กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--สสวท.
คนที่เกิดมาหน้าตาดี มีโชคจริงหรือ ?
คำถามถึงคนที่มีหน้าตาและรูปร่างที่ดูดีมีอภิสิทธิ์ต่อการยอมรับของคนในสังคมจริงหรือ มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุ และโอกาสที่คนจะถูกครอบงำด้วยความสวยงาม มีการใช้ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เรื่องความสวยงาม และวิทยาศาสตร์ด้านอื่น ๆ ในการอธิบายถึงสมองของคนเราเมื่อพบเห็นสิ่งที่สวยงาม
สมการจักรวาลของปวงคาเร่
เป็นเรื่องน่าทึ่งยิ่งนักสำหรับสมการจักรวาลของอองรี ปวงคาเร่ ซึ่งพยายามอธิบายถึงรูปทรงของจักรวาล ทฤษฎีนี้ไม่สามารถมีใครพิสูจน์ได้มาเป็นเวลานับร้อยปี นักคณิตศาสตร์บางคนใช้เวลาแทบทั้ง ชีวิตในการพิสูจน์ทฤษฎีนี้แต่ก็ผิดหวังจนแทบเสียสติไป แต่เมื่อไม่นานมานี้มีอัจฉริยะชาวรัสเซียชื่อ
กรีกอรี เพเรลมัน ได้พิสูจน์ทฤษฎีนี้จนเป็นที่ยอมรับแล้วและได้รับรางวัล Fields Medal ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดสำหรับนักคณิตศาสตร์ แต่เขาได้ปฏิเสธการรับรางวัลนี้ และหลบหนีความสนใจจากสังคมไป
ภาษากายของนักการเมือง
ภาษากายของนักการเมืองซึ่งกลายมาเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของผู้นำทางการเมือง ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ ในบริบททางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมวิทยา และชาติพันธุ์วิทยาระดับนานาชาติ
พร้อมทั้งสอดแทรกภาพยนตร์สั้น ๆ และภาพมากมายเพื่ออธิบายทฤษฎีของผู้เชี่ยวชาญให้กระจ่างขึ้น
ข่าวลือเกี่ยวกับไมโครเวฟ
ขบวนการพิสูจน์ข่าวลือเกี่ยวกับเตาไมโครเวฟ เช่น น้ำดับไข่ระเบิดในเตาไมโครเวฟได้หรือไม่ เหล็กไม่สามารถนำไปใส่ไว้ในเตาไมโครเวฟได้หรือไม่ คำถามเหล่านี้ได้รับคำตอบอย่างสนุกสนานและสอดแทรกหลักการทำงานเบื้องต้นของไมโครเวฟไว้ด้วย
จะเห็นได้ว่าทุกทุกสิ่งรอบตัวเรา ล้วนอธิบายได้ด้วยหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์แทบทั้งสิ้น
โดยเรื่องราวดังกล่าว ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ให้เข้าใจกระจ่างชัดใน เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 - 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และอุทยานการเรียนรู้ (TK PARK) โดยมีภาพยนตร์ 36 เรื่องจากประเทศต่างๆ เข้าฉายในเทศกาล
นางสาวนารี วงศ์สิโรจน์กุล รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอน
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า สสวท. ได้ริเริ่มเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ร่วมกับ สถาบันเกอเธ่และสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน กิจกรรมดังกล่าวนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สสวท. พยายามที่จะส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างให้เยาวชนเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจ และทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมศตวรรษที่ 21 ซึ่งในการจัดกระบวนการเรียนการสอนนั้น สสวท.พยายามจัดกิจกรรมและสื่อหลากหลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่งที่ตระหนักก็คือ ภาพยนตร์ซึ่งเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาสาระ
ได้ง่าย เนื่องจากภาพยนตร์ให้ทั้งเสียง และภาพเคลื่อนไหว ทำให้นักเรียนเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมได้
ซึ่งจะช่วยพัฒนาเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
ในช่วงเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 4 นี้ สสวท. จะจัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สัญจร ณ มหาวิทยาลัยและโรงเรียนที่เป็นศูนย์จัดฉายต่างจังหวัด จำนวน 26 แห่ง ทั่วประเทศ โดยได้จัดเตรียมภาพยนตร์บางส่วนในเทศกาลไปจัดฉาย อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง สถานีพลังงานลม (เยอรมัน) Oh my dog! (ฝรั่งเศส) สัญญาณแซตเติ้ลไลต์ (เยอรมัน) Rumor Buster (ไต้หวัน) ปีแห่งขั้วโลก (เยอรมัน) Four Wings and a Prayer (ฝรั่งเศส) เดินทางไปกับกาลเวลาที่เมืองแบร์ชตัดท์ (เยอรมัน) สารคดีชุดมหัศจรรย์ธรรมชาติ ตอน ปลาโบราณ (ญี่ปุ่น) ฯลฯ
นอกจากนั้น สสวท. ยังเตรียมทีมนักวิชาการเดินทางไปร่วมจัดกิจกรรมวิชาการแสนสนุก
ณ ศูนย์จัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สัญจร จำนวน 4 ศูนย์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยบูรพา
รายชื่อศูนย์จัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สัญจร จำนวน 26 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ โรงเรียนนครขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฎกาฬสินธุ์ โรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษา โรงเรียนพรหมานุสรณ์
ทั้งนี้ ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ถือว่าเป็นภาพยนตร์สำหรับครอบครัว ครอบครัว พ่อแม่ลูกสามารถชมได้พร้อมกัน เพราะเกี่ยวข้องกับทุกคน เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน ส่วนครูเองนั้นก็สามารถเรียนรู้ได้ด้วย เพราะการที่ครูมีโอกาสเหล่านี้ก็จะช่วยเสริมให้เกิดความรู้ที่จะไปอธิบายให้เด็กฟัง หรือเสริมให้ผู้เรียนมองเห็นภาพตามไปด้วยได้ อธิบายนอกเหนือจากตำรา
ผู้สนใจ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สถาบันเกอเธ่ www.goethe.de/sciencefilmfestival หรือเว็บไซต์ สสวท. www3.ipst.ac.th/sciencefilm หรือสอบถามที่ โทร. 0-2392-4021 ต่อ 1239, 124