สองสถาบันการศึกษาจับมือกับภาคเอกชน ยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นเครื่องหนังและรองเท้า ภายใต้โครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday November 22, 2005 16:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--ไมนด์ ทัช
...เชิญชวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าร่วมพัฒนาศักยภาพการแข่งขันสู่สากล...
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง รองเท้า และวัตถุดิบสนับสนุน ภายใต้การส่งเสริมของโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น เดินหน้าเปิดตัวโครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจแฟชั่นสาขาอุตสาหกรรมเครื่องหนัง รองเท้า และวัตถุดิบของอุตสาหกรรมต้นน้ำ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และยกระดับอุตสาหกรรมสู่สากล
นายปราโมทย์ วิทยาสุข อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะผู้อำนวยการโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น เปิดเผยว่าโครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจแฟชั่น สาขาอุตสาหกรรมเครื่องหนัง รองเท้า และวัตถุดิบสนับสนุน เป็นโครงการย่อยที่ 4 จากทั้งหมด 11 โครงการ ภายใต้โครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น โดยรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าว่าเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมแฟชั่นนอกเหนือจากเสื้อผ้า สิ่งทอ และอัญมณี ดังนั้นการจะสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแฟชั่นของโลก จำต้องพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าด้วย
นายปราโมทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้ายังมีความต้องการด้านการฝึกอบรมเพื่อยกระดับการพัฒนาฝีมือทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก ครอบคลุมทั้งด้านการจัดการเทคโนโลยีในการผลิตออกแบบ และการสร้างตราสินค้าเพื่อการแข่งขัน
“ผมเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะได้รับความสนใจจากภาคการผลิตอย่างมากเพราะนอกจากจะให้ความรู้และเทคนิคต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการผลิตและออกแบบแล้ว ยังได้ขยายไปสู่การพัฒนาด้านการตลาดโดยเฉพาะการเปลี่ยนจากการรับจ้างผลิตมาเป็นการทำสินค้าแบรนด์ของตนเองเพื่อแข่งขันในตลาดส่งออก สำหรับผู้ประกอบการที่ทำตลาดตราสินค้าของตนเองอยู่แล้วก็จะสามารถพัฒนาศักยภาพให้เข้มแข็งขึ้นในระยะยาว” นายปราโมทย์กล่าว
ทางด้าน รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการหลักสูตรการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะผู้บริหารโครงการฯเปิดเผยว่า “ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีการผลิตและจำหน่ายสินค้าแฟชั่นในกลุ่มของรองเท้าและเครื่องหนังไปยังตลาดโลกเป็นจำนวนมาก หากแต่การยอมรับในระดับสากลยังจำกัดอยู่ในหมู่ผู้ว่าจ้างผลิต จึงทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียโอกาสในด้านการสร้างภาพลักษณ์ การยกระดับราคาและมูลค่าในตัวสินค้า โครงการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันในครั้งนี้จึงถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการยกระดับและสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ตราสินค้าของตนเอง ดังนั้นผมจึงอยากจะเชิญชวน
ผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า ให้เข้าร่วมโครงการนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่การพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบและอุปกรณ์ตกแต่งให้สอดคล้องกับแนวโน้มแฟชั่น เพื่อลดหรือทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบ รวมถึงการเชื่อมโยงกับผู้ซื้อปลายทางเพื่อพัฒนาช่องทางการตลาดด้วย”
รศ.ดร.ชิต กล่าวว่าในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ จะมีการเปิดตัวโครงการดังกล่าวขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งได้เชิญภาคเอกชนเข้าร่วมฟังรายละเอียดของโครงการกว่า 600 คน โครงการนี้สามารถรับผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการได้เพียง 240 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ประกอบการรองเท้า และเครื่องหนังอย่างละ 100 ราย และผู้ประกอบการวัตถุดิบสนับสนุน 40 ราย ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้าร่วมรับฟังสัมมนาเกี่ยวกับปัจจัยที่สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน พูดคุยในรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการ และขั้นตอนการดำเนินโครงการกับผู้บริหารโครงการ ของทั้งอุตสาหกรรมเครื่องหนัง และอุตสาหกรรมรองเท้า รวมทั้งชมพิธีเปิดตัวโครงการซึ่งจะมีแฟชั่นโชว์จากนางแบบชั้นนำโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
“ภายใต้โครงการนี้ จะเป็นการให้ความรู้ทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างในรูปแบบของวิจัยและอบรมความรู้พื้นฐานและเชิงลึก เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเชื่อมโยงตัวเองเข้าไปถึงแหล่งตลาดส่งออก รวมไปถึงการพัฒนาแบรนด์ของตัวเองเพื่อป้อนให้กับตลาดส่งออก ดังนั้นจะต้องมีการพัฒนาทั้งรูปแบบการผลิตและการตลาดควบคู่กันไปด้วย” รศ.ดร.ชิต กล่าว
ทางด้านนายธวัฒน์ จิว นายกสมาคมเครื่องหนังไทย ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการภาคเอกชน กล่าวเพิ่มเติมว่าตนมีความยินดีอย่างมากที่รัฐบาลไทยได้บรรจุอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าเข้าไปเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแฟชั่นภายใต้การสนับสนุนของโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น เนื่องจากในสภาวะตลาดปัจจุบันซึ่งมีการแข่งขันสูง การสร้างความแตกต่างและคุณค่าเพิ่มให้กับสินค้าจึงจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ประกอบการไทยในการแข่งขันในตลาดส่งออก
“การพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในด้านการพัฒนาวัตถุต้นน้ำ เทคนิคการผลิตและออกแบบ การสร้างตราสินค้า จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเตรียมความพร้อมที่จะผันตนเองจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตตามคำสั่งผู้ว่าจ้าง ไปเป็นผู้ผลิตและทำแบรนด์ของตัวเองเพื่อแข่งขันในตลาดส่งออก ซึ่งผมเชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่า โครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นมีส่วนผลักดันให้การพัฒนาของอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า พัฒนาได้อย่างรวดเร็วขึ้น ” นายธวัฒน์กล่าว
นายธวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าจากอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อป้อนให้กับตลาดโลกภายใต้ยี่ห้อผู้อื่นหรือเป็นที่รู้จักกันว่า OEM (Original Equipment for Manufacturers) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพการผลิตเครื่องหนังและรองเท้าของผู้ประกอบการคนไทยนั้นสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างแน่นอน
“แต่สิ่งที่ผมหวังเป็นอย่างยิ่งก็คือ การที่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะสามารถสร้างแบรนด์ของตัวเองเพื่อเข้าไปแข่งขันกับผู้ผลิตอื่น ๆ ในตลาดส่งออกได้ ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการไทย อีกทั้งเงื่อนไขการค้าของตลาดโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้เรากำลังพูดถึงเขตการค้าเสรี ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีความพร้อมที่จะแข่งขันกับคู่แข่งทุกคนในตลาดส่งออก” นายธวัฒน์กล่าว
นายธวัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้ามากกว่า 4,000 ราย แบ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำมากกว่า 200 ราย อุตสาหกรรมรองเท้าประมาณ 3,000 ราย และอุตสาหกรรมเครื่องหนังประมาณ 1,000 ราย โดยมูลค่าการส่งออกในปี 2547 อยู่ที่ประมาณ 70,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินค้าเครื่องหนังประมาณ 6,950 ล้านบาท รองเท้าและชิ้นส่วนประมาณ 34,500 ล้านบาท และหนัง ผลิตภัณฑ์หนังอัดและหนังฟอกประมาณ 28,550 บาท
“ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าของเราได้รับผลกระทบจากประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะจากประเทศจีนและไต้หวัน ดังนั้น หากเราต้องการจะเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน เราจะต้องยกระดับความสามารถในการแข่งขันเพื่อที่จะหนีคู่แข่งอย่างประเทศจีนและไต้หวัน โครงการนี้ จึงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมาก” นายกสมาคมเครื่องหนังไทยกล่าว
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องหนัง รองเท้า และวัตถุดิบสนับสนุน
1. ลงทะเบียนเข้าร่วมงานสัมมนาและร่วมพิธีเปิดโครงการฯ (โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย )
ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 22 ธันวาคม 2548
ขอข้อมูลเพิ่มเติมและสำรองที่นั่งได้ทางโทรศัพท์ 02 689 —2334 —5
2. สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ส่วนการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรม
3. รองเท้าและวัตถุดิบสนับสนุนอุตสาหกรรมรองเท้า (โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย)
ขอข้อมูลเพิ่มเติมที่โทรศัพท์ 02 470-9339, 02 470 9691 http:// www.fibo.kmutt.ac.th/cb
4. สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ส่วนการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรม
เครื่องหนัง และวัตถุดิบสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องหนัง
ขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ 02 585 8541-9 ต่อ 2527 http:// www.thaileathergoods.net
**********************************
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บริษัท ไมนด์ ทัช จำกัด — ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
วิรัตน์ ตรีรานุรัตน์ (01 6822575)
หรือ สาวิตรี ปึงเจริญกุล (01 8164598)
โทร 02 689 2334-5--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ