสินค้าแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีการละเลย หลีกเลี่ยงในการปฏิบัติตามระเบียบ ซึ่งสำนักงานมาตรฐานสินค้าได้มีมาตรการลงโทษผู้ฝ่าฝืนตามระดับความผิดหนักเบา เริ่มตั้งแต่การตักเตือน ภาคฑัณฑ์ พักใช้ใบทะเบียน/ใบอนุญาต เพิกถอนใบทะเบียน/ใบอนุญาต ระงับการส่งออก โดยในปี 2550 ที่ผ่านมา สำนักงานฯ ได้ใช้มาตรการลงโทษผู้ฝ่าฝืนไปแล้ว รวม 31 ราย และใน 3 เดือนแรกของปี 2551 (ม.ค. — มิ.ย.) ลงโทษไปแล้ว 42 ราย ข้อบกพร่องต่าง ๆ หรือการละเลยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด เช่น
1. เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่แตกต่างไปจากที่ได้จดทะเบียนหรือได้รับอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าไปแล้ว ผู้ส่งออก บริษัทเซอร์เวย์และเซอร์เวย์เยอร์บางรายก็มักจะละเลยไม่ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ต่างไปจากเดิมดังกล่าวให้สำนักงานฯ ทราบภายใน 30 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด
2. ผู้ส่งออกบางรายนำสินค้าเข้าตู้ฯ ก่อนเวลานัดหมายเริ่มการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า
3. ผู้ส่งออกจัดเตรียมสินค้าเพื่อการตรวจสอบและแสดงเครื่องหมายไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในแบบคำร้องขอให้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้า (มส. 13)
4. ผู้ส่งออกบางรายแสดงข้อความบนบรรจุภัณฑ์ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เช่น ส่งออกข้าวหอมมะลิไทยชนิดข้าวขาวหัก ก็ไม่ได้แสดงข้อความว่า Broken Rice
5. ผู้ส่งออกบางรายจงใจปลอมปน เช่น มีการผสมปนข้าวนุ่มพันธุ์ต่าง ๆ เข้าไปในข้าวหอมมะลิไทย การฉีดกลิ่นหอมลงในสินค้าข้าวหอมมะลิไทย การผสม/ปนดินทรายและกากมันเข้าไปในผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
6. ผู้ส่งออกและเซอร์เวย์เยอร์บางรายจัดทำตัวอย่างสินค้าก่อนที่การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าจะแล้วเสร็จ หรือทั้ง ๆ ที่การตรวจสอบยังไม่แล้วเสร็จ
7. ผู้ส่งออกและเซอร์เวย์เยอร์บางรายจงใจจัดทำตัวอย่างสินค้าที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด
8. ผู้ส่งออกบางรายส่งแบบรายงานการส่งออกสินค้ามาตรฐาน (มส. 25) ล่าช้าเกินกำหนด ในขณะที่บางรายละเลยไม่ได้ส่งรายงานฯ
9. บริษัทเซอร์เวย์ดำเนินการตรวจสอบเสร็จสิ้นไปก่อนกำหนดเวลานัดหมายเริ่มการตรวจสอบที่ได้แจ้งไว้กับสำนักงานมาตรฐานสินค้า
10. บริษัทเซอร์เวย์บางรายจัดอัตรากำลังหรือจำนวนเซอร์เวย์เยอร์ออกไปตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ณ โกดังต่าง ๆ ที่ได้รับแจ้งน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ไม่เหมาะสมหรือไม่สมดุลกับปริมาณงานและลักษณะการปฏิบัติการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า
11. เซอร์เวย์เยอร์บางรายไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดให้มีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าชนิดนั้น ๆ ในขณะที่บางรายปฏิบัติหน้าที่ประมาท ไม่สนใจ/ไม่ใส่ใจ/ไม่มีความตั้งใจ เลินเล่อ ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบขณะลำเลียงสินค้าเข้าตู้ ฯลฯ
12. เซอร์เวย์เยอร์บางรายทำการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ในชนิดสินค้ามาตรฐานที่ตนไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานสินค้า
จากที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อเป็นการรักษาชื่อเสียงและความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานสินค้าส่งออกของไทย กรมการค้าต่างประเทศ จึงขอเตือนผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ส่งออก บริษัทเซอร์เวย์และ เซอร์เวย์เยอร์ ปฏิบัติตามระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติ อันเป็นที่รักยิ่งของเราตลอดไป นอกจากนี้ถ้าท่านพบพฤติกรรมที่ น่าสงสัย โปรดแจ้ง HOT LINE : 1385 หรือต้องการรายละเอียด/ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้ามาตรฐาน สามารถเข้าไปดูใน Website ได้ที่ www.dft.go.th (หัวข้อ : สินค้ามาตรฐานและมาตรฐานสินค้า) หรือที่โทรศัพท์ 02-547-4749, 0-2547-5149

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ