ซิป้าจับมือเอทีซีไอประกาศผล TICTA 2008 มั่นใจศักยภาพซอฟต์แวร์ไทยแข่งระดับเอเชียแปซิฟิก

ข่าวเทคโนโลยี Monday October 13, 2008 16:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--อิน เฮ้าส์ เอเยนซี่
ซิป้าประกาสผลผู้ชนะ Thailand ICT Awards 2008 พร้อมผลักดันซอฟต์แวร์ไทยออกสู่ตลาดโลกให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่พัฒนาเศรษฐกิจประเทศในอนาคต
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (กรุงเทพฯ) : ประกาศผลแล้วสำหรับผู้ชนะเลิศโครงการ Thailand ICT Awards 2008 ในงาน TICTA Night 2008 ณ ห้อง Retro Live Cafe ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีผลงานที่ได้รับรางว้ลชนะเลิศรวม 14 ผลงาน จาก 14 ประเภท ซิป้าเตรียมต่อยอดส่งผลงานที่ชนะประกวดต่อระดับเอเชียแปซิฟิก หรือ APICTA ที่อินโดนีเซีย โดยเอทีซีไอเผยผลงานปีนี้น่าสนใจหลายผลงาน และมั่นใจว่า APICTA ปีนี้ผลงานจากไทยต้องได้รางวัลเพื่อต่อยอดซอฟต์แวร์ในอนาคตได้อย่างแน่นอน
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติหรือ ซิป้า และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทยหรือเอทีซีไอ ร่วมกันจัดงานประกาศผลผลงานซอฟต์แวร์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการ Thailand ICT Awards 2008 หรือ งาน TICTA Night 2008 วันที่ 9 ตุลาคม 2551 ณ ห้อง Retro Live Cafe ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำหรับผลงานซอฟต์แวร์ที่ชนะเลิศในปีนี้มีทั้งสิ้น 14 ผลงาน จาก 14 หมวดการแข่งขัน โดยมีคุณอังสุมาล ศุนาลัย รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ซึ่งผลงานในปีนี้มีความโดดเด่นที่คาดว่าจะสามารถผลักดันให้ออกสู่ตลาดโลกได้ โดยเฉพาะกลุ่มไฟแนนซ์แอปพลิเคชั่นที่จะเป็นที่จับตามองในตลาดซอฟต์แวร์
ดร. รุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงโครงการ Thailand ICT Awards ว่า “ซิป้ามีเป้าหมายที่จะสร้างศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้เข้าสู่ประเทศไทย จึงได้วางกลยุทธ์การพัฒนา 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ พัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนากระบวนการ พัฒนาตลาด พัฒนา บุคลากร และพัฒนาธุรกิจ โครงการ Thailand ICT Awards สอดคล้องโดยตรงกับกลยุทธ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในแต่ละปีผลงานที่ร่วมประกวดจึงมีความน่าสนใจและหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดด้วย นับจากปัจจุบันตลาด
ซอฟต์แวร์ไทยได้มีการตื่นตัวจากอดีตที่ผ่านมา แต่ตลาดโลกที่ต้องการซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพยังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมากที่จะสามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้มีการเติบโตยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าจะนับที่ตัวเลขการส่งออกล่าสุดของไทยจะเห็นได้ว่ามีตัวเลขเพียง 6,000 7,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำมากถ้าเทียบกับต่างประเทศที่มีการส่งออกด้านซอฟต์แวร์ อาทิ อินเดีย จีน เวียดนาม ซึ่งถ้าทุกฝ่ายให้การสนับสนุนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เชื่อว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยต้องมีเติบโตอย่างแน่นอน”
ดร. รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ Thailand ICT Awards มีส่วนส่งเสริมด้านการพัฒนาบุคลากร ซึ่งรวมถึงนักเรียน นักศึกษาที่มีส่วนร่วมในการประกวดทั้งระดับประเทศและระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นการเปิดโลกทัศน์แก่นักเรียน นักศึกษาในสาขาวิชานี้อันจะเข้าสู่ตลาดไอซีทีในอนาคต นอกจากนี้ ซิป้าได้นำผู้ชนะเลิศของโครงการนี้ร่วมกิจกรรมทางการตลาดทั้งในและตลาดประเทศ อาทิ โรดโชว์ตลาดต่างประเทศ ซึ่งซิป้าจัดร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น ซึ่งเป็นการพัฒนาตลาดให้แก่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการตื่นตัวในอุตสาหกรรมด้านซอฟแวร์ โดยเฉพาะบุคลากรที่ต้องคิดค้นซอฟต์แวร์ใหม่ๆ อยู่เสมอ และในอนาคตเมื่ออุตสาหกรรมด้านซอฟต์แวร์มีการเติบโต ซึ่งต้องหาความเป็นจุดเด่นของประเทศไทยด้านซอฟต์แวร์ให้มีความชัดเจน เพื่อที่จะได้ผลักดันออกสู่ตลาดโลก
“Thailand ICT Awards ครั้งนี้นับเป็นการจัดครั้งที่ 5 และมีสถิติการแข่งขันระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ดีขึ้นทุกปี โดยปี 2007 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ 3 รางวัลและรางวัลรองชนะเลิศ 3 รางวัล เราจึงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะรักษาสถิติของประเทศ ดังนั้น หลังจากที่เราได้ผู้ชนะเลิศโครงการ Thailand ICT Awards 2008 ในวันนี้ ซิป้าและเอทีซีไอจะจัดอบรมให้แก่ผู้ชนะเลิศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขัน Asia Pacific ICT Alliance (APICTA) Awards 2008 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 — 16 พฤศจิกายน 2551 นี้ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย สำหรับการอบรมเตรียมความพร้อมจะจัดให้มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้คำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ร่วมแข่งขันมีความพร้อมมากที่สุด” ดร. รุ่งเรืองกล่าวสรุปในตอนท้าย
นายสุธีร์ สธนสถาพร เลขาธิการ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทยและคณะกรรมการบริหาร Asia Pacific ICT Alliance (APICTA) Awards กล่าวให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานที่ชนะเลิศโครงการ Thailand ICT Awards 2008 ว่า “ผลงานชนะเลิศในปีนี้มีทั้งสิ้น 14 ผลงานจาก 14 หมวดการแข่งขัน มีเพียง 1 หมวด คือ Start-up Company ที่ไม่มีผู้ชนะเลิศ โดยภาพรวมคุณภาพของซอฟต์แวร์ที่ร่วมประกวดในปีนี้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ตัวอย่างผลงานที่เด่นๆ ในปีนี้ ได้แก่ ผลงาน
iMed โดย บริษัท International Medical Software ซึ่งพัฒนาด้วย J2EE และเว็บ เซอร์วิส สามารถทำงานกับแพลตฟอร์มที่หลากหลาย และประกอบด้วยกว่า 2,000 ฟังก์ชั่น ครอบคลุมทุกแผนกและทุกฝายในโรงพยาบาล และสามารถเชื่อมโยงกับระบบ Laboratory Informatics System นอกจากนี้ยังมีระบบ Back Office ที่บริหารจัดการด้านสินค้าคงคลังและบริหารงานบัญชี รวมถึงการวิเคราะห์ทางการเงินด้วย”
“อีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจ คือผลงาน @2er anywhere to emergency ของบริษัท อรุณสวัสดิ์ ดอท คอม ในหมวดของ R& D เป็นการใช้ระบบ Position Tracking ในการรับผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยคนขับสามารถทราบตำแหน่งบ้านผู้ป่วยผ่าน PDA Navigator นอกจากนี้ข้อมูลต่างๆ ของผู้ป่วยสามารถดึงจากข้อมูลส่วนกลางไปยัง PDA ของนายแพทย์ผู้รักษา ทำให้การดูแลรักษามีความรวดเร็วขึ้นด้วย ผลงานเด่นอีกหนึ่งผลงานเป็นหมวด Application and Infrastructure Tools เป็นระบบการสืบค้นข้อมูลในองค์กรอย่างรวดเร็ว real time และมีประสิทธิภาพ มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สามารถนำไปใช้ในหลายภาคธุรกิจ เช่น ตลาดทุนหรือธุรกิจการเงิน ผลงานนี้มีชื่อว่า ThaiQuest Enterprise Search พัฒนาโดย บริษัท Thai Quest” คุณสุธีร์กล่าวถึงผลงานที่ชนะเลิศ
“สำหรับผลงานของนักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นผลงานที่พัฒนาโดยนักเรียนโรงเรียนมารีวิทยา กบินทร์บุรี เป็นสื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ห้องเรียนออนไลน์ระบบนิเวศน์นาข้าว ส่วนผลงานของนิสิตนักศึกษาที่ชนะเลิศเป็นผลงานของนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโปรแกรมที่ดัดแปลงภาพนิ่ง ภาพวีดีโอ ภาพถ่าย หรือภาพจากเว็บแคมให้เป็นภาพการ์ตูนแบบเรียลไทม์” คุณสุธีร์ กล่าวเพิ่มเติม
คุณสุธีร์กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า “ตลอดระยะเวลา 5 ปีของโครงการ Thailand ICT Awards ต้องยอมรับว่าเราได้เห็นผลงานดีๆ เข้าสู่ตลาดมากมาย ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่ได้รับรางวัลได้นำรางวัลนี้เป็นการอ้างอิงถึงคุณภาพและมาตรฐาน อันเป็นส่วนในการขยายและพัฒนาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ผมเชื่อว่าโครงการ Thailand ICT Awards ทำให้ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในซอฟต์แวร์ไทยมากขึ้น ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยหลายบริษัทได้ขยายตลาดไปยังประเทศ ซึ่งการนำผลงานออกประกวดในระดับนานาชาติ ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้หลายประเทศได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในซอฟต์แวร์ไทย และยังถือว่าเป็นเวทีที่จะช่วยในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยมีการเติบโตในอนาคตอีกด้วย ตามวัตถุประสงค์ของสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย หรือ เอทีซีไอ ที่มีความตั้งใจจะช่วยอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยได้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บริษัท อิน เฮ้าส์ เอเยนซี่ จำกัด
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
โทรศัพท์ 0 2294 7833-5

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ