การปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทย โดยบริษัท Standard & Poor’s

ข่าวทั่วไป Tuesday December 2, 2008 15:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังโดยนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้แถลงข่าวการปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทย โดยบริษัท Standard & Poor’s เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม 2551 เวลาประมาณ 15.00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดย S&P’s ได้ปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทยจากระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook) โดยยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศ (Long-term/Short-term Foreign Currency Rating) ที่ระดับ BBB+/A-2 และระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินบาท (Long — term/Short-term Local Currency Rating) ที่ระดับ A/A-1 ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. สถานะการเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิ การจัดการทางด้านการคลังอย่างระมัดระวัง และภาระหนี้สุทธิของรัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำเป็นปัจจัยสนับสนุนระดับเครดิตของประเทศไทย ความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันยังไม่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อพื้นฐานเครดิตของประเทศไทย ภาคการส่งออกที่เข้มแข็งสามารถชดเชยกับการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยยังคงรักษาสถานภาพทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของรายรับของรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่งที่ 105 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับประมาณการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ 280 พันล้านเหรียญสหรัฐ 2. อย่างไรก็ตาม การเข้ายึดครองสนามบินทั้ง 2แห่งของประเทศไทยโดยกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลส่งผลให้ความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นเหตุให้บ่อนทำลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยความเป็นไปได้ที่ความรุนแรงดังกล่าวจะแผ่ขยายเพิ่มขึ้นมีอยู่อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะเพิ่มความกดดันทางด้านลบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อประเทศไทย 3. ความเสียหายทางเศรษฐกิจคาดว่าจะยังคงยืดเยื้อต่อไป แม้ว่าสนามบินทั้ง 2 แห่งจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง โดยความเสี่ยงของประเทศไทยจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากความแตกแยกที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีความได้เปรียบในการเป็นประเทศเป้าหมายของการลงทุน แต่การใช้จ่ายในการลงทุนก็มีความเป็นไปได้ที่จะชะลอตัวลงในระยะใกล้ถึงระยะปานกลาง ทั้งนี้ การเจริญเติบโตในระยะปานกลางของประเทศไทยและฐานะการคลังของรัฐบาลคาดว่าจะเสื่อมถอยลง 4. แนวโน้มของระดับเครดิต (Rating Outlook) ของไทยซึ่งถูกปรับลดมาอยู่ในระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook) สะท้อนให้เห็นว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมาจะบ่อนทำลายโอกาสการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางของประเทศไทย นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความรุนแรงที่แผ่ขยายเป็นวงกว้างอันเนื่องจากการเข้ายึดครองสนามบินที่สำคัญทั้ง 2 แห่งของกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาล และส่งผลให้การกลับมาฟื้นตัวของเสถียรภาพทางการเมืองอย่างยั่งยืนในระยะเวลาอันใกล้มีความเป็นไปได้น้อยลง ทั้งนี้ ระดับเครดิตของประเทศไทยจะลดต่ำลง หากสถานภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ เป็นเหตุให้ฐานะทางการคลังของรัฐบาลเสื่อมถอยลงหรือคุณภาพสินทรัพย์ของรัฐบาลย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทยมีความเป็นไปได้ที่จะกลับมาอยู่ที่ระดับที่มีเสถียรภาพ(Stable Outlook) หากสามารถแก้ไขปัญหาการแบ่งแยกทางการเมืองได้อย่างสันติ อันจะส่งผลให้ความเสี่ยงของประเทศเบาบางลงและการลงทุนกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง 0-2265-8050 ต่อ 5510

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ