ปภ. แนะวิธีขับปลอดภัยในฤดูฝน

ข่าวทั่วไป Thursday May 19, 2005 16:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--ปภ.
นายสุนทร ริ้วเหลือง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนมักเกิดอุบัติเหตุทางถนนง่ายกว่าในช่วงปกติ เนื่องจากช่วงที่ฝนตก ทัศนวิสัยไม่ดี ถนนเปียกลื่น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะช่วงที่ฝน เริ่มตกใหม่ๆ ให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะถนนจะลื่น หลังฝนตกแล้วประมาณ 15 — 20 นาที สภาพถนนจะดีขึ้น ผู้ขับรถควรลดความเร็วลงให้อยู่ประมาณ ของความเร็วปกติ เพื่อให้มีเวลามากพอที่จะแก้ไข หลีกเลี่ยงอันตราย และป้องกันรถเหินน้ำ ซึ่งทำให้ไม่สามารถควบคุมรถได้ ถ้าฝนตกหนักมากจนไม่สามารถมองเห็นทางข้างหน้า ให้รีบหาที่จอดรถที่ปลอดภัย ส่วนการเบรกรถในขณะฝนตก ให้เบรกอย่างนุ่มนวล อย่าเบรกรุนแรง เพราะจะทำให้ล้อล็อค รถลื่นไถลเสียการควบคุมได้ หากต้องขับผ่านถนนที่มีน้ำท่วมขัง เมื่อขับพ้นเส้นทางดังกล่าวแล้ว ให้รีดน้ำออกจากระบบเบรก แต่ต้องแน่ใจว่าปลอดภัยเพียงพอจึงจะทำได้ โดยใช้เท้าขวาเหยียบคันเร่งเบาๆ และใช้เท้าซ้ายเหยียบเบรกเบาๆ จนไม่มีเสียงดังและตอบสนองเป็นปกติ
นายสุนทร กล่าวแนะต่อไปว่า ในช่วงที่ฝนตก หรือขณะถนนลื่น ควรขับรถโดยเว้นระยะห่างจากคันหน้าอย่างน้อย 2 เท่าของการขับในช่วงปกติ ส่วนการใช้สัญญาณไฟ ให้ใช้ไฟใหญ่เพื่อมองเห็นเส้นทาง รถคันอื่น และทำให้ผู้อื่นมองเห็นรถเรา อย่าเปิดเฉพาะไฟหรี่ และห้ามเปิดไฟสูงโดยเด็ดขาด เพราะแสงจะสะท้อนกับน้ำฝน ทำให้คนขับรถสวนมาตาพร่ามัว รวมทั้ง ห้ามเปิดไฟกระพริบ เพราะจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด คิดว่าเป็นรถจอดเสีย จนต้องเบี่ยงทางหนี ก่อให้เกิดอันตราย ในกรณีที่ต้องขับรถลุยน้ำ ให้ขับในส่วนที่ตื้นที่สุด และระวังถนนชนิดหลังเต่า หากขับรถเฉออกนอกเส้นทาง อาจทำให้รถจมน้ำได้ และขับด้วยเกียร์ 1 เร่งเครื่องให้รอบสูงแล้วเหยียบคลัตซ์ เพื่อให้ความเร็วต่ำ ระวังอย่าให้รอบต่ำ จะทำให้เครื่องดับกลางน้ำได้ อย่าขับเร็วเกินไป เพราะจะทำให้มีคลื่นน้ำกระเด็นเข้าเครื่องยนต์ ให้รักษาสมดุลระหว่างความเร็วกับรอบเครื่องให้ดี และระวังคลื่นน้ำจากรถคันอื่น จะเข้าไปในห้องเครื่อง ทำให้เครื่องยนต์ดับ รถลอยและควบคุมได้ยากขึ้น สุดท้ายนี้ นอกจากจะขับรถโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองแล้ว ให้ขับรถอย่างมีน้ำใจ นึกถึงความปลอดภัยของผู้ใช้เส้นทางรายอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะรถที่เล็กกว่า หรือคนที่เดินริมถนน และลดระดับความเร็วลง เพื่อป้องกันน้ำกระเซ็นก่อให้เกิดความเดือดร้อนและอันตรายต่อผู้ร่วมทาง--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ