ข้อเสนอการปรับปรุงนโยบายเกษตรร่วมสหภาพยุโรปปี 2008

ข่าวทั่วไป Wednesday October 1, 2008 16:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการเสนอปรับปรุงนโยบายเกษตรร่วมของสหภาพยุโรป (Common Agricultural Policy : CAP) ให้มีความทันสมัยขึ้น เนื่องจากนโยบายบางอย่างได้ล้าหลัง เช่น การอุดหนุนภาคเกษตรกรรมซึ่งต้องใช้เงินภาษีสูงถึงร้อยละ 40 จากงบประมาณทั้งหมดของอียู เป็นการบิดเบือนตลาด และเป็นภัยต่อสินค้าเกษตรของยุโรปและของโลก การปรับนโยบายในครั้งนี้เรียกว่า “CAP Health Check” มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย
1. ปรับลดเงินอุดหนุนการเกษตรและเงินช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง (Single Farm Payment : SFP) ได้แก่
-การเพิ่มอัตราการลดเงินช่วยเหลือทางการเกษตร (Compulsory modulation) ปีละ 2 % โดยเพิ่มจาก 5 % เป็น 13 % ในช่วงปี 2009-2012 และโอนเงินส่วนนี้ไปไว้ในงบประมาณพัฒนาชนบท
- เงินช่วยเหลือเกษตรโดยตรง(SFP)ให้ลดลงในอัตราก้าวหน้าตามขนาดพื้นที่เกษตรกรรม - ยกเลิกเงินอุดหนุนการปลูกพืชพลังงาน โดยเปลี่ยนเป็นส่งเสริมพัฒนาพลังงานชีวภาพรุ่นที่สองที่ใช้เศษไม้ แก้วหรือขยะในการผลิต และเปลี่ยนแปลงเงินช่วยเหลือจากระบบเดิม(historical payment) เป็นระบบ Flatter rate ที่ขึ้นอยู่กับภูมิภาคหรือตามจำนวนเฮกตาร์
2. การปรับปรุงการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ด้านการพัฒนาชนบทของสมาชิกให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวขึ้น โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงมาตรฐาน และสวัสดิภาพสัตว์พร้อมกัน
3. ลดการแทรกแซงตลาดเพื่อให้เป็นเสรีมากขึ้น เช่น ยกเลิกข้อกำหนดที่ให้เกษตรกรกันที่ว่างเปล่าไว้ 10 % ยกเลิกการแทรกแซงการผลิต ข้าว และเนื้อหมู ยกเลิกโควตาผลิตนม ปี 2015 โดยเสนอให้เพิ่มโควตา 1 % ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี (2009/10 — 2013/14)
สำหรับท่าทีของประเทศสมาชิก มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายที่เห็นด้วย ได้แก่ อังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก สนับสนุนให้โอนเงินไปงบประมาณพัฒนาชนบทเพื่อต่อสู้กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เพราะการอุดหนุนเป็นสาเหตุให้ราคาสินค้าผู้บริโภคสูง และทำลายเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนา และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ได้แก่ ฝรั่งเศส และเยอรมัน เห็นว่าควรให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป เพราะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเกษตรภายในประเทศ
ทั้งนี้ การเสนอปรับปรุงนโยบายเกษตรร่วมสหภาพยุโรปปี 2008 จะนำเข้าเสนอคณะกรรมาธิการยุโรปในการประชุมปลายปี 2008
นางอภิรดีฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การลดเงินอุดหนุนการเกษตรและเงินช่วยเหลือของอียู จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรของอียูที่สูงขึ้นกว่าประเทศอื่นๆ ความสามารถแข่งขันของสินค้าอียูลดลง และการลดการแทรกแซงการผลิตเพื่อให้เสรีมากขึ้นจากเดิมที่ควบคุมการผลิต อาจทำให้มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น อียูอาจจะมีมาตรการปกป้องผลประโยชน์ภายใน โดยใช้วิธีมาตรการด้านสุขอนามัย ซึ่งจะทำให้การนำเข้าสินค้าเกษตรของอียูจากประเทศต่างๆรวมทั้งไทยมีขั้นตอนยุ่งยากและเป็นอุปสรรค นอกจากนี้สินค้าเกษตรของอียูซึ่งเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดการแย่งส่วนแบ่งตลาดสินค้าเกษตรของไทยในประเทศต่างๆมากขึ้น เช่น ข้าว เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ