กฟน.ฟันรายได้ครึ่งปีแรก 6.6 หมื่นล้าน พร้อมทุ่มงบพัฒนาระบบไฟฟ้ากว่า 3.5 หมื่นล้าน

ข่าวทั่วไป Tuesday August 1, 2006 15:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--กฟน.
การไฟฟ้านครหลวงแถลงผลประกอบการ 6 เดือนแรกปี 2549 มียอดจำหน่ายไฟฟ้า 20,565ล้านหน่วย มีรายได้รวม 66,335 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน4.8% เผยแผนลงทุนพัฒนาระบบไฟฟ้าด้วยงบประมาณ 35,942 ล้านบาทเตรียมขยายปีกลงทุนธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อาทิ จับมือปตท.ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม ธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม
นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานปี 2549 ว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มียอดจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 20,565 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้รวม 66,335 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,864 ล้านบาท ซึ่งมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 132 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 สาเหตุที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเนื่องจากหน่วยจำหน่ายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดว่าจะมีรายได้รวมในปี 2549 ประมาณ 137,193 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,230 ล้านบาท
สำหรับแผนการลงทุนที่สำคัญในการพัฒนาระบบไฟฟ้าปีงบประมาณ 2549 ได้กำหนดวงเงินดำเนินการทั้งสิ้น 35,942 ล้านบาท ประกอบด้วยงบประมาณทำการ 16,384 ล้านบาท และงบประมาณลงทุน 19,558 ล้านบาท
โดยมีแผนพัฒนางานในด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้า ที่สำคัญ เช่น โครงการก่อสร้างสายส่ง 230 เควี บางกะปิ-ชิดลม การพัฒนาระบบสถานีต้นทางและสถานีย่อย
การพัฒนาระบบสายส่งแรงดันกลางและต่ำให้มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าชนิดสายอากาศแบบเปลือยเป็นสายอากาศชนิดหุ้มฉนวน การพัฒนาระบบการควบคุมการจ่ายไฟฟ้า โครงการเปลี่ยนระบบสายป้อนอากาศเป็นสายป้อนใต้ดิน 3 โครงการ คือ โครงการพหลโยธิน โครงการพญาไท และ โครงการสุขุมวิท
ซึ่งในปีนี้ระบบจำหน่ายของ กฟน.สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจำนวน 7,379 เมกะวัตต์ได้อย่างเพียงพอผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับค่าดัชนีความมั่นคงในระบบไฟฟ้าและความสูญเสียในระบบจำหน่ายในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา ขณะนี้ มีจำนวนไฟฟ้าดับ ( SAIFI ) เฉลี่ย 0.754 ครั้ง/ราย/ปี จากเป้าหมายไม่เกิน 2.571 ครั้ง/ราย/ปี และระยะเวลาขัดข้องเฉลี่ย ( SAIDI ) เฉลี่ย 15.619 นาทีต่อราย/ปี จากเป้าหมายไม่เกิน 56.004 นาทีต่อราย/ปี ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะสามารถทำได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งหมายถึงจำนวนครั้งที่ไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ตลอดจนระยะเวลาเฉลี่ยที่ไฟฟ้าดับในแต่ละครั้งลดลง
ด้านการให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าปัจจุบัน กฟน.มีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้า 2.6 ล้านราย แบ่งความรับผิดชอบออกเป็น 18 เขตและ 13 สาขาย่อย ทุกแห่งผ่านการรับรองมาตรฐานสากล พร้อมนำระบบ e —service เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากขึ้น เช่น การขอใช้ไฟฟ้า การส่งใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า การชำระค่าไฟฟ้า รวมถึงการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงผ่านศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า Call center 1130
ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ เฉลี่ยเดือนละ 1.2 แสนราย นอกจากนี้ยังนำระบบ CRM-CEM เข้ามาให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าภายใต้โครงการ The MEA Way
โดยคำนึงถึงลูกค้าเป็นศูนย์กลางพร้อมบริการครบวงจรที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเกิดความพึงพอใจสูงสุดในด้านการบริหารงาน กฟน.ได้นำ การกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ Good Corporate Governance เข้ามาใช้ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ โปร่งใส พร้อมจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงในภารกิจหลักขององค์กรทุกด้าน เพื่อให้องค์กรสามารถบริหารงานและควบคุมความเสี่ยงในระดับที่สามารถยอมรับได้โดยจาก ผลประเมินความเสี่ยงของTRIS จัดให้ กฟน.อยู่ที่ระดับ 4.40 จากคะแนนเต็ม 5 ซึ่งสูงสุดในรัฐวิสาหกิจ สะท้อนให้เห็นว่า กฟน.มีการบริหารความเสี่ยงที่เป็นระบบ พร้อมกันนี้นำระบบ ERP ( Enterprise Resourses Planning )เข้ามาใช้ ในการบริหารงานภายในองค์กร ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงระบบงานต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถทำงานในเชิงบูรณาการได้
นาย พรเทพ กล่าวต่อไปว่า นอกจากบริการจำหน่ายไฟฟ้าแล้ว กฟน.ยังมีแนวทางการขยายสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การร่วมทุนกับ ปตท. กฟผ. สร้างโรงผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นสำหรับสนามบินสุวรรณภูมิ และร่วมทุนกับ ปตท.ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานร่วมจำหน่ายให้ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ธุรกิจบริการระบบภูมิสารสนเทศอัจฉริยะ (Geographic intelligence) ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้งานร่วมกับธุรกิจขนส่ง และ Call center ธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคมที่บริการด้วยระบบ Network Provider และธุรกิจบริการจัดส่งสิ่งพิมพ์โฆษณาและจัดทำใบแจ้งหนี้
เพื่อบริการประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในเขตพื้นที่ของ กฟน. ธุรกิจบริการและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าแบบครบวงจร ธุรกิจฝึกอบรม
เช่นโครงการ Harmonization in Lower Mekong Sub-Region กับประเทศ ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ขณะนี้กำลังดำเนินการ Phase 2 นอกจากนี้
กฟน.ยังได้ร่วมลงนาม MOU กับESCO เพื่อเข้าไปดำเนินการในส่วนของระบบจำหน่ายไฟฟ้า ทั้งในเรื่องการออกแบบ และการติดตั้ง ตลอดจนการฝึกอบรมในประเทศซูดาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ