บทความ ฝายแม้ว: อุดมการณ์ที่ควรสานต่อ

ข่าวทั่วไป Monday December 8, 2008 15:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--มูลนิธิกระจกเงา โดย โครงการจัดการภัยพิบัติภาคประชาชน มูลนิธิกระจกเงา แรงกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลต่อสภาวะความเป็นอยู่ของประชาชน โครงการฝายต้นน้ำแบบผสมผสานจึงเป็นหนึ่งในหนทางแก้ไขปัญหาตามพระราชเสาวนีย์ขอ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในเรื่องการอนุรักษ์ป่าและน้ำซึ่งมุ่งเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดิน ฟื้นฟูสภาพต้นน้ำลำธาร และสร้างระบบการควบคุมไฟป่าด้วยแนวป้องกันไฟป่าเปียก โดยฝายดังกล่าวเป็นการหลอมรวมลักษณะต่างๆ ตั้งแต่การทำฝายแบบผสมผสาน ฝายต้นแบบกึ่งถาวร และฝายต้นแบบถาวร ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูสภาพป่าไม้บริเวณต้นน้ำลำธาร ฝายแม้ว คือฝายขนาดเล็กที่สร้างกั้นลำน้ำเล็กๆ ในแหล่งต้นน้ำสูงสุด ตั้งแต่ยอดดอยเรื่อยลงมาตลอดเส้นทางน้ำ เพื่อชะลอความแรงและกักเก็บน้ำไว้ ที่ผ่านมามีการประยุกต์ภูมิปัญญาของชาวบ้าน โดยการใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ หิน ฯลฯ ผสานกับความรู้ดั้งเดิม ทำให้ดินทรายไหลผ่านออกไปได้ รวมถึงปลาและสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่เคยเดินทางขึ้นล่องตามสายน้ำไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ปัจจุบัน แรงผลักดันจากภาครัฐและเอกชนได้มีส่วนเกื้อหนุนในการสร้างฝาย ผ่านรูปแบบการสนับสนุนงบประมาณและมีส่วนร่วมดำเนินการก่อสร้างฝายโดยตรง ทั้งมูลนิธิ องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน นักวิชาการ หรือบริษัทต่างๆ อาทิ มูลนิธิโลกสีเขียว เครือข่ายป่าชุมชน เป็นต้น รวมถึงการดำเนินโครงการร่วมกันของหลายหน่วยงาน เช่น โครงการ 80 พรรษา 880 ฝาย ของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา และสนองพระราชดำริของในโครงการพัฒนาต้นน้ำลำธาร สร้างชีวิตยั่งยืนให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังสร้างการตระหนักถึงความสำคัญของฝายให้แก่ประชาชน อาทิ สร้างความชุ่มชื้น คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ผืนป่า ลดความรุนแรงของกระแสน้ำหลาก เป็นแนวป้องกันไฟป่า และสร้างความยั่งยืนให้แก่วิถีชีวิตโดยรอบ ทั้งคน สัตว์ และทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้เล็งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาชาวบ้านที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างฝาย ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้จัดสรรงบประมาณ 770 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างฝายในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงคือ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ อันมีหน่วยงานย่อยในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ หน่วยจัดการต้นน้ำ ดำเนินการก่อสร้างฝายและเพาะชำหญ้าแฝกร่วมกับชาวบ้าน แต่ความไม่โปร่งใสได้กลายเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ของการดำเนินการ ดังเช่น กรณีการก่อสร้างฝายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการเปิดเผยของผู้สื่อข่าวมติชน พบว่า มีเค้าลางของความไม่ชอบมาพากลในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณที่อาจสูงเกินจริง หรือกระแสข่าวการเรียกรับผลประโยชน์ครึ่งหนึ่งของราคาก่อสร้างจากบางกลุ่มบุคคล อีกทั้ง รูปแบบฝายที่เป็นคอนกรีตจะสร้างทับฝายดั้งเดิมที่สร้างจากไม้ ซึ่งสามารถปล่อยให้น้ำและสัตว์น้ำไหลผ่านไปได้ ทั้งยังไม่เกิดตะกอน การสร้างฝายคอนกรีตจะสร้างขวางลำห้วย นอกจากจะปิดตายทางน้ำไหล ซึ่งทำให้สัตว์น้ำไม่สามารถล่องผ่านได้ ยังก่อให้เกิดตะกอนบริเวณหน้าฝาย และที่สำคัญคือเกิดการกัดเซาะตลิ่งตามแนวลำห้วยและลำเหมืองของชาวบ้านในช่วงฝนตกหรือฤดูน้ำหลาก อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาความเหมาะสมทั้งด้านสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ รวมถึงความเหมาะสมกับชุมชนนั้นๆ การสร้างฝายจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรกำกับดูแลบนฐานหลักวิชาความรู้ทางวิชาการ และทำความเข้าใจในเรื่องของฝายอย่างลึกซึ้ง เพื่อคำนึงถึงวิธีการที่เหมาะสมและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น อีกประเด็นสำคัญคือกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพราะการสร้างฝายแม้วไม่ได้มีแค่มิติของการสร้างตัวฝาย ที่เอาไม้หรือหินไปกั้นลำห้วย แต่เป็นการใช้ความรู้ท้องถิ่นเชื่อมโยงกับระบบนิเวศน์ ดังนั้น ไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของรัฐบาล แต่ต้องรวมไปถึงการมอบบทบาทแก่วัฒนธรรมท้องถิ่นในการร่วมมือกันดำเนินโครงการ โครงการการสร้างฝายแม้วจึงควรมีการสานต่อการดำเนินงานเพื่อต่อยอดและสร้างสรรค์กิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม ดังต่อไปนี้ 1. สร้างการจัดการที่เหมาะสมและมีความสมเหตุสมผล ทั้งในเรื่องของงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ในการจัดทำฝาย เป็นต้น 2. ชี้แจงรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างอย่างถี่ถ้วน มีการจัดสรรงบประมาณในแต่ละพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วน รวมถึงชี้แจงตัวเลขที่จัดแบ่งไปโดยละเอียด เพื่อความโปร่งใสของโครงการและสามารถตรวจสอบได้ 3. ควรมีการสื่อสารร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน 4. มีการผสานความรู้ความคิดร่วมกันระหว่างชุมชนและหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องอาจเป็นพี่เลี้ยง และดำเนินการร่วมกับชาวบ้าน กลุ่มและองค์กรในท้องถิ่นนั้นๆ 5. หากเกิดความเข้าใจผิดหรือความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการกับชุมชนหรือหน่วยงานต่างๆ ควรมีการชี้แจงเหตุผลอย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ไขข้อข้องใจและรับรู้ตรงกัน 6. หากหน่วยงานหรือองค์กรมีความประสงค์ในการสร้างฝายแม้ว ควรมีความตั้งใจและทำด้วยความเข้าใจ ความตั้งใจที่หวังให้ชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้รับประโยชน์จากการกระทำของตนอย่างแท้จริง 7. ผู้บริหารโครงการควรตรวจสอบและใส่ใจในโครงการอย่างสม่ำเสมอ โดยหมั่นตรวจสอบและติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการ จะได้ทราบทิศทางของโครงการ ทั้งในด้านที่ควรปรับปรุงและด้านที่ควรมุ่งพิจารณา ซึ่งในส่วนนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรหันหน้าเข้าหากันเพื่อตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยสร้างบทบาทการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ให้แก่ประชาชนทุกคน ซึ่งการก่อสร้างฝายก็ถือเป็นอีกวิธีที่สามารถตอบสนองการอนุรักษ์ดินและฟื้นฟูป่า ทั้งยังส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรป่าไม้ เพราะความร่วมมือบนฐานของความเข้าใจกันจะยิ่งทำให้การดูแลและพัฒนาสิ่งแวดล้อมบรรลุผล และประโยชน์ที่ได้ก็จะเกิดกับทุกคนอย่างไม่ต้องสงสัยเลยทีเดียว สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิกระจกเงา สำนักงานกรุงเทพฯ คุณสฤษดิ์ มีตาลีป โทร 081-7359390 หรือ info@siamvolunteer.com แผนที่ http://mirror.or.th/images/map2.jpg

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ