โครงการ “แบ่งปัน” ประสบความสำเร็จ จับคู่ร่วมแบ่งปันครบ 70 คู่แล้ว มั่นใจองค์กรยังแห่ทำดี แม้เจอปัญหาเศรษฐกิจ

ข่าวทั่วไป Tuesday December 2, 2008 17:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.-- หลังเปิดตัว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างวัฒนธรรมการแบ่งปันอย่างยั่งยืนในสังคมไทย ของผู้ให้กับผู้รับ โครงการแบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ภายใต้เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประสบความสำเร็จ ในการจับคู่ความดีระหว่างองค์กรภาคธุรกิจกับองค์กรภาคสังคม ซึ่งในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา สามารถจับคู่ความดีแล้ว ได้แล้วรวม 70 คู่ ประธานโครงการฯ ชี้แม้มีปัญหาเศรษฐกิจ แต่มั่นใจองค์กรยังแห่ทำดี โดยเฉพาะปัจจุบันที่องค์กรต่างๆ ต่าง มีความตื่นตัวประกาศนโยบาย และทำกิจกรรมที่แสดงถึงการเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม นายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ประธานกรรมการโครงการแบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน เปิดเผยว่า จากความตื่นตัวขององค์กรต่างๆ เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม และความตื่นตัวในเรื่องการให้อย่างมีกลยุทธ์ของสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้การดำเนินงานของโครงการแบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ซึ่งมีพันธกิจหลักในการจับคู่แบ่งปันระหว่างองค์กรธุรกิจและองค์กรภาคสังคม ให้ได้ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อม ประสบความสำเร็จ โดยสามารถจับคู่แบ่งปันได้ทั้งหมดรวม 70 คู่ โดย 29 คู่แบ่งปัน ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาทิ โครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตพนักงานและครอบครัว ที่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ได้ร่วมกับ บริษัท เน็กซ์ โปรดักส์ จำกัด จัดกิจกรรมให้ความรู้พนักงานการเลี้ยงลูก โครงการละครสั้นเสริมสร้างจิตอาสาให้เยาวชน ที่มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากศศินทร์ ไปแสดงละครกระตุ้นให้เยาวชนไทยในโรงเรียนต่างๆ ขณะที่มีจำนวน 34 คู่แบ่งปัน อยู่ระหว่างการดำเนินการกิจกรรม ร่วมกัน อาทิ โครงการปรับปรุงลิฟท์สำหรับคนพิการ ที่ บริษัทโอทิส เอเลเอเทอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ตกลงที่จะปรับปรุงลิฟท์ให้มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ โครงการจัดตั้ง Call Center สำหรับผู้พิการ ที่บริษัทล็อกเลย์ เทรดดิ้ง จำกัด ทำร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนพิการ จังหวัดนนทบุรี เพื่อพัฒนาศักยภาพ และหาอาชีพ Call Centerให้ผู้พิการ พร้อมรับสมัครเข้าทำงานด้วย “จากการลงพื้นที่ ศึกษาความต้องการขององค์กรภาคสังคม และภาคธุรกิจ ทำให้เราสามารถนำทั้ง ผู้ให้ และผู้รับ ไปถึงจุดแตะ (Touching Point) ที่เป็นจุดร่วมแห่งการแบ่งปันที่ลงตัว คือโครงการที่ทำอยู่บนพื้นฐานของความต้องการที่แท้จริงขององค์กรภาคสังคม และอยู่ความสนใจของภาคธุรกิจ ซึ่งเมื่อมาจับคู่แบ่งปันกันก็สามารถสร้างคุณค่า ให้กับสังคม สิ่งแวดล้อมได้อย่างคุ้มค่า ในขณะที่ทั้งสองฝาย และผู้ได้รับผลจากการาแบ่งปัน สามารถสัมผัสคุณค่าของการแบ่งปันได้อย่างชัดเจน ซึ่งตราบใด ที่รูปแบบการช่วยเหลือ อยู่บนพื้นฐานของ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และสอดคล้องกับทิศทาง วิสัยทัศน์ ขององค์กร แล้วก็สามารถต่อยอดให้มีความต่อเนื่องยั่งยืนได้ ดังเช่น การจับคู่แบ่งปัน พาน้องๆจากสถานสงเคราะห์ต่างๆไปดูภาพยนตร์แอนมิเมชั่นส์ ที่ทางเมเจอร์ซินิเพล็กซ์ ทำร่วมกับโครงการแบ่งปัน และก็ได้มีการสานต่อการช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก” อย่างไรก็ตาม คุณสุทธิชัย ยอมรับว่า กระบวนการ กว่าจะเป็นการจับคู่แบ่งปันในแต่ละคู่นั้นใช้เวลา และขั้นตอนพอสมควร โดยหัวใจที่สำคัญก็คือ การทำความเข้าใจ และความเชื่อถือ ไว้วางใจ ซึ่ง ภายใต้การจัดทำข้อมูลที่เป็นระบบ การลงพื้นที่สำรวจความต้องการอย่างแท้จริง และการนำผู้บริหารองค์กรธุรกิจ เข้าไปสัมผัสความต้องการด้วยตนเอง การสื่อสาร และทัศคนคติที่ดีร่วมกัน ทำให้เกิดรูปแบบการให้ที่สร้างสรรค์ใหม่ๆ รวมถึงเกิดความร่วมมือในการแบ่งปันทรัพยากรอื่นๆที่ไม่ได้จำกัดแต่เพียงในเรื่องของตัวเงิน และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย สำหรับแผนการดำเนินงานของโครงการแบ่งปันฯ ในปีหน้า คุณสุทธิชัย กล่าวว่า ในด้านการจับคู่แป่งปันคาดว่าจากประสานงานให้องค์กรภาคธุรกิจ และภาคสังคม มาเจอกันอย่างต่อเนื่องแล้ว จะสามารถจับคู่แบ่งปันได้เพิ่มอีกเป็นมากกว่า 100 คู่ ซึ่งทางโครงการมีแผนที่จะพัฒนาองค์ความารู้จากการจับคู่แบ่งปัน เพื่อให้เป็นกรณีศึกษาสำหรับการทำโครงการแบ่งปันในลักษณะนี้ นอกจากนี้ก็มีแผนที่จะสื่อสารคุณค่าของการจับคู่ความดีออกสู่สาธารณชนผ่านสื่อต่างๆด้วย สำหรับในด้านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสังคม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพันธกิจของโครงการแบ่งปันนั้น จะได้มีการประสานงานกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ในการดำเนินโครงการจัดอบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการทางสังคมอีกต่อเนื่องเช่นกัน สำหรับการดำเนินโครงการการแบ่งปันในสังคมไทยปีหน้า ที่อาจจะต้องเผชิญกับอุปสรรคเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ คุณสุทธิชัย กล่าวว่า ในด้านความก้าวหน้าในการจับคู่แบ่งปันเชื่อว่าไม่มีผลกระทบ แต่อาจจะมีผลกระทบบ้างต่อกระบวนการทำงาน ที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมคิด ร่วมทำมากขึ้น เพื่อให้ผลจากการให้แต่ละครั้งคุ้มค่า และเกิดประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง “วิกฤติจะทำให้ทุกฝ่ายทำงานกันหนักขึ้น โดยจะต้องร่วมกันคิดรูปแบบการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์มากขึ้น คือทำงานให้ได้ผลมากขึ้น แต่ใช้ทรัพยากรน้อยลง และแทนที่มุ่งแบ่งปันที่ตัวเงิน ก็จะมีการแบ่งปันในรูปแบบอื่นๆ ที่อาจจะเป็นบุคลากร ผลิตภัณฑ์ เวลา องค์ความรู้ต่างๆมากขึ้น ผมเชื่อว่าจากนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ที่ขณะทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชน ต่างมีความตื่นตัว ประกาศนโยบายซีเอสอาร์อย่างจริงจัง และมีการทำกิจกรรมเพื่อแสดงถึงความเป็นคนดีของสังคมมากขึ้น โดยเห็นความสำคัญในการที่จะมีการร่วมทำงานกับองค์กรภาคสังคมมากขึ้น เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ซีเอสอาร์เป็นสิ่งจำเป็น ยิ่งเกิดปัญหาเศรษฐกิจก็ยิ่งต้องทำซีเอสอาร์ เพราะผลที่เกิดขึ้นจากทำซีเอสอาร์หมายถึงความไว้วางใจ และภูมิคุ้มกันองค์กร จะเห็นว่าความตื่นตัวนี้จะยิ่งทำให้เรามีโอกาสจับคู่แบ่งปันระหว่างองค์กรต่างๆได้มากขึ้น โดยขณะนี้เราได้รับการยืนยันจากคู่แบ่งปันที่กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินกิจกรรมร่วมกันว่า ยังคงเดินหน้าทุกโครงการ ในขณะที่มีองค์กรธุรกิจหลายแห่ง ขอรายละเอียดกิจกรรมใหม่ ๆ ไป ศึกษาเพื่อการตัดสินใจให้การสนับสนุนเพิ่มเติม” นายสุทธิชัยกล่าว โครงการ“แบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” เริ่มดำเนินการมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยมีเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social Venture Network: SVN) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำหน้าที่เชื่อมโยง องค์กรภาคสังคม ที่ทำงานโดยไม่หวังผลกำไร กับองค์กรภาคธุรกิจ เพื่อทำงานพัฒนาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน สำหรับองค์กรที่ต้องการร่วมเป็นหนึ่งในคู่แบ่งปัน ติดต่อ โครงการแบ่งปันได้ที่ 02-978-3300 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ พิมพร ศิริวรรณ (จูน) 081 928 2808 ณัชชา โกมลวัจนะ (เอ) 081 616 1288 นันทยา เตียเฮี้ยว (นุ้ย) 085 098 7605 ประชาสัมพันธ์โครงการแบ่งปัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ