นีลเส็นเผยผลสำรวจผู้บริโภคคนไทยอ่านฉลากอาหารก่อนซื้อมากขึ้น นำเอเชีย แปซิฟิคที่วิตกเกี่ยวกับ แคลลอรี่ ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 2, 2008 15:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--นีลเส็น
รายงานผลการสำรวจออนไลน์ จาก เดอะ นีลเส็น คอมปะนี บริษัทผู้นำด้านการวิจัยทางการตลาดและข้อมูลระดับโลก พบว่า หากเทียบกับสองปีที่ผ่านมาผู้บริโภคชาวไทยจากสามในสี่คน (75%) มักสังเกตฉลากอาหารซึ่งระบุข้อมูลทางโภชนาการที่ติดไว้ที่บนบรรจุภัณฑ์มากขึ้น โดยประมาณครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคชาวไทยเข้าใจฉลากอาหารบนตัวผลิตภัณฑ์
จากการสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ของผู้บริโภคทั่วโลกของนีลเส็นที่จัดขึ้นสองครั้งต่อปี จากผู้บริโภค 28,253 คน ใน 51ประเทศ จากยุโรป, เอเชียแปซิฟิค, อเมริกาเหนือ, ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ในเดือนเมษายน ปี 2551 โดยการสำรวจได้สอบถามผู้บริโภคทั่วโลกว่ามีความเข้าใจเกี่ยวกับฉลากอาหารบนตัวผลิตภัณฑ์มากน้อยเพียงใด ตรวจสอบฉลากอาหารเมื่อใด และตรวจสอบในเรื่องใดบ้างเมื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค
จากการสำรวจพบว่าประเทศไทยติดลำดับแรกในทวีปเอเชีย แปซิฟิคที่พบผู้บริโภค (75%) อ่านฉลากอาหารซึ่งระบุข้อมูลทางโภชนาการที่ติดไว้ที่บนบรรจุภัณฑ์มากขึ้นกว่าที่เคยปฏิบัติเมื่อเทียบกับสองปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยทั่วโลก (66%) ( ตารางที่1 )
นางจันทิรา ลือสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี ( ประเทศไทย ) จำกัด กล่าวว่า “ ผลการสำรวจพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพและโภชนาการมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา ความจำเป็นของฉลากอาหารที่ให้ความรู้ และความกระจ่าง เริ่มที่จะเป็นหนึ่งในหัวข้อที่มีการโต้แย้งและถกเถียงกันอย่างมากในสองสามปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นแรงกระตุ้นสำหรับอุตสาหกรรมอาหารที่จะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นในการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารที่พวกเขาบริโภคอยู่ ”
เมื่อสอบถามผู้บริโภคชาวไทยว่าเมื่อไหร่ที่พวกเขามักตรวจสอบข้อมูลโภชนาการบนผลิตภัณฑ์ นีลเส็นพบว่า
ผู้บริโภค (61%) มักตรวจสอบข้อมูลโภชนาการบนผลิตภัณฑ์เสมอเมื่อซื้อสินค้านั้นๆเป็นครั้งแรก
ผู้บริโภค (41%) อ่านฉลากเมื่อพวกเขาซื้ออาหารบางชนิด
ผู้บริโภค (20%) อ่านฉลากเมื่อพวกเขามีเวลา
ผู้บริโภค (14%) อ่านฉลากเมื่อพวกเขาตั้งใจที่จะลดน้ำหนัก
ผู้บริโภค (11%) มักตรวจสอบข้อมูลโภชนาการบนผลิตภัณฑ์เมื่อซื้ออาหารสำหรับลูก
และที่น่าสนใจก็คือ นีลเส็นพบผู้บริโภคเพียงสองเปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่กล่าวว่าพวกเขาไม่เคยเช็คฉลากอาหารเลย (ตารางที่ 2)
“ การพัฒนาของโมเดรินเทรด ซึ่งรวมถึงซุปเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อต่างๆที่เกิดขึ้นมากมายในสิบปีที่ผ่านมาทำให้เกิดบรรจุภัณฑ์มากมาย ดังนั้นข้อมูลโภชนาการบนผลิตภัณฑ์จึงมีบทบาทในการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในสิ่งที่พวกเขากำลังซื้อและกำลังบริโภคอยู่ ”
ผู้บริโภคสนใจในข้อมูลทางด้านโภชนาการของอาหารที่พวกเขาซื้อ ความพยายามของผู้ผลิตอาหารที่ให้ข้อมูลทางด้านโภชนาการมากขึ้นนั้นก็เป็นสิ่งหนึ่ง ส่วนความเข้าใจฉลากอาหารก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในเอเชีย แปซิฟิค ชาวอินเดีย (59%) อ้างว่าเข้าใจฉลากเกือบทั้งหมด อันดับรองลงมาคือ ชาวออสเตรเลีย ชาวนิวซีแลนด์ (58% เท่ากัน ) และชาวฟิลิปปินส์ และชาวไทย (49% เท่ากัน )
ในประเทศไทย เกือบครึ่งของผู้บริโภค (49%) อ้างว่าพวกเขาเข้าใจในฉลากอาหารเกือบทั้งหมดซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระดับโลก (44%) และค่าเฉลี่ยของผู้บริโภคในเอเชีย แปซิฟิค (29%) ส่วนอีกประมาณครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคชาวไทยกล่าวว่าพวกเขาเข้าใจเพียงบางส่วน (51%)
แคลอรี่ ไขมัน และน้ำตาล 3 สิ่งที่ชาวไทยระมัดระวังมากที่สุด
ในประเทศไทย ข้อมูลเกี่ยวกับแคลลอรี่เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคกว่าครึ่งตรวจสอบข้อมูลทางด้านโภชนาการของอาหารก่อนซื้อ โดยพบผู้บริโภคเช็คฉลากอาหารเกี่ยวกับ แคลลอรี่มากที่สุด (66%) ไขมัน (64%) น้ำตาล (60%) และสารกันบูด (58%) หากเปรียบเทียบกับการทำการสำรวจเมื่อสามปีที่แล้ว ผู้บริโภคชาวไทยมีความกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับสารกันบูด อย่างไรก็ตามเราพบว่าผู้บริโภคได้หันมาสนใจเกี่ยวกับแคลลอรี่มากที่สุดในการสำรวจครั้งล่าสุดนี้
( ตารางที่ 3 )
หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในแถบเอเชีย แปซิฟิค ชาวไทยจำนวนมากที่สุดที่วิตกเกี่ยวกับ แคลลอรี่ ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต
“ ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพ อาหาร และวิถีทางการดำเนินชีวิต ได้ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อในทุกรูปแบบอย่างมากมาย ผู้บริโภคใส่ใจกับตนเองเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และนักการตลาดที่มีความเชี่ยวชาญได้ตระหนักแล้วว่า การเพิ่มสิ่งเล็กน้อยเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยในสินค้าใดก็ตาม คือพื้นฐานสู่ความสำเร็จในการขาย” คุณจันทิรา กล่าว
คุณจันทิรา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ ทั้งๆที่สภาพภูมิศาสตร์จะอยู่ห่างไกลกัน ผลการสำรวจนีลเส็นเปิดเผยว่าชาวฝรั่งเศส และญี่ปุ่น มีทัศนคติที่คล้ายคลึงกันอย่างน่าทึ่งต่อข้อมูลโภชนาการ และฉลากอาหาร โดยพบว่าชาวญี่ปุ่น (18%) และชาวฝรั่งเศส ( 16%) ติดลำดับแรกของโลกที่ยอมรับว่าพวกเขาไม่เคยตรวจข้อมูลทางด้านโภชนาการของอาหารที่พวกเขาซื้อ และทั้งสองประเทศนี้ยังติดอยู่ในสิบลำดับแรกของโลกที่ไม่เข้าใจฉลากอาหารเลย นอกจากนี้ชาวญี่ปุ่นยังยังคงติดลำดับของโลกที่ไม่เคยเช็ค ไขมัน ไขมันทรานส์ โปรตีน น้ำตาล และคาร์โบไฮเดรต และที่น่าสนใจก็คือสองชาตินี้ติดลำดับท้ายๆของโลกในปัญหาเรื่องโรคอ้วน โดยพบว่าสองชาตินี้ยังเป็นชาติที่นิยมอาหารที่สด และมาจากธรรมชาติ และให้ความสำคัญน้อยมากต่ออาหารฟาสต์ฟูด และอาหารที่ผ่านการแปรรูป ”
เกี่ยวกับนีลเส็น
บริษัทนีลเส็น จำกัด เป็นบริษัทเกี่ยวกับสื่อและข้อมูลทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วยแบรนด์ชั้นนำที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในแวดวงการตลาดเป็นอย่างดีอาทิ “เอซีนีลเส็น” ซึ่งให้บริการเกี่ยวกับข้อมูลทางการตลาด , “นีลเส็นมีเดีย รีเสริช” ให้บริการเกี่ยวกับข้อมูลทางสื่อ “BASES” ให้บริการเกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ( New product launch ) , สิ่งพิมพ์ทางธุรกิจอาทิ Billboard, The Hollywood Reporter และ Adweek รวมถึง Trade show และส่วนงานหนังสือพิมพ์ ( Scarborough ) โดยเป็นบริษัทเอกชนที่เปิดดำเนินการมากกว่า 100 ประเทศ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Haalem เนเธอร์แลนด์ และ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ