iTAP สวทช. นำเทคโนโลยีกู้วิกฤตเศรษฐกิจ เน้นใช้เทคนิคลดการสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพชิ้นงาน

ข่าวทั่วไป Monday December 15, 2008 11:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--สวทช. จากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่ทรุดตัวลงอย่างหนัก ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการในทุกภาคอุตสาหกรรมต้องประสบกับปัญหานานัปการ บางรายต้องปิดกิจการลงโดยที่ไม่ทันตั้งตัว หรือต้องเลิกจ้างแรงงานบางส่วนเพื่อประคับประคองกิจการให้อยู่รอดต่อไปได้ ขณะที่บางรายกลับสามารถอยู่รอดปลอดภัยอีกทั้งมีกิจการที่เจริญก้าวหน้า นั่นเพราะผู้ประกอบการเลือกที่จะพัฒนาขีดความสามารถด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง “อุตสาหกรรมไม้” เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่น่าจับตามอง แต่กลับพบว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ในปัจจุบันกำลังประสบกับปัญหาและต้องการการสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาดแคลนวัตถุดิบประเภทไม้ การขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์การทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การขาดแคลนเทคนิคในการผลิต การขาดแคลนเทคโนโลยี และการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาศักยภาพในทุกด้านเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจและปรับตัวสู่การแข่งขันในโลกปัจจุบัน นางสาวณัฏฐ์ญดา สุวัฒน์ทองเลิศ ผู้จัดการทั่วไป หจก.บัวคำสกลนครก่อสร้าง หนึ่งในผู้ประกอบการที่ประสบผลสำเร็จในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เปิดเผยว่า หจก.บัวคำสกลนครก่อสร้าง เริ่มดำเนินธุรกิจในปี พ.ศ.2521 จากโรงไม้เล็กๆ จำหน่ายไม้แปรรูปเป็นหลัก และมีวัสดุก่อสร้างบ้างเล็กน้อย คนงานประมาณ 20 คน ซึ่งขณะนั้นธุรกิจประเภทนี้ยังมีไม่มากนัก ต่อมาธุรกิจเริ่มมีการเติบโตขึ้นจึงได้ขยายพื้นที่โรงงานออกไปเป็น 6 ไร่พร้อมกับจำนวนคนงานที่เพิ่มมากขึ้น กระทั่งในปี พ.ศ.2549 ทางโรงงานเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง จากเดิมที่เป็นเพียงแค่ซื้อมาขายไป ก็เปลี่ยนเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเอง เหตุเพราะต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งแรงงานที่เป็นช่างฝีมือในพื้นที่นับวันจะหาได้ยากขึ้น ต้องใช้ช่างฝีมือนอกพื้นที่ทำให้มีรายจ่ายสูงเป็นเงาตามตัว “การขยายโรงงานครั้งนี้เราได้ผันตัวเองมาเป็นผู้ผลิตเองทั้งบานประตู บานหน้าต่าง แต่ยังคงเป็นงานแฮนด์เมดจากช่างฝีมือเหมือนเดิม ปัญหาที่ตามมาคือชิ้นงานที่ผลิตออกมาไม่ได้มาตรฐานและคุณภาพตามที่ต้องการ ชิ้นไม้แยกตัวจากกันบ้าง การเข้าสลักของบานประตูไม่แน่น ไม้เกิดการหดตัว สาเหตุหลักมาจากเราไม่มีความรู้ ความชำนาญ ผนวกกับการขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัย ใช้เพียงประสบการณ์ที่ถ่ายทอดกันจากรุ่นสู่รุ่นเท่านั้น จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกระลอกด้วยการลงทุนซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัยจากต่างประเทศเข้ามาใช้ จนปัจจุบันเรามีเครื่องจักรถึง 60 เครื่อง ตั้งแต่เครื่องตัดไม้ เจาะ ไส ขึ้นรูป ครบวงจรที่สามารถขึ้นเป็นชิ้นงานได้ รวมไปถึงงานขัดและการเก็บรายละเอียดของชิ้นงานทั้งหมด ทำให้ชิ้นงานมีคุณภาพและได้มาตรฐานเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ศักยภาพทางด้านการผลิตก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน” ผู้จัดการทั่วไป กล่าวต่อว่า ประมาณปี 2550 หจก.บัวคำสกลนครก่อสร้าง ได้เข้าร่วมโครงการเติมเต็มขีดความสามารถผู้ประกอบการผลิต โดยมีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุนโครงการ ซึ่งมีหลากหลายหน่วยงานเข้าร่วมในโครงการนี้เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เราจึงได้รู้จักกับโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ตั้งแต่นั้นมา ขณะนั้น หจก.บัวคำสกลนครก่อสร้าง ยังต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของการปรับปรุงการอบไม้ ที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ไม้ที่อบมาแล้วแห้งไปบ้าง ชื้นไปบ้าง ทำให้เกิดความสูญเสียไม้และเชื้อเพลิงไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงสนใจที่จะพัฒนาปรับปรุงในส่วนนี้ให้ดีขึ้นจึงได้เข้าร่วมกับ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในโครงการ “การเพิ่มประสิทธิภาพในการอบไม้และการใช้เครื่องจักรงานไม้” ระยะเวลาโครงการ 1 ปี โดยทางโครงการ iTAP ได้จัดทีมผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ผลที่ได้จากการสำรวจโรงงาน ทางทีมผู้เชี่ยวชาญได้ปรับปรุงเตาอบไม้ให้มีประสิทธิภาพและสามารถอบไม้ด้วยวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ยังแนะนำเทคนิคในการใช้เครื่องจักร การคัดเลือกวัตถุดิบ การเรียงไม้อย่างถูกวิธี และการใช้อุปกรณ์จับยึดในการผลิต ส่งผลให้คนงานสามารถใช้เตาอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชิ้นงานไม้ที่ออกมามีคุณภาพดี เพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ลดความสูญเสียจากการบิด งอ ห่อ โก่งของไม้ได้ถึง 80% ประหยัดเชื้อเพลิงและเวลาในการอบไม้ ขณะที่คนงานสามารถใช้เครื่องจักรงานไม้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการเสียค่าซ่อมบำรุงปีละกว่า 2 แสนบาท สำหรับอนาคตนั้น หจก.บัวคำสกลนครก่อสร้าง จะได้ขยายการผลิตพัฒนาขึ้นไปอีกระดับด้วยการนำเศษไม้ที่เหลือใช้มาเพิ่มมูลค่าทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ โดยทำเป็นชุดโต๊ะรับประทานอาหาร เก้าอี้ โต๊ะวางคอมพิวเตอร์ โต๊ะชายหาด ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าของเศษไม้แล้วยังช่วยลดของเสียภายในโรงงานให้น้อยลงกว่า 70% อีกด้วย นางสาวณัฏฐ์ญดา กล่าวในที่สุด.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ