ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “บริษัทไทยเบฟเวอเรจ” และ “บริษัทแสงโสม” ที่ “A+/Stable”

ข่าวทั่วไป Tuesday January 17, 2006 08:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทลูกคือ บริษัท แสงโสม จำกัด ที่ระดับ “A+” พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” เท่ากัน โดยอันดับเครดิตของบริษัทไทยเบฟเวอเรจสะท้อนความเป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ ตลอดจนความสามารถและประสบการณ์ของคณะผู้บริหาร และการประหยัดจากขนาดเนื่องจากการเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ การให้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและสม่ำเสมอ รวมทั้งเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและความเสี่ยงจากข้อบังคับทางกฎหมายที่อาจกระทบต่อความต้องการในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงดำรงความสามารถในการแข่งขันและสถานะความเป็นผู้นำในตลาดเบียร์และสุรา อย่างไรก็ตาม บริษัทยังจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นทั้งจากผู้ผลิตเบียร์ไทยและผู้นำเข้าสุราจากต่างประเทศจากผลของการเปิดเสรีธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนผลของข้อตกลงในเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และเขตการค้าเสรี (FTA)
ส่วนอันดับเครดิตของบริษัทแสงโสมสะท้อนความเป็นผู้นำในตลาดสุราสีในกลุ่มสินค้าอีโคโนมี่ (สินค้าราคาประหยัด) ตลอดจนตราผลิตภัณฑ์ “แสงโสม” ที่เป็นที่รู้จัก ความสามารถและประสบการณ์ของคณะผู้บริหาร รวมทั้งเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง การให้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากการชะลอตัวของอัตราการเติบโตของการบริโภคสุราในประเทศ การแข่งขันกันเองระหว่างผลิตภัณฑ์สุราสีของบริษัทแม่ และภาวะการแข่งขันที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นจากสุราสีนำเข้าเนื่องจากผลของโครงสร้างภาษีสรรพสามิตอัตราใหม่ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนที่ดีจากบริษัทแม่และจะสามารถดำรงสถานะผู้นำในตลาดสุราสีในประเทศต่อไป ความท้าทายของบริษัทคือการปรับตัวให้เข้ากับภาวะการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลจากการเปิดเสรีธุรกิจสุราและข้อตกลงใหม่ของ AFTA และ FTA อย่างไรก็ตาม การที่อันดับเครดิตของบริษัทขึ้นอยู่กับอันดับเครดิตของบริษัทไทยเบฟเวอเรจอาจส่งผลให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของบริษัทหากกลุ่มบริษัทไทยเบฟมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่จะมีผลกระทบในทางลบต่อบริษัททั้งในทางการเงินและธุรกิจ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในบริษัทต่างๆ จำนวน 63 แห่งซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลากหลายประเภททั้งเบียร์ สุราขาว สุราสี สุราสมุนไพรจีน และสาเก โดยตราสินค้าส่วนใหญ่เป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทย เช่น
แสงโสม แม่โขง มังกรทอง รวงข้าว และคราวน์ 99 สำหรับเครื่องดื่มสุรา และช้างสำหรับเบียร์ สินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทมีกลุ่มเป้าหมายที่บริโภคสินค้าอีโคโนมี่ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของตลาดโดยรวม การดำเนินกลยุทธ์ที่เน้นให้ตัวแทนจำหน่ายสั่งซื้อผลิตภัณฑ์โดยรวมช่วยผลักดันให้เบียร์ช้างขึ้นเป็นผู้นำตลาดได้ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปีภายหลังจากการเปิดตัวในปี 2538 อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทจะคงความเป็นผู้นำในตลาดเบียร์ของไทย ทว่ายอดขายเบียร์ของบริษัทเริ่มชะลอตัวลงหลังจากที่กลุ่มไทยเบฟได้เปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดไปเป็นการขายสินค้าตามตราผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทแทนการขายผลิตภัณฑ์โดยรวมเช่นเดิม ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้คู่แข่งรายสำคัญคือ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น ปัจจุบันบริษัทครองตลาดในประเทศเป็นหลักโดยเป็นผู้นำตลาดเบียร์ในสัดส่วน 60% และในตลาดสุรา 74%
บริษัทไทยเบฟเวอเรจจัดเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีกำลังการผลิตสุรา 1,090 ล้านลิตรต่อปี และมีกำลังการผลิตเบียร์ 790 ล้านลิตรต่อปี จึงทำให้บริษัทมีอำนาจต่อรองในการซื้อวัตถุดิบในระดับหนึ่ง ยิ่งกว่านั้น การมีโรงกลั่นถึง 15 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศยังทำให้บริษัทมีข้อได้เปรียบในการกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคด้วย เครือข่ายในการกระจายสินค้าของบริษัทนั้นจัดว่าแข็งแกร่งและกว้างขวาง โดยประกอบด้วยตัวแทนจำหน่าย 2,600 ราย พนักงานขายตรงกว่า 900 คน และคลังสินค้ามากกว่า 400 แห่งเพื่อรองรับการกระจายสินค้าไปยังจุดขายที่มีมากกว่า 260,000 แห่งทั่วประเทศ คณะผู้บริหารของบริษัทมีผลงานเป็นที่ยอมรับ อีกทั้งยังมีประสบการณ์ที่ยาวนาน และมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจสุราในประเทศเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การที่กลุ่มบริษัทไทยเบฟอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการจากระบบครอบครัวสู่ระบบมืออาชีพจึงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ผล
ส่วนบริษัทแสงโสมนั้นก่อตั้งในปี 2520 เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายสุราประเภทต่างๆ ทั่วประเทศ และภายหลังจากการปรับโครงสร้างองค์กรภายในกลุ่มและการก่อตั้งบริษัทไทยเบฟเวอเรจให้เป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้นในบริษัท 100% ในปี 2546 แล้ว บริษัทจึงมีความรับผิดชอบเฉพาะการผลิตและจำหน่ายสุราแสงโสมและมังกรทองเท่านั้น สุราแสงโสมถือเป็นผู้นำในตลาดสุราสี โดยมียอดขายสูงที่สุดในประเทศตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาซึ่งเป็นผลมาจากการนำเสนอตราสัญลักษณ์แสงโสมสู่ตลาดอีกครั้งหลังจากการเปิดเสรีธุรกิจสุราในปี 2543 การเน้นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ตลาดสุราสีกลุ่มอีโคโนมี่ทำให้ยอดขายของสุราแสงโสมเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านลิตรในปี 2543 เป็น 69 ล้านลิตรในปี 2547 จากยอดขายรวมของตลาดสุราสีที่ 250-300 ล้านลิตรต่อปี โดยยอดขายสุราแสงโสมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 อยู่ที่ 64 ล้านลิตร และบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าผ่านทางเครือข่ายที่กว้างขวางของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ตลาดเบียร์ในประเทศไทยยังมีช่องทางในการเติบโตเนื่องจากปริมาณการบริโภคเบียร์ในระดับ 25.7 ลิตรต่อคนต่อปียังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับประเทศที่มีการบริโภคสูงสุด 20 อันดับแรกของโลก ตลาดเบียร์ในประเทศไทยมีผู้ผลิตรายใหญ่จำนวนไม่กี่รายและมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยมีการใช้งบประมาณในการโฆษณาจำนวนมหาศาล รวมทั้งมีการส่งเสริมการขายและการใช้กลยุทธ์ตัดราคาอย่างกว้างขวางเพื่อกระตุ้นยอดขาย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยอดขายเบียร์มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 7.6% ต่อปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราการขยายตัวในปี 2548 จะมีเพียง 2%-3% และหลังจากนั้นคาดว่าอัตราการขยายตัวจะอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจัยหลัก 2 ประการคือ การเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดของกลุ่มบริษัทไทยเบฟจากการเน้นขายผลิตภัณฑ์โดยรวมมาเป็นการขายสินค้าตามตราผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท และความเสี่ยงจากข้อบังคับทางกฎหมายซึ่งมีการจำกัดการโฆษณาและระยะเวลาในการจำหน่ายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ส่วนอุปสงค์ของตลาดสุราในประเทศค่อนข้างคงที่เนื่องจากปริมาณการบริโภคสุราในประเทศคงอยู่ในช่วง 8.7-9.7 ลิตรต่อคนต่อปีในช่วงปี 2541-2547 โดยมีอัตราการเติบโตของการบริโภคสุราเฉลี่ยที่ 5% ต่อปีในช่วงปี 2543-2547 ซึ่งตลาดสุราสีคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า 50% ของตลาดสุราทั้งหมด การควบคุมช่วงเวลาการออกอากาศโฆษณาทางโทรทัศน์และเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอุปสรรคสำคัญที่จำกัดการเติบโตของอุปสงค์การบริโภคสุรา นอกจากนี้ การเป็นเจ้าของตราสินค้าชั้นนำส่วนใหญ่ในตลาดสุราสีของบริษัทไทยเบฟเวอเรจอาจทำให้มีการแข่งขันระหว่างสุราสีของบริษัทด้วยกันเอง ในขณะเดียวกัน โครงสร้างภาษีสรรพสามิตล่าสุดสำหรับสุราสีที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกันยายน 2548 ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทแสงโสมมีภาระทางภาษีมากขึ้น ราคาของสุราแสงโสมจึงจะถูกปรับขึ้น 45 บาทต่อขวดขนาด 700 ซีซีเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราภาษีใหม่ การปรับราคาดังกล่าวจึงถือเป็นสิ่งท้าทายของบริษัทเนื่องจากราคาของสุราแสงโสมจะใกล้เคียงกับราคาของสุราสีนำเข้า ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ