รีสอร์ท-สารเคมี วิกฤติประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Monday November 24, 2008 12:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--ม.เกษตรศาสตร์ ม. เกษตรศาสตร์ แนะหน่วยงานรัฐเร่งสำรวจและสร้างฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ต้องลดการปรับเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นที่พักหรือรีสอร์ท ลดการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลง เพราะพบว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกำลังกลายเป็นวิกฤติ ซึ่งในอนาคตสิ่งมีชีวิตอาจสูญพันธุ์ไปอย่างรวดเร็วกว่าที่คาด ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และให้ความสำคัญทางด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง แต่จากปัญหาภัยคุกคามจากปัจจัยต่าง ๆ รวมไปถึงประสบปัญหาขาดแคลนการสนับสนุนในการศึกษาสำรวจอนุกรมวิธาน และยังไม่มีรูปแบบการสำรวจและการจัดทำฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นระบบที่จะนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายและมาตรการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม จากการประชุมสุดยอดของโลกว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World summit on sustainable development) ในปี 2545 ได้กำหนดให้ประชาคมโลกช่วยกันลดอัตราการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพลงให้ได้ภายในปี 2553 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การดำเนินการของศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบทำการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่วิกฤติทางความหลากหลายทางชีวภาพของจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานีขึ้น ประกอบด้วย 4 ระบบนิเวศหลัก ได้แก่ ระบบนิเวศแหล่งน้ำในแผ่นดิน ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ระบบนิเวศเกาะ และระบบนิเวศเกษตร ซึ่งต้องทำการติดตามตรวจสอบสถานภาพของสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น สิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคาม และสถานภาพอื่น ๆ ที่อยู่ในทะเบียนชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย (Thailand red data) ตลอดจนจัดทำระบบฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ สำหรับพื้นที่เป้าหมายประกอบด้วย 1) พื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา (คลองท่าแซะและคลองรับร่อ) และลุ่มน้ำตาปี (แม่น้ำตาปีและแม่น้ำพุมดวง) 2) บริเวณปากอ่าวทุ่งคา-สวี และอ่าวสุราษฏร์ธานี 3) หมู่เกาะเต่า เกาะสมุย และเกาะแตน และ 4) พื้นที่เกษตรอำเภอท่าแซะและหลังสวน จังหวัดชุมพร อำเภอพุนพินและนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดร. นิคม แหลมสัก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เหตุผลที่เลือกพื้นที่ของจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ศึกษา เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีความต่อเนื่องของระบบนิเวศที่ชัดเจนตั้งแต่ระบบนิเวศแหล่งน้ำในแผ่นดิน จากพื้นที่ต้นน้ำลำธารจนกระทั่งถึงปากแม่น้ำและเชื่อมต่อกับระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงระบบนิเวศเกาะ ในพื้นที่ยังเป็นแหล่งของระบบนิเวศเกษตรที่สำคัญหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวกำลังถูกคุกคามจากกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นที่พักหรือรีสอร์ท การใช้สารเคมีในการกำจัดแมลง การนำสายพันธุ์พืชหรือสัตว์เข้าไปใช้ในระบบเกษตร และโครงการพัฒนาต่าง ๆ เป็นต้น ผลจากการดำเนินงานในครั้งนี้คาดว่า จะสามารถรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อใช้ในการดำเนินงานคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพเชิงพื้นที่ได้ และเป็นการพัฒนาฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพเผยแพร่ในกลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร (clearing —house mechanism; CHM) เพื่อการใช้ประโยชน์ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป นอกจากนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขและป้องกันการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ โดยเฉพาะชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น และชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการคุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัย เนื่องจากขณะนี้พบว่า สิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้วประมาณ 5 — 25 เปอร์เซ็นต์ ของสิ่งมีชีวิตทั้งมวลบนโลกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตร้อนของโลกที่ได้มีการทำลายป่าไม้ลงเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งนอกจากเป็นการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาสภาวะแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิตอีกด้วย รวมถึงปัจจัยของอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องจากสภาวะโลกร้อน (global warming) ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้างทั่วโลก จนคาดว่าในอนาคตสิ่งมีชีวิตอาจสูญพันธุ์ไปอย่างรวดเร็วกว่าที่คิด ประมาณ 1,000 — 10,000 เท่าของอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นทุนทางธรรมชาติ และให้ความสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจังเพื่อนำมาสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและลดผลกระทบจากการสูญเสีย และการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตให้น้อยลง สมดังเจตนารมณ์ของประชาคมโลกตามเป้าหมาย ปี 2010 เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ ให้คน สัตว์ และทรัพยากรธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสมสมดุลต่อไป ผู้ส่ง : ม.เกษตรศาสตร์ เบอร์โทรศัพท์ : 086-977-6056

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ