ปภ. รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ๔ จังหวัด

ข่าวทั่วไป Monday November 3, 2008 15:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานภาวะฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตรของ ๔ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก นครราชสีมา อุตรดิตถ์ และแพร่ สถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ๓ จังหวัด ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอด่านขุดทดจังหวัดนครราชสีมา ในด้านการให้ความช่วยเหลือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ประสบภัย ระดมกำลังเจ้าหน้าที่นำเครื่องจักรกล และและเรือท้องแบนออกให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วนแล้ว นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ภาวะฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรใน ๔ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก นครราชสีมา อุตรดิตถ์ และแพร่ โดยจังหวัดตาก น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยแม่สอดล้นทางระบายน้ำสายแม่สอด ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรและบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่อำเภอแม่สอด เขตเทศบาลเมืองแม่สอด ตำบลแม่ปะ ตำบลพระธาตุผาแดง ตำบลแม่กุ ตำบลมหาวัน ตำบลแม่ตาว และตำบลกาษา ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ๖,๐๐๐ ครัวเรือน นครราชสีมา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรของอำเภอด่านขุนทด (ตำบลด่านขุนทด ตำบลบ้านเก่า ตำบลห้วยบง และตำบลหินตาด) อุตรดิตถ์ เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ อำเภอลับแล ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ๒ ตำบล ได้แก่ตำบลแม่พูล และตำบลฝายหลวง แพร่ เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ ๒ อำเภอ ได้แก่ อำเภอลอง (ตำบลต้าผามอก ตำบลทุ่งแล้ง ) และอำเภอ เด่นชัย (ตำบลห้วยไร่) เส้นทางรถไฟถูกน้ำกัดเซาะขาดประมาณ ๑๐๐ เมตร ทำให้บริเวณบ้านห้วยไร่-ปางต้นผึ้ง รถไฟไม่สามารถเดินรถได้ และสามารถเปิดเส้นทางเดินรถได้เมื่อเวลา ๑๖.๑๕ น. วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ทั้งนี้สถานการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ๓ จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เพียงแห่งเดียวเท่านั้น สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ นำเครื่องจักรกล รถยนต์ เรือท้องแบนออกให้บริการขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของ และอพยพประชาชนออกจากพื้นที่น้ำท่วม พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งได้นำถุงยังชีพเครื่องอุปโภคและบริโภค ไปมอบให้กับผู้ประสบภัยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อีกทั้งออกสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พศ. ๒๕๔๖และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๙ (งบ ๕๐ ล้านบาท) นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความการรับมือสถานการณ์อุทกภัย จากภาวะฝนตกหนักในระยะนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๒ สุพรรณบุรี เขต ๔ ประจวบครีขันธ์ เขต ๑๑ สุราษฎร์ธานี เขต ๑๒ สงขลา เขต ๑๗ จันทบุรี เขต ๑๘ ภูเก็ต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เตรียมการป้องกันปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันทีที่เกิดเหตุภัยพิบัติ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป pr เบอร์โทรศัพท์ : 022432200

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ