“เหตุใดตลาดการเงินจึงมีความผันผวนสูง?” ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต เอฟ เองเกิ้ล

ข่าวทั่วไป Monday December 8, 2008 17:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--พีอาร์พีเดีย หัวใจของวิชาการเงิน (finance) คือการ Trade-off ของผลตอบแทนและความเสี่ยง ในทางปฏิบัติ ความผันผวน (Volatility) เป็นตัวชี้วัดระดับความเสี่ยง และเมื่อความผันผวนนั้นแปรเปลี่ยนตามกาลเวลา ย่อมทำให้การศึกษาวิชาการเงิน รวมทั้งการลงทุนในตลาดเงินมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น ในการปาฐกถาพิเศษนี้ ศาสตราจารย์ เองเกิ้ล จะนำเสนอวิธีต่างๆ ที่สามารถใช้วัดความเสี่ยง โดยอาศัยข้อมูลจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตลาดพันธบัตร ตลาดสินเชื่อ และอัตราแลกเปลี่ยน ศาสตราจารย์เองเกิ้ลยังจะแสดงให้ดูถึงวิธีการประยุกต์ใช้วิธีการดังกล่าวกับตลาด นอกประเทศสหรัฐฯ พร้อมกับวิพากษ์ถึงสาเหตุทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้นโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นอกจากความผันผวนในระยะสั้นข้างต้นแล้ว ศาสตราจารย์เองเกิ้ลจะกล่าวถึงความเสี่ยงในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากภูมิอากาศที่แปรเปลี่ยน ความเสี่ยงจากกองทุนบำเหน็จบำนาญในประเทศสหรัฐฯ และความเสี่ยงจากสงคราม โดยจะให้ข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่ทั้งสามารถช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ในอนาคต และเป็นประโยชน์กันสังคมในวันนี้ด้วย ศาสตราจารย์ เองเกิ้ล จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านฟิสิกส์ จาก วิลเลียม คอลเลจ และได้รับปริญญามหาบัณฑิต ด้านฟิสิกส์ และปริญญาดุษฎีบัณฑิตด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย คอร์เนล ในปี 2509 และ 2512 ตามลำดับ หลังจากจบการศึกษาในระดับปริญญาเอก โรเบิร์ต เองเกิ้ลได้ทำงานในตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัย MIT ระหว่างปี 2512 ถึง 2518 เขาได้เข้าเป็นคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่ ซาน ดิเอโก (UCSD) ในปี 2518 และได้รับการแต่งตั้งเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ UCSD ในเวลาต่อมา ปัจจุบัน ศาสตราจารย์เองเกิ้ล ยังดำรงตำแหน่งเป็น ศาตราภิชาน และ ศาสตราจารย์วิจัย ที่ UCSD อยู่ด้วย พร้อมๆ กับทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการให้กับวารสารวิชาการหลายฉบับ รวมทั้ง “Journal of Applied Econometrics” ในปี 2546 ศาสตราจารย์เองเกิ้ลได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ร่วมกับศาสตราจารย์ ไคล์ฟ แกรงเจอร์ แห่ง UCSD จากผลงานที่ร่วมกันพัฒนา วิธีการทางเศรษฐมิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจประเภทอนุกรมเวลา ที่มีความผันผวนไม่คงที่ แปรเปลี่ยนตามกาลเวลา งานวิจัยที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลนี้ เป็นผลงานที่ทำไว้ในยุคทศวรรษที่ 70 และ 80 ซึ่งเป็นความพยายามที่จะพัฒนาเทคนิคทางคณิตศาสตร์ใหม่ๆ สำหรับประเมินและพยากรณ์ความเสี่ยง ผลงานวิจัยของเขานั้นช่วยให้นักวิจัยสามารถทดสอบว่าความผันผวนในช่วงเวลาหนึ่งๆ มีความสัมพันธ์กับความผันผวนในช่วงเวลาอื่นหรือไม่และอย่างไร งานวิจัยในแนวนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อตลาดการเงิน ที่ผลตอบแทนการลงทุนในตราสารนั้นต้องถูกประเมินไปพร้อมๆ กับความเสี่ยงที่ต้องแบกรับ หากเลือกลงทุนในตราสารนั้น นอกจากนี้ผลงานวิจัยของศาสตราจารย์เองเกิ้ลนี้ยังช่วยให้ประเมินถึงความผันผวนที่เกินปกติของผลตอบแทนและราคาหุ้นได้อีกด้วย นักลงทุนในตลาดหุ้นมักประสบกับภาวะที่ราคาหุ้นเคลื่อนไหวรุนแรงสลับกับภาวะที่ราคาหุ้นเซื่องซึม สงบเงียบ ในแบบจำลอง autoregressive conditional heteroskedasticity (หรือที่รู้จักในนามแบบจำลอง ARCH) ของศาสตราจารย์ เองเกิ้ลนั้น อธิบายปรากฎการณ์ในตลาดการเงินนี้ด้วยลักษณะของความผันผวนที่ไม่ได้มีค่าคงที่ แต่กลับแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา โดยความแปรปรวน (variance) ของ random error (ซึ่งเป็นปัจจัยที่นักลงทุนไม่อาจคาดคะเนล่วงหน้าได้ อีกทั้งมิใช่ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นด้วย) ขึ้นกับค่าในอดีตของตัว error นั้น คุณูปการของศาสตราจารย์เองเกิ้ลต่อวงวิชาการนั้น มิใช่เป็นเพียงแค่การพัฒนาแนวคิดหรือแบบจำลองทางสถิติแนวใหม่เพื่อการวิเคราะห์ความผันผวนในตลาดหุ้น และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในตลาดการเงินเพื่อประโยชน์ในด้านทฤษฎีเท่านั้น แต่แนวคิดของศาสตราจารย์เองเกิ้ลและแบบจำลอง ARCH ทำให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์หุ้นในเชิงปฏิบัติ และช่วยให้นักเศรษฐศาสตร์สามารถสร้างค่าพยากรณ์ที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น อีกด้วย เครื่องมือที่ ศาสตราจารย์ได้พัฒนาขึ้นสำหรับการวิเคราะห์ความผันผวนในตลาดการเงินได้แก่ ARCH, GARCH co-integration, common features, autoregressive conditional duration (ACD), CAViaR และ dynamic conditional correlation (DCC) models งานวิจัยของ ศาสตราจารย์เองเกิ้ลรวมศูนย์อยู่ในสาขาของเศรษฐมิติการเงิน ซึ่งประยุกต์ใช้ได้กับทั้ง หุ้น อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และอนุพันธ์ออปชั่น ทุกวันนี้ศาสตราจารย์เองเกิ้ลกำลังพัฒนาวิธีการสำหรับวิเคราะห์สินทรัพย์ทั้งระบบ ความผันผวนแบบ real-time การศึกษาในแนว market microstructure และ extreme market movements ศาสตราจารย์เองเกิ้ลได้ตีพิมพ์บทความวิชาการมามากกว่า 100 บทความแล้ว รวมทั้งหนังสือวิชาการอีก 4 เล่มด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ บริษัท พีอาร์พีเดีย จำกัด ชัยวัฒน์ สิมะวัฒนา / จตุพล นาคนิ่ม / พชรวดี จุโลทัย มือถือ: 089 811 7937 / 081 689 8245 / 085 055 1473 โทรศัพท์: 02 662 0550 อีเมล์: www.prpedia.co.th กองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โทรศัพท์ : 02 697 6780-3 โทรสาร : 02 697 6786 อีเมล์ : prutcc@utcc.ac.th

แท็ก Trade  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ