ดัชนีความเชื่อมั่น ส.อ.ท. ฟื้นต่อเนื่อง มั่นใจอีก 3 เดือนตลาดในประเทศขยายตัว

ข่าวยานยนต์ Wednesday September 17, 2008 12:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนสิงหาคม 2551 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,206 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 83.0 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจากเดือนกรกฎาคม 2551 ที่อยู่ในระดับ 76.9 โดยได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้นและการบริโภคภายในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนียอดคำสั่งซื้อยอดขายภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นตามกำลังซื้อของประชาชนที่เริ่มฟื้นตัว ส่วนตลาดต่างประเทศผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าจะชะลอตัวลงบ้างเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้า รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าออกที่สูงขึ้น
ในส่วนของความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 82.9 เป็น 89.0 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อการดำเนินธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับที่มั่นใจมากขึ้นและผู้ประกอบการมองว่าตลาดภายในประเทศจะมีการขยายตัวมากกว่าตลาดต่างประเทศ รวมถึงการได้รับผลดีจากการเข้าใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะทำให้มียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่อาจนำไปสู่การชะลอตัวของการบริโภคอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะไม่สดใสนักในปี 2552
ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมทุกขนาดปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนประกอบการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกขนาดปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ลักษณะการเพิ่มขึ้นของกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยได้รับผลกระทบจากตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นตลาดสำคัญของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เริ่มชะลอตัว
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามภูมิภาค พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการทุกภูมิภาคปรับเพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมภาคกลางกับภาคตะวันออกอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าภาคอื่นๆ ได้รับผลกระทบจากตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญชะลอตัว ขณะที่ภาคอื่นๆ ได้รับผลดีจากตลาดภายในประเทศบริโภคเพิ่มขึ้น
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจการ พบว่า มีภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบการได้แก่ราคาน้ำมันที่ลดลง อัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออก ขณะที่สถานการณ์ทางการเมือง อัตราดอกเบี้ย และเศรษฐกิจโลก ยังคงเป็นปัจจัยกระทบต่อกิจการอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างจากเดือนก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
ด้านข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่าภาครัฐควรเร่งสร้างเสถียรภาพทางด้านการเมืองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและนักลงทุนต่างประเทศ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ประกอบหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในประเทศให้มีประสิทธิภาพ สนับสนุนด้านแหล่งเงินทุน และชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ภายในประเทศ ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ โดยคงระดับไว้ที่ 33-35 บาท และลดภาษีการนำเข้า รวมทั้งหามาตรการภาษีอื่นๆ ช่วยเหลือภาคเอกชน เพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1296-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ