TCELS นำเครื่องตรวจยีนแพ้ยาต้านเอดส์โชว์ในงาน Bio Asia 2008

ข่าวทั่วไป Wednesday October 22, 2008 15:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--TCELS TCELS นำเครื่องตรวจยีนแพ้ยาต้านเอดส์โชว์ในงาน Bio Asia 2008 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 25-27 พฤศจิกายน 2551 เผยหากตรวจพบแต่เนิ่น ๆ จะสามารถประหยัดงบรัฐได้มากกว่าห้าพันล้านต่อปี หลังจากที่ ทพญ.สรนันท์ จันทรางศุ นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับทุนวิจัยพันธุกรรมระดับจีโนมภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและญี่ปุ่น จนสามารถบ่งชี้ว่ายีนของผู้ป่วยเอดส์มีภาวะแพ้ยาต้านไวรัสเอดส์เนวิราปินได้นั้น รศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ ผู้อำนวยการโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) กล่าวว่า ขณะนี้ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรแล้ว และในปี 2551-2553 จะดำเนินการศึกษาทางคลินิกเพื่อยืนยันผลการใช้ genomics markers ในการคัดกรองผู้แพ้ยาเนวิราปีน ด้วยชุดตรวจพันธุกรรมที่ได้รับการพัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยคือศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) และญี่ปุ่นคือ สถาบัน Riken มหาวิทยาลัยโตเกียว ให้สามารถตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมที่ต้องการได้ภายในระยะเวลา 40 นาที และกระบวนการเก็บข้อมูลสำหรับการดำเนินงานวิจัยจะอยู่ภายใต้ระบบสารสนเทศสำหรับการศึกษาวิจัยทางเภสัชพันธุศาสตร์ทางคลินิก โดยสามารถวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมร่วมกับข้อมูลทางคลินิก ข้อมูลผลตรวจทางห้องปฏิบัติกาลตามมาตรฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สากล เพื่อใช้เป็นต้นแบบการศึกษาวิจัยทางเภสัชพันธุศาสตร์อย่างเป็นระบบต่อไป ด้านนายกำจร พลางกูร รองผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า จากข้อมูลกรมควบคุมโรคเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 พบว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศอยู่ 546,578 ราย และจากสถิติของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีกำลังใช้ยาต้านไวรัสจำนวน 139,690 ราย ซึ่งยาต้านไวรัสชุดแรกที่ผู้ป่วยจะได้รับจากภาครัฐคือจีพีโอเวียร์ ซึ่งผลิตได้ในประเทศโดยองค์การเภสัชกรรมจึงมีราคาถูกกว่ายาต้านไวรัสสูตรอื่น โดยจีพีโอเวียร์ประกอบด้วยตัวยาต้านไวรัส 3 ตัวคือ Lamivudine หรือ 3TC, Stavudine หรือ d4T และ Nevirapine หรือ NVP รวมในเม็ดเดียวในราคาร 1,200 บาท ต่อคนต่อเดือน โดยต้องรับประทานตรงตามเวลาต่อเนื่องไม่มีวันหยุด “ในปี 2550 รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อยาต้านไวรัส จีพีโอเวียร์ เป็นเงิน 2 พันล้านบาทและในอนาคตหากผู้ติดเชื้อเอชไอวี เกิดเชื้อดื้อยาจำเป็นต้องปรับไปใช้ยาต้านไวรัสสูตรที่สองหรือยาสูตรทางเลือกอื่นซึ่งมียาต้านไวรัสกลุ่ม Protease inhibitor ที่จะต้องซื้อจากต่างประเทศรวมอยู่ด้วยจะมีค่าใช้จ่ายต่อคนในการจัดซื้อยาต้านไวรัสไม่น้อยกว่า 3,500 ต่อเดือน อันจะทำให้งบประมาณการจัดซื้อยาต้านไวรัสเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5,800 ล้านบาท ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว TCELS ได้ให้การสนับสนุนแพทย์และนักวิทยาศาตร์จากคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับสถาบัน Riken ในการวิจัยเพื่อหายีนแพ้ยาต้านไวรัสเนวิราปินส์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบในยา จีพีโอเวียร์ ออกจากผู้ที่สามารถใช้จีพีโอเวียร์ ได้โดยไม่มีอาการแพ้ ซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมหาศาลตามที่กล่าวข้างต้น” นายกำจร กล่าว นายกำจร กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของประเทศที่กำลังพัฒนาในขณะนี้คือ การใช้งบประมาณที่มีจำกัดในการรักษาพยาบาลให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำเภสัชพันธุศาสตร์เข้ามาเนเครื่องช่วยคัดเลือกยาที่มีประสิทธิภาพให้กับผู้ป่วยเฉพาะราย เพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ลดความล้มเหลวในการรักษา ลดภาระค่าใช้จ่ายอันเกิดจากผลข้างเคียงการใช้ยาทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถกลับไปประกอบอาชีพและดูแลตนเองและครอบครัวได้ และเป็นที่น่ายินดีว่า ในงาน Bio Asia 2008 ระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2551 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเป็นครั้งแรกนั้น ทางมหาวิทยาลัยโตเกียวได้มอบเครื่องวินิจฉัยยีนแพ้ยาต้านไวรัสเอดส์นี้ให้กับประเทศไทย 2 เครื่อง และจะนำมาโชว์ในงานดังกล่าวด้วย ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-6445499 ต่อ 141,144 ผู้ส่ง : jiraporn เบอร์โทรศัพท์ : 026445499

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ