ปภ.แนะเทคนิคขับรถลุยน้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Wednesday August 31, 2005 15:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เสนอแนะเทคนิคการขับรถลุยน้ำท่วม ก่อนลุยน้ำ ให้เติมน้ำมันเต็มถัง ตรวจสอบระบบจ่ายไฟ และใช้สเปรย์กันความชื้น ในขณะลุยน้ำ ห้ามเร่งรอบเครื่อง เพราะจะทำให้น้ำท่วมเข้าห้องเครื่อง หากถนนลื่นกว่าปกติ ให้ถอนคันเร่งลดความเร็ว และเปลี่ยนไปใช้เกียร์สูงขึ้น หลังจากลุยน้ำ ให้กำจัดน้ำจากชิ้นส่วนที่มีน้ำซึม พร้อมดูแลไดสตาร์ทเป็นพิเศษ
นายสุนทร ริ้วเหลือง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ปัญหาหนึ่งที่ผู้ขับรถ
มักประสบและวิตกกังวลในช่วงที่มีฝนตกหนัก ก็คือ การต้องขับรถลุยน้ำท่วมโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ยิ่งในกรณีที่ปริมาณน้ำสูงถึงขนาดท่วมห้องเครื่องนั้น ยิ่งเสี่ยงต่อการที่เครื่องยนต์ดับได้มากขึ้น ดังนั้น หากผู้ขับรถจำเป็นต้องขับรถในขณะน้ำท่วมถนน จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ดังนี้ ก่อนขับรถลุยน้ำ ควรเติมน้ำมันให้เต็มถัง เพราะแรงดันจากน้ำมันจะช่วยอัดไม่ให้เกิดไอน้ำภายในถัง โดยจุดสำคัญที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ คือ ระบบจ่ายไฟทั้งคอยล์ สายไฟ จานจ่ายไฟ และปลั๊กหัวเทียน หากเกิดปัญหากับระบบจ่ายไฟ จะทำให้เครื่องยนต์ดับ ต้องใช้สเปรย์กันความชื้นฉีดป้องกัน เพราะแม้น้ำจะไม่เข้าถึงเครื่องยนต์ แต่ความชื้นจากการลุยน้ำ จะทำให้เกิด ไอน้ำเกาะ เป็นต้นเหตุของเครื่องดับได้ และในขณะขับรถลุยน้ำ ต้องขับช้าๆ อย่างมีสติ สำหรับรถที่ใช้ระบบ พัดลมติดเครื่อง อย่าเร่งรอบเครื่องโดยเด็ดขาด เพราะปลายใบพัด อาจวักน้ำกระจายเข้าห้องเครื่อง ทำให้เครื่องยนต์ดับได้ หากพื้นถนนเป็นดินหรือลูกรัง จะทำให้ลื่นกว่าปกติ ให้แก้ไขโดยถอนคันเร่ง เพื่อลดความเร็ว และเปลี่ยนไปใช้เกียร์ที่สูงขึ้น เพื่อลดแรงบิดของล้อ ป้องกันการลื่นไถล และช่วยให้ดอกยางเกาะพื้นถนนดียิ่งขึ้น และหลังจากขับรถลุยน้ำแล้ว ต้องกำจัดน้ำออกจากชิ้นส่วนที่มีน้ำซึมเข้าไป โดยบริเวณที่ต้องดูแลมากที่สุด คือ ไดสตาร์ท ให้ทำความสะอาดโดยการดับเครื่องยนต์ แล้วสตาร์ทประมาณ 2 — 3 ครั้ง เพื่อรีดน้ำออก หรืออาจใช้วิธีดึงสายคอยล์ออกก่อนสตาร์ท เป็นช่วงๆ ละไม่เกิน 5 วินาที หากหลังจากขับรถลุยน้ำแล้วไม่สามารถเข้าเกียร์ได้ แสดงว่า มีน้ำเข้าไปในชุดคลัทซ์ ให้แก้ไขโดย เข้าเกียร์ค้างไว้แล้วสตาร์ททันที หากยังไม่ได้ผล ให้ใช้วิธีเข็นลงจาก ที่สูงแล้วค้างเกียร์ไว้ แรงกระชากจะทำให้ชุดคลัทซ์หายเป็นปกติ ตลอดจนต้องตรวจสอบน้ำมันเบรก กระบอกลูกสูบ ลูกยาง ว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานหรือไม่ ทั้งนี้ เทคนิคการขับรถลุยน้ำที่กล่าวในข้างต้น เป็นวิธีปฏิบัติ อย่างง่ายๆ ที่จะช่วยลดความสูญเสียเวลา และทรัพย์สิน จากการขับรถลุยน้ำ--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ