ปภ. เตือนภาคเหนือ อีสาน รับมือสถานการณ์ภัยหนาว สำหรับภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักในระยะนี้

ข่าวทั่วไป Wednesday October 29, 2008 15:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--ปภ. ช่วงปลายเดือนตุลาคมของทุกปี สภาพอากาศของประเทศไทยจะมีความแปรปรวน เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบน โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิลดลง ๑ — ๓ องศาเซลเซียส ในขณะที่ภาคใต้ จะมีฝนตกชุกหนาแน่น และได้รับผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก และทะเลจีนใต้ ซึ่งมีโอกาสเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งอิทธิพลของพายุดังกล่าวจะทำให้มีลมพัดแรง ฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้เตรียมความพร้อมในการรับมือภัยหนาว และเตรียมการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัย ดินถล่มในภาคใต้ ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นการเตรียมพร้อมรับมือภัยหนาว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาวประจำจังหวัด ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในเขตพื้นที่ สำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัยหนาว ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซักซ้อมแผนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย จัดเตรียมเครื่องนุ่งห่มกันหนาว และวางแผนการจัดสรรเครื่องนุ่งห่มกันหนาวแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยหนาวที่ยากไร้ รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากอัคคีภัยในช่วงที่สภาพอากาศแห้ง และอุบัติเหตุทางถนนจากการเดินทางในช่วงที่มีหมอกปกคลุมหนาแน่น ตลอดจนกำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามและประเมินสถานการณ์ภัยหนาว โดยรายงานสถานการณ์ และสรุปสถานการณ์ ความเสียหายและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีระบบ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ประสบภัยหนาว ต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวกับไฟทุกประเภท ทั้งการประกอบอาหาร การจุดธูปเทียน การสูบบุหรี่ เนื่องจากช่วงฤดูหนาวสภาพอากาศจะแห้งและมีลมพัดแรง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะชาวบ้านที่มักก่อไฟผิงเพื่อให้ความอบอุ่น ควรดับไฟให้สนิท เพื่อป้องกันไฟลุกลามไหม้บ้านเรือน ส่วนเกษตรกรไม่ควรเผาตอซางข้าวและหญ้าแห้ง เพราะอาจทำให้เพลิงลุกลามอย่างรวดเร็ว การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานให้ ๑๔ จังหวัดภาคใต้ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยฯ ระดับจังหวัด / อำเภอ / องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมจัดทำแผนเฉพาะกิจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยฯ ปี ๒๕๕๑ โดยวางระบบการเฝ้าระวัง แผนการอพยพ เส้นทางอพยพ การแจ้งเตือนภัย และกำหนดพื้นที่รองรับการอพยพ รวมทั้งจัดฝึกอบรมมิสเตอร์เตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ฝึกอบรมทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล (OTOS) ฝึกอบรมการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐานให้แก่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย จำนวน ๘๑๒ หมู่บ้าน และฝึกอบรมสมาชิก อปพร. ในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งสิ้น ๑๒๕,๖๒๙ คน ตลอดจนติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เสี่ยงภัย เครื่องไซเรนมือหมุน และสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ เช่น บ้านน๊อคดาวน์ (ของมูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก) เรือท้องแบน เป็นต้นประชาชนที่อาศัยทางภาคใต้ หมั่นติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด หากมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันในพื้นที่ ควรจัดเวรยามเฝ้าระวังสถานการณ์ และหมั่นสังเกตสัญญาณเตือนภัยทางธรรมชาติที่บ่งชี้ว่าอาจจะเกิดน้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม เช่น มีฝนตกติดต่อกันในพื้นที่นานกว่า ๖ ชั่วโมง หรือปริมาณน้ำฝนมากกว่า ๑๐๐ มม. ต่อวัน มีเสียงดังผิดปกติมาจากป่าต้นน้ำ สัตว์ป่าแตกตื่น น้ำในลำห้วยเปลี่ยนสีเป็นสีแดง และระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ให้สันนิษฐานว่า อาจเกิดน้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ให้เตรียมขนย้ายสิ่งของและทรัพย์สินไว้บนที่สูง และเตรียมการอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย ตลอดจนปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนภัยและคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากภาวะฝนตกหนักในฤดูมรสุมนี้สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือหรือแจ้งเหตุได้ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์ ปภ. เขต ทั้ง ๑๘ เขต สำนักงาน ปภ. จังหวัดในพื้นที่ หรือทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป ผู้ส่ง : ปภ. เบอร์โทรศัพท์ : 022432200

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ