ปภ.รายงานสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ ๘ จังหวัด

ข่าวทั่วไป Monday December 1, 2008 14:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่า ไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ ๘ จังหวัด รวม ๕๕ อำเภอ ๓๐๓ ตำบล ๑,๘๙๖ หมู่บ้าน ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดนราธิวาสและชุมพรคลี่คลายแล้ว ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย ๖ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี สงขลา และตรัง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากใน ๘ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี สงขลา ชุมพร และตรัง รวม ๕๕ อำเภอ ๓๐๓ ตำบล ๑,๘๙๖ ผู้เสียชีวิต ๑๙ ราย ราษฎรเดือดร้อน ๑๐๔,๒๒๒ ครัวเรือน ๓๕๕,๖๗๑ คน ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดนราธิวาสและชุมพรคลีคลายแล้ว ยังคงมีสถานการณอุทกภัย ๖ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานีนครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี สงขลา และชุมพร รวม ๓๓อำเภอ ๒๓๑ ตำบล ๑,๕๗๔ หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน ๑๐๖,๓๖๖ ครัวเรือน ๓๘๑,๑๕๕ คน โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ ๑๐ อำเภอ ๕๑ ตำบล ๓๑๓ หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง ๗ หลัง เสียหายบางส่วน ๑๑๙ หลัง สะพาน ๔๖ แห่ง ถนน ๑๔๓ สาย พื้นที่การเกษตร ๕๖,๑๒๔ ไร่ ราษฎรเดือดร้อน ๑๕,๗๕๖ ครัวเรือน ๔๑,๖๓๓ คน ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน ๒ อำเภอ ได้แก่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ และพุนพิน นครศรีธรรมราช เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ ๒๐ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช พรหมคีรี เชียรใหญ่ หัวไทร ร่อนพิบูลย์ ขนอม นบพิตำ เฉลิมพระเกียรติ ชะอวด สิชล ท่าศาลา ลานสกา ปากพนัง พิปูน พระพรหม จุฬาภรณ์ ช้างกลาง ทุ่งใหญ่ ทุ่งสง และฉวาง รวม ๑๔๒ ตำบล ๙๗๒ หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน ๗๐,๓๕๘ ครัวเรือน ๒๖๕,๗๑๐ คน ผู้เสียชีวิต ๑๓ ราย พัทลุง เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้น้ำป่าไหลเข้าท่วมพื้นที่ ๑๑ อำเภอ ๔๓ ตำบล ๒๖๗ หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต ๒ ราย ราษฎรเดือดร้อน ๑๔,๑๓๐ ครัวเรือน ๕๔,๗๘๓ คน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน ๕ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง ควนขนุน ปากพะยูน บางแก้ว และเขาชัยสน ปัตตานี เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอยะหริ่งรวม ๗ ตำบล ๒๖หมู่บ้าน สงขลา เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมพื้นที่รวม ๗ อำเภอ ๔๐ ตำบล ๒๓๑ หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน ๓๓ หลัง ถนน ๑๐๙ สาย พื้นที่การเกษตร ๕,๑๘๙ ไร่ ราษฎรเดือดร้อน ๒๐,๘๙๔ ครัวเรือน ๖๗,๕๓๑ คน ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำริมทะเลสาปสงขลา ๔ อำเภอ ได้แก่ อำเภอระโนด กระแสสินธิ์ สทิงพระ และสิงหนคร เนื่องจากน้ำระบายช้า หากไม่มีฝนตกเพิ่มคาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู๋ภาวะปกติใน ๑ สัปดาห์นี้ ส่วนที่ตรัง เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ อำเภอรัษฎา ๒ตำบล ๒๔ หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน ๓๘๐ ครัวเรือน ๑,๑๔๓ คน สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัด ประสานอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเจ้าหน้าที่ออกสำรวจความเสียหาย และระดมเครื่องจักรกล รถยนต์ เครื่องสูบน้ำ ๑๒ เครื่อง เรือท้องแบน ๓๗ ลำออกให้บริการขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของและอพยพประชาชนออกจากพื้นที่น้ำท่วม รวมทั้ง นำน้ำดื่ม ๓๒,๔๐๐ ขวด ถุงยังชีพ ๖,๕๐๐ ชุด พร้อมทั้งมอบเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๔ ประจวบคีรีขันธ์ เขต ๑๑ สุราษฎร์ธานี เขต ๑๒ สงขลา เขต ๑๘ ภูเก็ต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติ โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันที ที่เกิดเหตุภัยพิบัติ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ