จักษุแพทย์ชี้สุขภาพตาเด็กไทยยังน่าห่วง แนะพ่อแม่ดูแลและปกป้องดวงตาลูกน้อยอย่างใกล้ชิด

ข่าวทั่วไป Friday October 17, 2008 15:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--คอมมิวนิเคชัน แอนด์ มอร์ จักษุแพทย์เด็กเผยสุขภาพตาเด็กไทยน่าห่วง เหตุพ่อแม่ยังมองข้าม ชี้เด็กรุ่นใหม่มีแนวโน้มสุขภาพตาผิดปกติจากปัจจัยหลายด้าน ส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับจอประสาทตา แม้จะพบน้อยแต่รุนแรง เพราะเป็นอวัยวะสำคัญในการมองเห็นและการเรียนรู้ของเด็ก แนะผู้ปกครองใส่ใจปกป้องสุขภาพดวงตาเจ้าตัวเล็ก ด้วยการให้เด็กกินนมแม่ ซึ่งมีสารอาหารลูทีน ช่วยปกป้องจอประสาทตาได้ ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ปัญหาสุขภาพตาของเด็กไทยในปัจจุบันยังน่าห่วง เนื่องจากพ่อแม่ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญของการปกป้องและดูแลสุขภาพดวงตาของเจ้าตัวเล็ก แต่มักจะพามาพบจักษุแพทย์ก็ต่อเมื่อเกิดปัญหากับดวงตาของลูกแล้ว ซึ่งทางที่ดีพ่อแม่ควรให้ความสำคัญใส่ใจดูแลสุขภาพดวงตา และส่งเสริมพัฒนาการทางสายตาของลูกไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพัฒนาการด้านอื่นๆ เพราะพัฒนาการทางสายตาและการมองเห็นที่สมบูรณ์ของเจ้าตัวเล็กนั้น ถือว่าเป็นประตูสู่การเรียนรู้และการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการรอบด้านที่สมบูรณ์ของเจ้าตัวเล็ก โดยมีผลต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ ของเด็กมากถึง 80-90% ดังนั้น หากเด็กมีปัญหาพัฒนาการทางสายตาและการมองเห็นภาพไม่สมบูรณ์ ก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กได้ “พ่อแม่ยุคใหม่มักให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสติปัญญา เพื่อต้องการให้ลูกฉลาด แต่ลืมให้ความสำคัญกับสุขภาพดวงตาและพัฒนาการด้านการมองเห็นของลูก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้รอบด้าน ดังนั้น พ่อแม่ควรหันมาให้ความสำคัญตรงนี้ด้วย” ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวและเสริมว่า ปัจจุบันพบว่าปัญหาสุขภาพตาของเด็กไทยมีแนวโน้มเปลี่ยนไปจากในอดีต คือ จากเดิมมักจะเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เปลี่ยนเป็นโรคที่เกี่ยวกับสายตาผิดปกติ หรือความผิดปกติทางด้านการมองเห็นมากขึ้น เช่น โรคเกี่ยวกับจอประสาทตา และโรคตาขี้เกียจ โดยอาการของโรคจอประสาทตานั้น จะทำให้เด็กมองเห็นภาพไม่ปกติ มองเห็นภาพเลือนราง พ่อแม่ต้องสังเกตจากพฤติกรรมการมองเห็นของเด็ก เช่น เด็กไม่จ้องหน้า ตาแกว่ง ไม่มีพัฒนาการทางสายตาและการมองเห็นตามวัย หรือ การวิ่งเข้าไปดูสิ่งของใกล้ๆ ก็สามารถบ่งบอกได้ว่าเด็กอาจมีปัญหาเรื่องการมองเห็น สาเหตุการเกิดโรคจอประสาทตาในเด็ก อาจมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม การขาดสารอาหารบางชนิด แต่ที่พบบ่อย ได้แก่ เด็กคลอดก่อนกำหนด โดยมีผลการศึกษาพบว่าในเด็กคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,250 กรัม จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคจอประสาทตากว่า 60% และในกลุ่มเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 750 กรัม มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าวถึง 90% ซึ่งโรคจอประสาทตาในเด็กนี้ ถือเป็นสาเหตุหลักอันดับหนึ่งที่ทำให้เด็กตาบอดในที่สุด จอประสาทตา เป็นส่วนสำคัญที่สุดต่อการรับภาพและมองเห็นภาพชัดเจน โดยทำหน้าที่เป็นสัญญาณรับภาพ ดังนั้น เมื่อจอประสาทตาผิดปกติ หรือถูกทำลายจะทำให้สูญเสียการมองเห็นเป็นภาพเลือนราง ซึ่งจอประสาทตานี้อาจโดนทำลายจากมลภาวะทางแสงที่อยู่รอบๆ ตัวเรา โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม การให้เด็กได้รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนช่วยบำรุงสายตาอาจช่วยได้ เช่น อาหารที่มีวิตามินเอ จำพวกผักบุ้ง ผักตำลึง และสารอาหารลูทีน ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยดูดซับมลภาวะทางแสงที่จะไปทำลายจอประสาทตา มีมากในน้ำนมแม่ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า พ่อแม่ควรส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสายตาของลูกตั้งแต่ยังเด็ก เพราะโดยปกติพัฒนาการทางด้านสายตาของเด็กจะมีการพัฒนาการสูงสุดในช่วง 4 ขวบปีแรก โดยมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่แรกคลอด เริ่มมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่ออายุ 2 ขวบ และพัฒนาต่อเนื่องจนสามารถมองเห็นได้อย่างสมบูรณ์เมื่ออายุ 8-10 ขวบ ดังนั้น การดูแลและป้องกันลูกน้อยจากอาการผิดปกติทางสายตา และส่งเสริมให้เด็กมองเห็นภาพชัดเจนในช่วงอายุดังกล่าวจึงมีความสำคัญมากต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก “พ่อแม่สามารถส่งเสริมความฉลาดของลูกผ่านพัฒนาการทางสายตาด้วยการปกป้องดวงตา อวัยวะสำคัญในการเรียนรู้ของลูกควบคู่ไปกับการส่งเสริมพัฒนาการด้วยของเล่นสีสด เช่น ของเด็กเล่นสำหรับเด็กอายุ 1-2 เดือน สามารถใช้ของเล่นสีสดขนาดใหญ่พอสมควร ให้เด็กฝึกใช้สายตาจ้องมองและค่อยๆ ลดขนาดลงเมื่อลูกโตขึ้น และสำหรับเด็ก 1-2 ขวบ อาจใช้สมุดภาพที่มีสีสัน เพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการสายตาและการเรียนรู้ของเด็กได้อีกด้วย”ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว นอกจากนี้ พ่อแม่ควรดูแลพฤติกรรมการใช้สายตาของลูกให้เหมาะสมตั้งแต่ยังเล็ก เช่น การดูทีวี หรือเล่นคอมพิวเตอร์ สามารถให้ลูกดูหรือเล่นได้ตั้งแต่เล็ก เพราะถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการที่ดีแก่เด็กได้หากเป็นรายการที่เหมาะสม แต่พ่อแม่ต้องแนะนำและดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ให้ลูกใช้สายตายาวนานเกินไป ควรหมั่นให้ลูกพักสายตาทุกๆครึ่งชั่วโมง พักสายตา 4-5 นาที และหมั่นสังเกตการใช้สายตาของลูก หากมีข้อสงสัยว่าลูกจะมีสายตาผิดปกติ เช่น เด็กชอบดูทีวีใกล้ เอียงคอมอง หรี่ตามอง การมองเห็นผิดปกติ ไม่มองตาม ตาเข ตาแกว่ง ตาสั่น หรือขนาดตา 2 ข้างไม่เท่ากัน อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่าเด็กอาจมีความผิดปกติของดวงตาและการมองเห็น ควรพาลูกไปปรึกษาจักษุแพทย์ นอกจากนี้ การป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตาเด็ก จากสัตว์เลี้ยงหรือของมีคมก็มีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ Boodsaba Sookabat Assistant Manager Communication and More Ltd. 2 Soi Ramkamhaeng 24/3 Ramkamhaeng Rd., Huamark, Bangkapi Bangkok 10240 Tel. 662-718-3800 ext. 133 Fax. 662-720-3323

แท็ก ลูทีน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ