TMC ร่วมคิด เชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนา ต้นน้ำไมโครอิเล็กทรอนิกส์ หวังยกระดับสู่ตลาดโลก

ข่าวเทคโนโลยี Friday August 22, 2008 13:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์
ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์(TMEC) ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)มีวิสัยทัศน์ในการยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจากระดับกลางและปลายน้ำในปัจจุบันให้ขึ้นสู่ระดับต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีในการแข่งขัน อีกทั้งยังมีหน้าที่สร้างบุคลากรที่มีพื้นฐานชั้นสูงด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จากพันธกิจข้างต้นทำให้เกิดการหาแนวทางความร่วมมือทำงานเพื่อร่วมสร้างผลงานวิจัยและพัฒนาครอบคลุมสาขาต่างๆของไมโครอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการประยุกต์ใช้งานจริงและสนับสนุนอุตสาหกรรมการออกแบบวงจรรวมในประเทศ
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) กล่าวว่า มีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชมการทำงานของศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการหาแนวทางความร่วมมือทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต เนื่องจาก ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี มีสำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (Technology Licensing Office: TLO) ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและส่งเสริมการอนุญาตให้ได้ใช้สิทธิเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวเกิดจากผลงานวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)ดังนั้นหากสามารถนำผลงานวิจัยและพัฒนาของศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ประโยชน์ก็จะเป็นการเชื่อมโยงการทำงานเพื่ออุตสาหกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร
ดร.อัมพร โพธิ์ใย ผู้อำนวยการ TMEC กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาศูนย์ TMEC มีงานวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานต่างๆทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความร่วมมือที่จะเพิ่มพูนความรู้ความสามารถร่วมกันและเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการของศูนย์ฯเพิ่มขึ้นด้วย อาทิ การบริการผลิตวงจรรวมซึ่งเน้นการผลิตวงจรรวมต้นแบบให้กับกลุ่มนักออกแบบวงจรรวมในประเทศทั้งภาคการศึกษาและเอกชน การบริการผลิตกระจกลวดลายต้นแบบ (Mask) สำหรับห้องปฏิบัติการและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
สำหรับผลงานที่ผ่านมาของศูนย์ TMEC ได้แก่ การผลิตต้นแบบเซ็นเซอร์วัดความดันโลหิต ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท RADI Medical System ประเทศสวีเดน เพื่อช่วยตรวจวัดความดันในเลือดสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจได้อย่างแม่นยำ โดยหัววัดความดันดังกล่าวจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้วัดความดันของไหล(ก๊าซหรือของเหลว)หัววัดจะส่งสัญญาณที่มีความสัมพันธ์กับความดัน โดยทั่วไปสัญญาณนี้จะเป็นสัญญาณทางไฟฟ้า เช่น แรงดันหรือกระแส แต่ก็อาจรวมถึงสัญญาณในรูปแบบอื่นได้ เช่น สัญญาณแสง หัววัดความดันจะมีเยื่อบางที่สามารถโค้งงอตามความดัน ซึ่งระดับความโค้งงอสามารถวัดได้ด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของความต้านทาน การเปลี่ยนแปลงของประจุ โดยศูนย์ TMEC ได้พัฒนากระบวนการผลิตในขั้นตอนต่างๆตามความต้องการของผู้ออกแบบ และปัจจุบันสามารถผลิตเพื่อส่งให้แก่บริษัทดังกล่าวไปประกอบเพื่อใช้งานจริงแล้ว
ผู้อำนวยการ TMEC กล่าวอีกว่า ศูนย์ฯยัง ติดตั้งเครื่องจักรเพื่อการผลิตวงจรรวมจำนวน 1 สายการผลิตและดำเนินการทดลองกระบวนการผลิตวงจรรวมชนิด CMOS ที่มีขนาดลวดลายเล็กที่สุดเท่ากับ 0.5 ไมครอนเป็นผลสำเร็จ และขณะนี้กำลังดำเนินการผลิตวงจรรวมโดยเป็นความร่วมมือของกลุ่มนักออกแบบวงจรในประเทศและมหาวิทยาลัยต่างๆ
นอกจากนี้ยังมี ระบบเซ็นเซอร์วัดความดันแบบไร้สาย ซึ่งสามารถตรวจสอบความดันลมภายในยางรถยนต์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ระบบวัดความดันลมยางรถยนต์นี้จัดเป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยที่กำลังจะถูกบังคับใช้ในรถยนต์ทุกคัน ศูนย์ฯจึงศึกษาวิจัยรวมถึงนำองค์ความรู้ด้านการผลิตเซ็นเซอร์มาประยุกต์ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ รวมทั้ง ระบบเซ็นเซอร์เพื่อการเกษตร อาทิ เซ็นเซอร์อุณหภูมิสำหรับการเพาะเห็ด เพื่อรับรู้หรือตรวจจับระดับอุณหภูมิ ซึ่งการรับรู้และทราบถึงระดับของอุณหภูมินั้นจะช่วยทำให้สามารถทราบถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้น รวมทั้งสามารถกำหนดและควบคุมพฤติกรรมทางกายภาพต่างๆได้ เช่น ในกระบวนการเพาะพันธุ์เห็ดนั้นล้วนแล้วแต่ต้องการสภาพแวดล้อมเหมาะสม แสงสว่างพอเหมาะ ระบบอากาศที่ดี หรือการมีความชื้นที่เหมาะสม เป็นต้น
ด้าน รศ.ดร.สมชาย รองผู้อำนวยการ TMC กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงานของศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากมันสมองของนักวิจัยด้านอิเล็กทรอนิกส์ไทย ซึ่งทำให้เกิดอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆมากมาย อีกทั้งยังช่วยลดการนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ราคาแพงจากต่างประเทศและเกิดการพัฒนาบุคลากรด้านนี้ให้เกิดความเชี่ยวชาญแก้ปัญหาในการทำงานโดยไม่ต้องพึ่งพิงนักวิจัยจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว การมาดูงานครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการหาแนวทางเพื่อวางแผนการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกันด้วย และคาดหวังว่าจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ต่อไป
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร. 0 2564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th
สอบถามข้อมูลข่าวและภาพเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณธณาพร นุ่นมัน (เอ็ม), คุณสุธิดา อัญญะโพธิ์ (ไก๋)
โทร. 0 2270 1350-4 ต่อ 104-105 มือถือ 08 6612 0912, 08 5930 7166
อีเมล: prtmc@yahoo.com, pr4tmc@ymail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ