“สถาบันอาหาร” แนะอุตฯอาหารไทยตรวจวิเคราะห์วัตถุดิบก่อนผลิตยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย สู้วิกฤตเมลามีน

ข่าวทั่วไป Thursday November 6, 2008 16:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ สถาบันอาหาร ชี้การตรวจวิเคราะห์วัตถุดิบก่อนการผลิต ช่วยลดอัตราการปนเปื้อน เมลามีนในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป พร้อมประกาศตัวเป็นรายแรกของประเทศไทยที่ริเริ่มบริการ การตรวจสอบรับรองระบบ (Inspection) ในโรงงาน เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ระบุวิกฤตการปนเปื้อนสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์อาหารของจีนส่งผลให้การส่งออกอาหารของไทยได้รับผลดีทางอ้อม แนะใช้ประโยชน์จากวิกฤตเป็นโอกาส สร้างความเชื่อมั่นสินค้าอาหารไทย ในตลาดต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ทั้งควรเร่งเดินหน้าเจาะตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า สถาบันอาหารมีภารกิจในการเป็นองค์กรที่ประสานความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่ข้อมูลแก่ ภาคสังคม คือ ผู้บริโภค และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งทำหน้าที่เสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมอาหาร จากวิกฤตการณ์สารเมลามีนปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหาร ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในเรื่องการปนเปื้อนของอาหารจากผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารของไทยจะต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ ซึ่งทางสถาบันอาหารมีแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ทั้งใน ด้านข้อมูล รวบรวมวิเคราะห์ สังเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลเตือนภัย กฎระเบียบต่างๆ แก่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออก ผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร Food Intelligence center www.nfi.or.th / infocenter , ด้านการตรวจวิเคราะห์ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ของสถาบันมีศักยภาพในการวิเคราะห์สารปนเปื้อนตามมาตรฐานการค้าต่าง ๆ และ การตรวจสอบรับรองระบบ (Inspection) “สถาบันอาหาร ได้ริเริ่มการตรวจสอบรับรองระบบ (Inspection) เพื่อช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่มีต่อสินค้านั้น โดยมีนักวิทยาศาสตร์หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบโรงงาน เพื่อตรวจดูวัตถุดิบในการผลิต วิธีการจัดเก็บวัตถุดิบ ตรวจเอกสารการสั่งวัตถุดิบ และสุ่มตัวอย่างของวัตถุดิบ นำมาวิเคราะห์ตรวจหาสารปนเปื้อนโดยใช้วิธีการทดสอบ Melamine, Cyanuric acid หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการทดสอบให้ทราบ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน ขึ้นอยู่กับขนาด ของแต่ละโรงงาน และจากการใช้วิธีดังกล่าวนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการ สามารถทราบผลการตรวจวิเคราะห์วัตถุดิบก่อนการผลิต ลดอัตราการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป” การให้บริการของสถาบันอาหารสามารถครอบคลุมทุกประเด็นปัญหา เพื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารพร้อมรับมือกับสถานการณ์วิกฤตการณ์สารเมลามีนที่เกิดขึ้นหรือสถานการณ์อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันสถาบันอาหารก็พร้อมยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ในกระบวนการผลิต และสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารของไทย ให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ดร.ยุทธศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยควรใช้ประโยชน์จากวิกฤตความเชื่อมั่นสินค้าอาหารจากจีนให้เป็นโอกาส ในการขยายตลาดสินค้าอาหารไปยังตลาดที่เคยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอาหารของจีน โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นที่คำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้ามาก มีปริมาณการนำเข้าสินค้าอาหารสูงถึงร้อยละ 60 ของปริมาณความต้องการบริโภคในประเทศทั้งหมด และประเทศจีนถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารป้อนตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก เชื่อว่าประเทศไทยควรเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของการย้ายแหล่งผลิตสินค้าอาหารป้อนเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น รวมถึงการเจาะตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ โดยใช้จุดแข็ง ด้านการผลิตสินค้าอาหารที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเป็นตัวนำ ปัญหาการปนเปื้อนสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์นมของประเทศจีนได้กลายเป็นวิกฤตความปลอดภัยอาหารทั่วโลก ซึ่งได้บั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคอย่างรุนแรง ส่งผลให้ประเทศต่างๆ เพิ่มความเข้มงวดในการนำเข้าสินค้าอาหารจากภายนอก ไม่เฉพาะผลิตภัณฑ์จากประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังขยายวงกว้างมาสู่การตรวจสอบสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งประเทศไทยควรนำกรณีตัวอย่างของประเทศจีนมาเป็นบทเรียนเพื่อสร้างโอกาสให้กับสินค้าอาหารของไทยด้วยการปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน และผู้ประกอบการรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการตรวจสอบและคัดกรองสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถบริโภคสินค้าได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการส่งออกให้แก่สินค้าอาหารของไทยอย่างยั่งยืนต่อไป ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด โทรศัพท์ 0 2 158 9416-8 / อัญชลี เชื้อน้อย, สุขกมล งามสม 089 484 9894

แท็ก เมลามีน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ