แพทย์เตือนพ่อแม่ที่มีลูกป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียที่ตัดม้ามไปแล้ว ระวัง โรคติดเชื้อไอพีดีแทรกซ้อน เน้นดูแลรักษาแบบองค์รวม

ข่าวทั่วไป Monday October 20, 2008 14:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.-- กุมารแพทย์เตือนพ่อแม่ที่มีลูกเล็กป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียระวัง มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อนิวโมคอคคัส หรือเชื้อไอพีดีสูง เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้บางรายที่มีอาการซีดรุนแรงมากซึ่งต้องตัดม้าม ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ติดเชื้อได้ง่าย แนะฉีดวัคซีนไอพีดีป้องกัน และเน้นการดูแลรักษาแบบองค์รวม เพื่อยืดชีวิตผู้ป่วยให้ยาวนานและมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมเร่งลดจำนวนผู้ป่วยธาลัสซีเมียในแต่ละปี แนะคู่แต่งงานตรวจเลือดพาหะของโรคก่อนมีบุตร รศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง กุมารแพทย์ รพ.รามาธิบดี เปิดเผยว่า โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคพันธุกรรมที่เกิดความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง โดยผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียบางรายที่มีอาการรุนแรงมากต้องรักษาดัวยการตัดม้าม ซึ่งม้ามจะทำหน้าที่สร้างภูมิต้านทานเพื่อทำลายเชื้อโรค ดังนั้นการตัดม้ามจะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ มากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดกลุ่มโรคไอพีดีได้ โดยประกอบไปด้วย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด รวมถึงปอดอักเสบ และยังอาจทำให้เกิดการติดเชื้อทางระบบหายใจอื่นๆ เช่น ไซนัสอักเสบ และหูน้ำหนวก เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยถึงแก่เสียชีวิตได้ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียส่วนใหญ่จะมีอาการซีดเหลือง รูปร่างหน้าตาเปลี่ยนแปลง สำหรับในเด็กพบว่าโรคธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรงจะส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตช้า กระดูกแขนขาหักง่าย ตับม้ามโต ถ้ามีอาการซีดมากอาจมีโอกาสหัวใจล้มเหลวได้ และเนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการให้เลือดเป็นประจำจึงอาจพบภาวะธาตุเหล็กเกินในร่างกาย และต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติได้ ในบางรายที่มีอาการซีดรุนแรงและเร็วเนื่องจากผู้ป่วยรายนั้นมีม้ามโตมาก แพทย์ก็จะพิจารณาให้ตัดม้าม ซึ่งจะส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงขึ้น รศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันวิธีการรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีอายุยาวนานต้องใช้การรักษาแบบองค์รวม คือต้องใช้วิธีการรักษาหลายๆ วิธีร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียหลังตัดม้าม ให้ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีนไอพีดี) ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันการติดเชื้อที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ในการพิจารณาและการตัดสินใจของผู้ป่วยและญาติ นอกจากนี้ยังต้องใช้วิธีการรักษาอื่นๆร่วมด้วย เช่นการให้เลือดอย่างสม่ำเสมอ การให้ยาขับเหล็ก การดูแลสุขภาพและอาหารที่เหมาะสมควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่เหมือนคนปกติมากที่สุด และผู้ป่วยจะต้องดูแลตัวเองให้พ้นจากภาวะเสี่ยงจากการติดเชื้อ เช่นหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดพลุกพล่าน ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ตลอดจนรักษาสุขอนามัยให้เป็นนิสัย เป็นต้น จากการประชุมวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติครั้งที่ 14 เมื่อเร็วๆ นี้มีการเปิดเผยถึงรายงานการศึกษาล่าสุดในปี 2547 โดยระบุว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคในระดับต่างๆ สูงถึง 630,000 ราย และมีประชากรไทยถึง 20 ล้านคน ที่มีกรรมพันธุ์ของโรคธาลัสซีเมีย (หรือคิดเป็นร้อยละ 30-40 ของประชากรไทย) “จากสถิติดังกล่าวข้าวต้น จึงถือเป็นความจำเป็น และสำคัญอย่างยิ่งในการลดจำนวนผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ โดยคู่แต่งงานต้องรับการตรวจหาความเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมียก่อนที่จะวางแผนมีบุตร เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วย ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุด แม้แต่ในเด็กสุขภาพดีก็ควรระวังเช่นเดียวกัน” รศ.นพ.สุรเดช กล่าวทิ้งท้าย ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ บุษบา, พิธิมา โทร. 0-2718-3800 ต่อ 133 / 138

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ