“ถนนเด็กเดิน” เพื่อเมืองน่าอยู่สำหรับเยาวชน ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนไทยสู่ “สังคมคุณภาพ”

ข่าวทั่วไป Friday November 28, 2008 11:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--สสส. สถาบันรามจิตติ จับมือ สสส. และ ม.ราชภัฎมหาสารคาม สร้างถนนเด็กเดิน ตามยุทธศาสตร์เมืองน่าอยู่ หวังพัฒนาจังหวัดมหาสารคามเป็นเมืองต้นแบบน่าอยู่สำหรับเด็กและเยาวชน สถาบันรามจิตติ และมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกันแสวงหาแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างสังคมที่ดีสำหรับเด็กและเยาวชน โดยจัดกิจกรรม “ถนนเด็กเดิน” ขึ้นทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน ณ ถนนบริเวณตลาดไนท์บาร์ซา จังหวัดมหาสารคามเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้มาแสดงออกในสิ่งที่เป็นตัวของตัวเองในทุกๆ ด้าน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้จัดการสถาบันรามจิตติ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การสร้างเมืองน่าอยู่เกิดขึ้นมาจากฐานความคิดในเรื่องปัญหาเด็กและเยาวชนที่มีความซับซ้อนซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างบูรณาการ จึงได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาเมืองน่าอยู่สำหรับเยาวชนขึ้นมา ซึ่งประกอบไปด้วยการพัฒนาด้านความปลอดภัย, สุขภาพ, ครอบครัว, การเรียนรู้, สิทธิเด็ก, พื้นที่สร้างสรรค์ และการมีส่วนร่วม ดร.สมบัติ ฤทธิเดช หัวหน้าทีมวิจัยโครงการ Child Watch ระบุว่า ปัญหาของเด็กและเยาวชนในภาคอีสานคือ สื่อสมัยใหม่ที่มีความรุนแรง ครอบครัวอ่อนแอ ห่างเหินกับสถาบันศาสนา กระแสบริโภคนิยม ปัญหาเรื่องเพศ อยากรวยทางลัด และใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา “เยาวชนในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบกับปัญหาเหล่านี้สูงถึง 25-30% เราจึงมียุทธศาสตร์ของจังหวัดขึ้นมาที่เรียกว่าขจัดร้าย-ขยายดี โดยเฉพาะในเรื่องของการขยายดีด้วยการสร้างพื้นที่ดีมีคุณภาพที่สามารถทำได้ก่อนเป็นอันดับแรก จึงเป็นที่มาของโครงการถนนเด็กเดินในปี 2549 เพื่อเป็นเวทีให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกและรวมตัวทำกิจกรรมต่างๆ อย่างสร้างสรรค์และกันตัวเองออกจากพื้นที่เสี่ยงและความเสี่ยงต่างๆ” อ.สมบัติกล่าว “ถนนเด็กเดินเป็นกิจกรรมที่สามารถตอบโจทย์ของเมืองน่าอยู่ได้เกือบครบทุกข้อเราจะพบเห็นภาพของพ่อแม่พาลูกมาวาดรูประบายสี หรือมาร่วมกิจกรรมต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของครอบครัว เด็กๆ ก็มีสิทธิ์ในการแสดงออก และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ปัจจุบันมีคนเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 1,000 คนต่อครั้ง นอกจากนี้เรายังพบว่าเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็เริ่มที่จะให้ความสนใจเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงออกถึงความสามารถของตนเองในเวทีนี้ด้วย” นายเอกชัย ธงชาย รองประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดมหาสารคาม และผู้ประสานงานโครงการถนนเด็กดิน เล่าถึงเสียงตอบรับจากเยาวชนและผู้ปกครองในจังหวัด การจัดให้เด็กและเยาวชนมีเวทีการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ผ่านโครงการถนนคนเดิน เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาและขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวไปเป็นสังคมเมืองที่น่าอยู่อย่างแท้จริง. ผู้ส่ง : Punnda เบอร์โทรศัพท์ : 0813580687

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ