วิทยาศาสตร์จากดอกไม้ไฟ

ข่าวทั่วไป Friday November 7, 2008 14:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--สวทช. ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. สำหรับประเพณีลอยกระทงที่กำลังจะมาถึงในวันพุธที่ 12 พฤศจิกายน นี้ นอกจากกิจกรรมดีๆที่ประชาชนจะได้มีโอกาสลอยกระทงเพื่อบูชาและขอขมาพระแม่คงคาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะขาดไม่ได้สำหรับประเพณีนี้ก็คือ “ดอกไม้ไฟ” โดยในสมัยก่อนการประดิษฐ์ดอกไม้ไฟยังไม่มีสีสันมากนัก มีแค่แสงสีส้มซึ่งเกิดจากประกายดินปืนและสีขาวที่เกิดจากผงโลหะ แต่เมื่อประมาณร้อยหกสิบถึงร้อยเจ็ดสิบปีก่อนหน้านี้ ช่างทำดอกไม้ไฟก็สามารถประดิษฐ์ดอกไม้ไฟที่มีหลากสีสันมากขึ้น แล้วรู้มั้ยว่าสีสันต่างๆ จากพลุนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ? การสร้างดอกไม้ไฟให้มีสีต่างๆต้องอาศัยหลักทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาเคมี เนื่องจากช่างประดิษฐ์ดอกไม้ไฟต้องรู้จักคุณสมบัติของสารแต่ละชนิดที่นำมาผสมกันอย่างดีว่าผสมได้หรือไม่ อีกทั้งสารบางชนิดมีคุณสมบัติไวไฟอาจทำให้ระเบิดได้ง่ายด้วย โดยหลักการทำดอกไม้ไฟให้มีสีสันก็คือการสร้างส่วนที่เรียกว่า “เม็ดสี” ใส่เข้าไปในลูกดอกไม้ไฟ ซึ่งมีส่วนประกอบของดินดำเป็นหลักอยู่แล้วนั่นเอง เม็ดสี ในดอกไม้ไฟเกิดจากการนำสารเคมีที่ทำให้เกิดสี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกลือของโลหะชนิดต่างๆ มาเป็นส่วนผสม โดยเมื่อเกลือของโลหะได้รับแรงระเบิดจนกลายเป็นไอ อิเล็กตรอนจะอยู่ในสภาวะตื่นตัวและเมื่ออิเล็กตรอนกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ จะมีการปลดปล่อยโฟตอนที่มีความยาวคลื่นต่างๆกันซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของสารที่ใส่เข้าไปจึงทำให้เห็นเป็นสีสันต่างกัน สำหรับสารประกอบที่นิยมนำมาใช้ทำให้เกิดสีกันมาก อาทิ สทรอนเชียมคาร์บอเนต (สูตรเคมี SrCo3) ให้สีแดง, แบเรียมคลอเรต (สูตรเคมี BaClO3) ให้สีเขียว ,คอปเปอร์ซัลเฟต(สูตรเคมี CuSo4) ให้สีฟ้า ,แคลเซียมคาร์บอเนต (สูตรเคมี CaCO3) และโซเดียมออกซาเลต(สูตรเคมี Na2C2O4)ให้สีเหลือง เป็นต้น นอกจากนี้ในเม็ดสียังต้องมีการใส่สารเชื้อเพลิง ได้แก่ กำมะถัน ผงคาร์บอน ผงโลหะ เช่น อะลูมิเนียม แมกนีเซียม และใส่สารเคมีที่ให้ออกซิเจน เช่น โปแตสเซียมเปอร์คลอเรต (KClO4 ) และโปแตสเซียมไนเตรต (KNo4) สำหรับเป็นตัวออกซิไดส์ หรือเป็นตัวให้ออกซิเจนในการเผาไม้กับเชื้อเพลิงในช่วงแรกก่อนที่พลุจะระเบิดออก ขณะที่ผงโลหะไม่เพียงเป็นเชื้อเพลิงแต่ยังช่วยให้ดอกไม้ไฟเกิดสีสันที่เข้มและเจิดจ้ากว่าเดิม ด้วยเหตุนี้เทคนิคการทำดอกไม้ไฟที่สำคัญจึงอยู่ที่การเลือกใช้สารสี สารเชื้อเพลิง สารเคมีให้ออกซิเจน มาผสมกันอยู่ในอัตราส่วนที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นสูตรเฉพาะของช่างทำดอกไม้ไฟที่ได้ผ่านการคิดค้นและทดลองมาเป็นอย่างดี ทั้งนี้เมื่อได้สูตรสารเคมีที่เหมาะสมแล้ว ช่างทำดอกไม้ไฟจะนำสารเคมีมาผสมอย่างระมัดระวัง และนำเข้าเครื่องปั๊มให้ออกมาเป็นเม็ด ที่เรียกว่า เม็ดสี หรือ เม็ดดาว จากนั้นนำไปคลุกดินเคลือบเม็ดสี ซึ่งเป็นดินฝุ่นที่ให้ความร้อนสูง เกิดการไหม้เร็ว และนำไปตากแดดให้แห้ง เมื่อเม็ดสีแห้ง ช่างทำดอกไม้ไฟจะนำเม็ดสีที่มีสีต่างๆมาเรียงลงในเปลือกพลุ ที่ทำจากกระดาษอัดเป็นรูปครึ่งวงกลม ซึ่งการเรียงเม็ดสีนี้เองคือจุดสำคัญที่จะทำให้ดอกไม้ไฟออกมาเป็นรูปต่างๆ เช่น ดาว ดอกไม้ เป็นต้น หลังจากเรียงเม็ดสีเสร็จ ก็จะใส่ดินขยายการระเบิดบริเวณตรงกลางให้เต็ม แล้วนำเปลือกพลุ 2 ซีกที่เป็นครึ่งวงกลมมาประกบกัน โดยเปลือกพลุซีกหนึ่งจะเจาะรูใส่ชนวนถ่วงเอาไว้ ปิดรอยต่อให้แน่นด้วยเทปกาว แล้วทำการติดหูพลุไว้ด้านตรงข้ามกับชนวนถ่วง เพื่อให้ง่ายต่อการใส่ลงกระบอกยิงพลุ เพียงเท่านี้ก็จะได้ดอกไม้ไฟ 1 ลูก นับได้ว่าเป็นองค์ความรู้สำคัญที่ได้ผ่านการคิดค้น ลองผิดลองถูกมาอย่างยาวนาน จนทำให้ดอกไม้ไฟในยุคปัจจุบันมีความตระการตาและงดงามมากกว่าในอดีต อย่างไรก็ดีสำหรับการเล่นในดอกไม้ไฟประเพณีลอยกระทงครั้งนี้ ก็ควรเล่นอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ควรเล่นดอกไม้ไฟที่อันตราย มีความรุนแรง และควรเล่นในสถานที่มีการจัดไว้ ไม่ควรเล่นในแหล่งชุมชน ในเรือ เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและคนรอบข้างด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ส่วนงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461-1462 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1482 e-mail : thaismc@nstda.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ