เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาปาฐกถาพิเศษ "การแก้ปัญหาวิกฤตน้ำในเมืองไทยตามแนวพระราชดำริ"

ข่าวเทคโนโลยี Friday July 25, 2008 15:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น
เป็นค่ำคืนที่อบอุ่นและชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำใจของคนไทยที่ห่วงใยในปัญหาวิกฤติน้ำที่มารวมตัวกันในงาน “Treasure Our Water” จัดโดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT TELECOM ณ ห้องชมวัง ราชนาวิกสภา เพื่อรณรงค์ให้ลูกค้า CAT 001 ตระหนักถึงภาวะวิกฤติน้ำ พร้อมเปิดตัวโครงการ “CAT 001 สนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ มูลนิธิชัยพัฒนา : เราไม่ได้มาถามหาคนทำ แต่เรามาตามหาคนช่วย” โดยจะนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งจากการให้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ CAT 001 ตลอดเดือนกรกฎาคม เริ่มต้นที่ 10 ล้านบาท มอบสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา สำหรับนำไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ
ในงานนี้จึงคราคร่ำไปด้วยบรรดาคนดังในแวดวงสังคม นักธุรกิจ รวมไปถึงนักวิชาการที่หลายๆ คนคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี โดยได้รับเกียรติจาก ดร สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา มาร่วมปาฐกถาพิเศษพร้อมบอกเล่าถึงเรื่องราวของวิกฤติน้ำที่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยกำลังเผชิญ
“ประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรน้ำ ซึ่งแสดงออกมาในรูปของปัญหาน้ำท่วม ปัญหาขาดแคลนน้ำ และมลพิษทางน้ำที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงมาจากการใช้น้ำอย่างขาดการยั้งคิด โดยมิได้คำนึงถึงการบริหารจัดการที่ดี ตัวผมเองเข้ามาทำงานตรงนี้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2524 ทำให้ได้รู้และได้เห็นความเปลี่ยนแปลงถดถอยของธรรมชาติที่เสื่อมสลายลงไปเพราะการกระทำของมนุษย์”
หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 60 กว่าปีที่ผ่านมา ในสมัยที่ผู้คนยังไม่สนใจธรรมชาติ ไม่เคยกังวลกับสภาวะโลกร้อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นปราชญ์แห่งสายน้ำ ได้ทรงมีพระราชดำรัสให้เฝ้าระวังภัยธรรมชาติอันเกิดจากการบริโภคอย่างไม่ยั้งคิด เนื่องจากพระองค์ทรงตระหนักว่าเมื่อมีการทำร้ายธรรมชาติ จนถึงที่สุดแล้วธรรมชาติก็จะตอบโต้และทำร้ายเราบ้าง
บทเรียนจากไซโคลน นาร์กีส ที่ถล่มประเทศพม่าจนราบคาบ พายุแคทรีน่าที่ทำให้คนอเมริกันนับพันนับหมื่นคนต้องตาย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า แม้ประเทศนั้นจะยากดีมีจนหรือร่ำรวยสักเพียงใดก็ไม่อาจหนีพ้นบทลงโทษจากธรรมชาติไปได้ ซึ่งวันหนึ่งเหตุการณ์เหล่านั้นอาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยของเราก็เป็นได้
ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงทุ่มเทพระวรกายในการริเริ่มทำโครงการต่างๆ มากมาย เพื่อเป็นแนวทางป้องกัน บรรเทาปัญหาวิกฤติน้ำที่จะนำมาซึ่งความเดือดร้อนให้กับพสกนิกรของพระองค์ โดยนำหลักธรรมะมารักษาธรรมชาติ ศึกษาและแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อหาทางบริหารจัดการน้ำได้อย่างถูกต้อง
“หลายคนบอกว่าอีสานแห้งแล้งมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว อีสานมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าภาคอื่นๆ ของประเทศ แต่ไม่รู้จักวิธีบริหารจัดการ พอเห็นน้ำมากก็สูบทิ้งลงแม่น้ำโขง พอหน้าแล้งก็ไม่รู้จะเอาน้ำที่ไหนมาใช้ พระองค์จึงทรงมีพระราชดำรัสให้ผมไปลองสังเกตพฤติกรรมอันชาญฉลาดของลิง ลิงไม่เคยทิ้งกล้วยเมื่อมีคนให้มากมันก็จะเอาไปเก็บไว้ที่กระพุ้งแก้ม พอหิวก็ทยอยนำออกมากิน เช่นเดียวกันกับน้ำ เมื่อมีมากเราก็ต้องหาวิธีจัดการ กักเก็บไว้ใช้ยามจำเป็น ซึ่งก็เป็นที่มาของโครงการแก้มลิง”
ด้วยหลักธรรมชาติรักษาธรรมชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงหาวิธีในการบำบัดน้ำเสียโดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานราคาแพง พระองค์ทรงมีแหล่งบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวาขนาดใหญ่อยู่ที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อม แหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งได้รับการพัฒนาสภาพแวดล้อมจนทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงพัฒนารหัสวิดน้ำจากภูมิปัญญาชาวบ้านมาเป็นโครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา เครื่องกลเติมอากาศ ทำให้เกิดการถ่ายเทออกซิเจน เปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นน้ำดีเพื่อต่อชีวิตให้สัตว์น้ำ หรือแม้กระทั้งในยามที่ฝนแล้ง พระมหากษัตริย์ของไทยก็ยังทรงสามารถนำน้ำที่อยู่บนฟ้ามาบรรเทาความเดือนร้อนให้กับราษฎรของพระองค์ ด้วยโครงการพัฒนาฝนหลวง ทำให้หลายพื้นที่ร้อนพ้นจากความแห้งแล้งไปได้
ดร สุเมธ ได้กล่าวทิ้งท้ายในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่ควรมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในทุกเมื่อที่มีโอกาส เพราะปัญหาวิกฤติน้ำเป็นวิกฤติชาติที่ทุกคนต้องใส่ใจ
ซึ่งเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ร่วมสบทบทุนโครงการมูลนิธิชัยพัฒนาจะกลับคืนสู่แผ่นดิน เพื่อรักษาแหล่งน้ำ รักษาชีวิตคนไทยทุกคน สมดังพระราชปณิธานของพระองค์ที่จะทรงนำมาซึ่งความสุขของพสกนิกร เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม
ด้านนักวิชาการรุ่นใหม่ไฟแรง ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เน้นย้ำว่าปัญหาวิกฤติน้ำได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้คนและทรัพยากรชายฝั่งทะเลว่า
“ปัญหาชายฝั่งเป็นปัญหาปลายน้ำที่คนกรุงอาจจะไม่ค่อยได้รับรู้หรือคำนึงถึงมากนัก เพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าใครที่ชอบท่องเที่ยวทางทะเลจะรู้ว่าปัจจุบันนี้ทรัพยากรทางทะเลของประเทศไทย เริ่มเสียหายไปเป็นจำนวนมาก ภาวะโลกร้อนส่งผลให้ปะการังเสื่อมโทรมลงไปกว่า 40% พื้นที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะรุนแรง แผ่นดินทรุดตัวปีละ 5 เซนติเมตร น้ำเน่าเสียซึ่งเป็นสาเหตุการตายและการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำหลายชนิด สิ่งเหล่านี้จะบรรเทาลงได้ถ้าเราใส่ใจสิ่งแวดล้อม ช่วยกันดูแลรักษาแหล่งน้ำ ไม่สร้างความสปรก และใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้คุณค่าครับ”
ขณะที่ คุณอร—ชิชญาสุ์ กรรณสูต ผู้บริหารคลื่นลูกใหม่จากช่อง 7 ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ตระหนักถึงปัญหาวิกฤติน้ำ โดยเริ่มใส่ใจเรื่องการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำ น้ำมันหรือไฟฟ้า อีกทั้งยังมีส่วนช่วยสนับสนุนคนรอบข้างให้หันมาใส่ใจปัญหาวิกฤติน้ำอย่างจริงจังขึ้นด้วย
“ตอนนี้นอกจากตัวเราเองและที่บ้านจะใส่ใจเรื่องวิกฤติน้ำโดยการช่วยกันประหยัดพลังงานแล้ว ในส่วนของที่ทำงานเราก็จะมีการขอความร่วมมือจากพนักงานทุกคนให้ช่วยกันประหนัดน้ำ ประหยัดไฟฟ้า เช่น ช่วงพักกลางก็จะมีการปิดไฟทุกดวงที่ไม่จำเป็น เปิดแอร์เป็นเวลา จำกัดการใช้ลิฟท์ ซึ่งทุกคนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีค่ะ “
อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่างานนี้เราไม่ได้มาถามหาคนทำ แต่เรามาตามหาคนช่วย ฉะนั้น ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ก็บรรเทาปัญหาวิกฤติน้ำเพื่อคนไทยเพื่อเมืองไทยของเรา
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
นิมมิดา วรนิธิศ (แหม่ม) Tel.081 860 4217
บริษัท อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด
โทร.0-2354 3588 โทรสาร. 0-2354 3589-90

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ