ปัญหาน้ำมัน ดอกเบี้ย การเมืองรุมเร้า ส่งผลดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 49 ลดลงต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Thursday July 27, 2006 15:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--ส.อ.ท.
ปัญหาน้ำมัน ดอกเบี้ย การเมืองรุมเร้า ส่งผลดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 49 ลดลงต่อเนื่อง เสนอรัฐหามาตรการเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขัน สนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี สร้างเสถียรภาพการเมือง เพื่อฟื้นฟูความ เชื่อมั่นของผู้ประกอบการ
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมิถุนายน 2549 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 500 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 87.9 จาก 94.3 ในเดือนพฤษภาคม 2549 ที่ผ่านมา โดยค่าดัชนีที่ได้มีค่าต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่สามติดต่อกันนับจากเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก ทั้งนี้ สำหรับสาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง เนื่องมาจากค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้คำนวณทุกปัจจัยปรับตัวลดลง ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย และปริมาณการผลิต ปรับตัวลดลงจาก 107.1 104.0 และ 110.9 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 100.4 101.4 และ 108.0 ในเดือนมิถุนายน ตามลำดับ เช่นเดียวกับ ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของต้นทุนการประกอบการ และ ผลการประกอบการ ปรับตัวลดลงจาก 54.6 และ 101.8 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 51.3 และ 95.6 ในเดือนมิถุนายน ตามลำดับ
ทั้งนี้ สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผลการสำรวจค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง เนื่องมาจากในช่วงเดือนมิถุนายนที่มีการสำรวจ สถานการณ์ราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชนในประเทศที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ในขณะที่ไม่สามารถปรับราคาเพิ่มขึ้นได้ เพราะภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในแต่ละอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ จึงส่งผลให้ผลการประกอบการลดลง ตลอดจนปัจจัยเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองที่มีปัญหายืดเยื้อ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า ต้องการให้ ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด้านมาตรการลดผลกระทบจากต้นทุนค่าขนส่ง มาตรการภาษี และการสนับสนุนการพัฒนาแรงงานมีฝีมือ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ทั้งด้านการเงิน เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างแท้จริง และส่งเสริมด้านการขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ เพื่อกระจายสินค้าสู่ตลาดโลกให้มากขึ้น ตลอดจนสร้างเสถียรภาพทางการเมืองโดยเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
เมื่อพิจารณาค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในแต่ละปัจจัยที่เหลือของเดือนมิถุนายน 2549 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับค่าดัชนีหลัก คือ ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายในประเทศ และ ยอดขายในต่างประเทศ ลดลงจาก 97.3 118.2 97.6 และ 119.9 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 93.9 108.6 96.9 และ 110.2 ในเดือนมิถุนายน ตามลำดับ ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของราคาขาย การจ้างงาน การใช้กำลังการผลิต และ การลงทุนของกิจการ ลดลงจาก 135.0 107.2 124.9 และ 111.0 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 130.2 104.7 118.9 และ 107.9 ในเดือนมิถุนายน ตามลำดับ เช่นเดียวกับค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของความสามารถในการแข่งขัน สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และ สภาวะของการประกอบการของกิจการ ลดลงจาก 101.8 96.1 110.6 และ 105.9 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 98.1 86.2 93.0 และ 93.0 ในเดือนมิถุนายน ตามลำดับ สำหรับดัชนีที่มีค่าปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของสินค้าคงเหลือ สินเชื่อในการประกอบการ และสภาพคล่องของกิจการ เพิ่มขึ้นจาก 116.0 102.1 และ 86.8 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 117.8 102.8 และ 89.0 ในเดือนมิถุนายน ตามลำดับ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมากที่สุดในอีก 3 เดือนข้างหน้า คือ ราคาน้ำมัน รองลงมา คือ ราคาสาธารณูปโภค สภาวะเศรษฐกิจโลก การเมืองภายในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตามลำดับ
สำหรับค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนพฤษภาคมกับเดือนมิถุนายน 2549 โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ จำนวน 35 กลุ่ม พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรม 26 กลุ่ม มีค่าดัชนีต่ำกว่า 100 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในการประกอบธุรกิจในระดับที่ไม่ดีนัก และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า มีอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีปรับตัวลดลง 22 กลุ่มอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 13 กลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมี 12 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ลดลงจาก 69.8 เป็น 57.5 อุตสาหกรรมเคมี ลดลงจาก 91.6 เป็น 81.1 อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ลดลงจาก 120.5 เป็น 95.8 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ลดลงจาก 103.7 เป็น 75.5 อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ลดลงจาก 99.0 เป็น 75.7 อุตสาหกรรมพลาสติก ลดลงจาก109.6 เป็น 75.2 อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ลดลงจาก 90.8 เป็น 72.6 อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น ลดลงจาก 94.5 เป็น 71.5 อุตสาหกรรมยานยนต์ ลดลงจาก 112.2 เป็น 53.4 อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง ลดลงจาก 102.7 เป็น 87.5 อุตสาหกรรมเหล็ก ลดลงจาก 88.8 เป็น 66.7 และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ลดลงจาก 128.3 เป็น 82.0 ในทางกลับกันมี 7 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เพิ่มขึ้นจาก 69.0 เป็น 94.0 อุตสาหกรรมแก้วและกระจก เพิ่มขึ้นจาก 93.3 เป็น 120.4 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เพิ่มขึ้นจาก 104.5 เป็น 116.1 อุตสาหกรรมยา เพิ่มขึ้นจาก 77.6 เป็น 120.9 อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นจาก 80.0 เป็น 100.0 อุตสาหกรรมการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ เพิ่มขึ้นจาก 83.5 เป็น 115.9 และอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า เพิ่มขึ้นจาก 84.9 เป็น 132.5
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้ง 3 ขนาด ได้แก่ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 - 49 คน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 - 199 คน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมลดลงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 โดยมีค่าดัชนีลดลงจาก 85.2 89.4 และ 106.9 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 80.7 88.8 และ 96.3 ในเดือนมิถุนายน ตามลำดับ
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมแยกตามภูมิภาค พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคกลาง และภาคเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีลดลงจาก 92.2 และ 99.1 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 83.9 และ 87.1 ในเดือนมิถุนายน ตามลำดับ ขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 77.2 103.7 และ 94.2 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 86.7 105.8 และ 94.7 ในเดือนมิถุนายน ตามลำดับ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1013 โทรสาร 0-2345-1296-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ