สสส. ชวน พ่อ-แม่-เด็ก-ครู สานรักบ้านและโรงเรียน ค้นหา “ทุกข์” สร้าง “สุข” เพื่อครอบครัวไทยเข้มแข็ง

ข่าวทั่วไป Friday November 28, 2008 09:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--สสส. ครอบครัวเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กและเยาวชนผู้ที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต หากครอบครัวขาดความอบอุ่น ขาดความรักและการดูแลเอาใจใส่ ก็จะส่งผลต่อพฤติกรรมต่างๆ ของเด็กในทางที่ไม่ดีที่จะติดตัวไปจนโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับครอบครัวในสังคมไทยปัจจุบันจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน “โครงการพัฒนาเครือข่ายครอบครัวสุขภาวะในโรงเรียน” ซึ่งเป็นแนวคิดและองค์ความรู้ของ “มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว” โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเกิดขึ้นมาสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวไทย นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะครอบครัว สสส. เผยว่าถึงการแก้ปัญหาความสุขและความอบอุ่นในครอบครัวที่ลดลงอย่างน่าเป็นห่วงในปัจจุบันว่า “เราต้องกระตุ้นให้คนในสังคมออกมาสร้างกระบวนการเรียนรู้ ในการส่งเสริมครอบครัวด้วยตัวเอง เพราะครอบครัวกำลังเป็นบ่อเกิดของทุกข์และปัญหาต่างๆ ในสังคมปัจจุบัน ซึ่งพฤติกรรมต่างๆของเด็กเกิดขึ้นจากการเลี้ยงดู และสั่งสมจากครอบครัว หากเขาได้รับการเลี้ยงดูอย่างไรก็จะมีการเรียนรู้อย่างนั้น ดังนั้นเด็กที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีจะต้องมีพื้นฐานครอบครัวที่แข็งแรง” จังหวัดลำปางเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายครอบครัวสุขภาวะในโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยมีคณะครูจากโรงเรียนนำร่อง 5 โรงประกอบไปด้วย โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย, ห้างฉัตรวิทยา, ปงแสนทอง, ผดุงวิทย์(วัดศรีบุญเรือง) และโรงเรียนแม่ก๋งวิทยา ร่วมกันจัดเวทีกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ปกครอง เด็ก และครู ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อกันในทางที่ดีขึ้น สร้างความผูกพันและอบอุ่นในระหว่างผู้ปกครองและลูกให้กับคืนมาอีกครั้ง นางอักษรา ศิลป์สุข หัวหน้าโครงการพัฒนาเครือข่ายครอบครัวสุขภาวะในโรงเรียน จังหวัดลำปาง และครูชำนาญการจาก โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย กล่าวว่าที่ผ่านมาเราได้จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง ผู้ปกครอง ครู และเด็กนักเรียนผ่านกิจกรรม “สานรักบ้านและโรงเรียน” มาแล้วถึง 32 ครั้งมีครอบครัวที่เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 1,000 ครอบครัว “เวทีนี้เป็นการจัดกิจกรรมเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมทั้งพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ลูก และครู โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว ระหว่างครอบครัวกับโรงเรียน และครอบครัวอื่นๆ โดยร่วมกันค้นหาความทุกข์ และความสุขของครอบครัว ด้วยกระบวนการกลุ่มโดยแบ่งเป็นกลุ่มพ่อแม่ และกลุ่มลูก ซึ่งทำให้พ่อแม่เข้าใจปัญหาและได้รู้ว่าสิ่งที่ลูกๆ ต้องการมากที่สุดคือความรัก ความอบอุ่น และกำลังใจจากพ่อและแม่ ในทางกลับกันลูกๆ ก็จะเข้าใจพ่อและแม่มากยิ่งขึ้น เข้าใจในปัญหาของครอบครัวและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา นอกจากนี้พ่อ แม่ ลูก และครูยังได้ตระหนักถึงการที่จะต้องปรับปรุงตัวเองในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาตนเองและครอบครัวให้มีความอบอุ่นเข้มแข็ง” คุณครูอักษรากล่าว พระมหาสุทิน สุทิโน ผู้จัดการโรงเรียนผดุงวิทย์เผยว่าปัญหาครอบครัวส่วนใหญ่ที่พบคือพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูกเพราะทุกคนต้องปากกัดตีนถีบเพื่อเอาตัวรอด เมื่อนำพ่อแม่มาร่วมกิจกรรมกันภายในโรงเรียนได้ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี ด้าน ครูอรชร พรศิริ และ ครูสิทธิ สะมิระสุทธ์ จากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ต่างก็เห็นประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายได้รับเหมือนๆกันว่า จะได้ผู้ปกครองที่เข้าใจลูก ช่วยให้การสื่อสารระหว่างครู ผู้ปกครอง และเด็กเพิ่มขึ้น ทุกฝ่ายกล้าคุยปรึกษาและเปิดใจถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็ก สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการสื่อสารระหว่างพ่อ แม่ เด็ก และครู ดีขึ้น นอกจากนี้ครูก็จะเข้าใจพื้นฐานและปัญหาของเด็กแต่ละคน และช่วยแก้ปัญหาได้ดีขึ้น “กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมทำให้เกิดการสื่อสารพูดคุย ครูก็เห็นว่าพ่อแม่คิดอย่างไร ลูกคิดอย่างไร พอจบเวทีครูก็เริ่มเข้าใจนักเรียนมากขึ้น พ่อแม่เองก็กล้าคุยกับครูมากขึ้น สิ่งที่เราได้พบคล้ายกันหมดคือแม้กระทั่งเด็กที่เรียนเก่งเองก็มีปัญหาเหมือนกับเด็กที่เรียนไม่เก่ง แต่เด็กแทบไม่มีโอกาสได้คุยกับพ่อแม่เลย” ครูธีระพร ทองรอบ จากโรงเรียนห้างฉัตรวิทยากล่าวผลที่ได้จากกิจกรรมสานรักบ้านและโรงเรียน นายสัมฤทธิ์ รินทร์ศรี คุณพ่อของ ด.ญ.ธมลวรรณ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยเล่าว่า การเข้าร่วมกิจกรรมทำให้เห็นว่าความคิดพ่อแม่ ความคิดของครู ความคิดของลูก นั้นมันไปกันคนละทาง กิจกรรมนี้จะช่วยจูนแนวทางของทุกฝ่ายให้เข้าหากันทำให้รู้ว่าทุกคนคิดกันอย่างไรหลอมสามส่วนนี้ให้ไปสูจุดมุ่งหมายเดียวกัน “ตอนนี้ลูกก็ปรับตัวเข้ามาหาเรามากขึ้น เข้าใจหน้าที่ตัวเองมากขึ้น เข้าใจพ่อแม่มากขึ้น เราก็เข้าใจวิธีการคิดของเรามากขึ้น เขาเองก็เปิดใจยอมรับความคิดเห็นของพ่อแม่มากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กมากที่สุดก็คือ เด็กมีเหตุผลมากขึ้นจากการที่เขาได้รู้ว่าทุกๆ สิ่งที่เราทำนั้นเราทำเพื่อตัวลูกทั้งหมด” คุณสัมฤทธิ์กล่าว ด.ช.ภานุพงษ์ เมฆศิริ, ด.ญ.ธมลวรรณ รินทร์ศรี และด.ญ.ณัฐญานัญ ฮะตระกูล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย และ น.ส.พรกมล ฉัตรแก้ว, น.ส.อัมพร จอมคำ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนห้างฉัตรวิทยา ต่างก็เห็นถึงสิ่งที่พวกเขาได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมเหมือนๆ กันคือ ความกล้าที่จะแสดงออก กล้าที่พูด กล้าคุย กล้าปรึกษาปัญหาต่างๆ กับพ่อแม่และครูมากยิ่งขึ้น ด้านพ่อแม่และครูก็มีความเข้าใจในตัวลูก และรับฟังความคิดเห็นของพวกเขามากขึ้น ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน “พอมาร่วมกิจกรรมก็ทำให้พ่อแม่และตัวเราเองรู้ว่าเราต่างคนก็คิดไปเองกันคนละทาง ก็เลยเข้าใจกันมากขึ้นคุยกันได้ทุกเรื่อง สามารถที่จะแสดงออกถึงความรู้สึกจริงๆ ได้ กล้าที่จะพูดกับคุณพ่อคุณแม่ด้วยเหตุผล” น.ส.พรกมล จากโรงเรียนห้างฉัตรกล่าว “ในปีหน้าแผนงานฯ จะมุ่งไปสู่เด็กและเยาวชนมากขึ้น โดยเราจะต้องกระตุ้นให้คนในสังคมช่วยกันออกมาสร้างกระบวนการเรียนรู้ ในการส่งเสริมครอบครัวด้วยตัวของเค้าเอง ทำให้เค้ารู้สึกได้ และเข้าถึงตรงนั้นให้ได้ ซึ่งการแก้ปัญหาสุขภาวะครอบครัวจะต้องทำด้วยการการหยุดความทุกข์และการสร้างความสุข 8 ข้อ คือ หยุดอบายมุข หยุดนอกใจ หยุดใช้ความรุนแรง หยุดภาวะหนี้สิน และสร้างความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน สร้างและกระตุ้นให้เห็นว่าครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด สร้างและกระตุ้นให้มีการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว และสร้างให้เกิดการสื่อสารที่ดีระหว่างกันและกันของสมาชิกในครอบครัว” นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะครอบครัว สสส. กล่าวสรุป. ผู้ส่ง : Punnda เบอร์โทรศัพท์ : 0813580687

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ