แนวโน้มการลงทุนในตราสารหนี้ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 17, 2008 10:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--บลจ.ธนชาต ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลกจะนำมาซึ่งการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังครั้งใหญ่ จึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยในภาพรวมอยู่ในทิศทางขาลงต่อเนื่องในระยะ 1 ปีข้างหน้าและจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำหลังจากนั้นจนกว่าจะเริ่มมีการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจขึ้น ซึ่งจะใช้เวลา 2-3 ปีจากนี้ สำหรับประเทศไทย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน มีแนวโน้มจะลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานลงอีก 0.5%-0.75% เหลือ 2.0-2.25% ภายในกลางปี 2552 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของสถาบันการเงินจะมีแนวโน้มลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายและจากการชะลอตัวของสินเชื่อตามสภาพเศรษฐกิจ ด้านตราสารหนี้ในตลาดคาดว่าจะมีหุ้นกู้เอกชนออกเสนอขายเพิ่มขึ้นเนื่องจากการกู้ยืมจากตลาดต่างประเทศทำได้ยากขึ้นและมีต้นทุนสูง ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะลดการออกพันธบัตรลงเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบการเงินและเอื้อให้รัฐบาลสามารถออกพันธบัตรเพื่อทดแทนพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินมากนัก โดยรัฐบาลน่าจะมีการออกพันธบัตรเพิ่มขึ้นเนื่องจากการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น 350,000 ล้านบาท ด้านผู้ลงทุน คาดว่าจะสนใจลงทุนในพันธบัตรเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังเป็นขาลง ประกอบกับการลงทุนในหุ้นยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก นอกจากนี้ความกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของหุ้นกู้ภาคเอกชนจะมีอยู่มาก หุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า A จะเป็นที่น่าสนใจน้อยหรือต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูงเพื่อชดเชยต่อความเสี่ยง ในปี 2008 ถือเป็นปีที่ยากสำหรับการบริหารกองทุนตราสารหนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ ดอกเบี้ย เงินเฟ้อมีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็ว จะเห็นได้จากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในไตรมาส 2 และ 3 ซึ่งนำมาซึ่งการเข้มงวดด้านนโยบายการเงินโดยมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้ง แต่ในไตรมาสที่ 4 ภาวะเงินเฟ้อกลับลดลงอย่างรวดเร็วตามภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลกรวมทั้งปัญหาทางการเมืองภายในประเทศซึ่งนำมาสู่การผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างมากอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การบริหารกองทุนตราสารหนี้ที่เป็น active funds ของ บลจ.ธนชาตกลับทำได้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก เนื่องจากผู้จัดการกองทุนได้ประเมินทิศทางดอกเบี้ยได้อย่างถูกต้องและปรับกลยุทธ์การลงทุนได้ทันต่อเหตุการณ์ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบในช่วงที่ตลาดตราสารหนี้ได้รับผลกระทบในทางลบ เช่น ในช่วงเดือน มี.ค-ก.ย. เนื่องจากได้ลด duration ของตราสารหนี้ ไปล่วงหน้าแล้ว ในขณะที่ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจมีสัญญาณถดถอยลงอย่างมากและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะเปลี่ยนทิศเป็นขาลงในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 บลจ.ธนชาต ก็คาดว่าอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะต้องลดต่ำลงทั่วโลก จึงเริ่มปรับกลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้โดยได้เพิ่ม duration ของตราสารหนี้ให้สูงขึ้นในกองทุนตราสารหนี้ที่เป็น Active funds ทุกกองทุนคือ กองทุนเปิดธีรสมบัติ (TSB) กองทุนเปิดธนชาตตราสารหนี้ (NFF) กองทุนเปิดธนสาร (TSARN) กองทุนเปิดธนชาตพันธบัตรเพื่อการเลี้ยงชีพ (NGRMF) และกองทุนเปิดธนชาตตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (NFRMF) ซึ่งการปรับกลยุทธ์การลงทุนได้ถูกจังหวะดังกล่าวทำให้ผลการดำเนินงานที่ในช่วงที่ผ่านมาของกองทุนตราสารหนี้ที่บริหารโดย บลจ. ธนชาตค่อนข้างโดดเด่น ปัจจุบัน บลจ.ธนชาต ยังคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของประเทศมีแนวโน้มลดลงต่อไปอีก แต่ไม่น่าจะลดลงอย่างรุนแรงเหมือนครั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กองทุนเปิดที่บริหารในสไตล์ active fund หมายถึงผู้จัดการกองทุนอาจจะไม่ได้ถือตราสารที่มี Duration ยาวๆเสมอไป ถ้าพิจารณาเห็นว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารปรับตัวลดลงรุนแรงเกินไปหรืออัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นขาขึ้น ก็อาจจะมีการขายทำกำไรให้กับกองทุนหรือลดการถือครองตราสารระยะยาวและเปลี่ยนไปลงทุนในตราสารระยะสั้นแทนตามจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม ดังเช่นที่ได้ปรับการลงทุนในช่วงก่อนที่ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้ผลตอบแทนในระยะยาวของกองทุนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและมีความผันผวนที่ไม่สูงเกินไป สำหรับตลาดตราสารหนี้ในต่างประเทศ ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ธนาคารกลางของประเทศยักษ์ใหญ่ต่างๆ ทั่วโลกได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาไปในทางเดียวกัน เช่นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาใกล้เคียงกัน แสดงให้เห็นถึง ความร่วมมือในการแก้ปัญหาจากวิกฤตการณ์ในระบบการเงิน และเศรษฐกิจของโลกครั้งนี้ อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจการเงินนั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำ และความรู้สึกของนักลงทุนยังคงอ่อนไหวต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น สภาวะปัจจุบันของตลาดตราสารหนี้ในต่างประเทศ คือ ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนทำให้ผู้ลงทุนถอนการลงทุนในหุ้นและการลงทุนความเสี่ยงสูงในตลาดทั่วโลก เกิดการไหลออกของเงินลงทุนอย่างรุนแรงและหันไปลงทุนในตราสารระยะสั้นของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ เพราะเชื่อว่าเป็นตราสารของประเทศที่ปลอดภัยในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ จนผลตอบแทนของ Treasury bills อายุ 3 เดือนของสหรัฐฯ ติดลบก็ยังมีผู้ลงทุน ซึ่งหลายฝ่ายคิดกันว่าตราสารระยะสั้นของรัฐบาลสหรัฐฯ แพงเกินไป หรือ overvalued การเทขายตราสารหนี้ในตลาดที่ผู้ลงทุนเห็นว่ามีความเสี่ยงมากกว่าประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เช่น ตลาดในประเทศกลุ่ม Emerging market ทำให้ตราสารหนี้ในตลาดของประเทศเหล่านี้มีราคาต่ำผิดปกติ และบางกรณีต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน เช่น ตราสารหนี้ที่รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาที่แข็งแรงและมีเสถียรภาพ ตราสารภาครัฐกลุ่มนี้ จึงมีผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศเห็นเป็นโอกาสในการลงทุน เพราะราคาถูกเนื่องจากการถูกเทขายเพื่อต้องการสภาพคล่อง ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของบางประเทศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีความแข็งแรงและมั่นคงกว่าครั้งวิกฤติเศรษฐกิจในรอบก่อน เช่น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจดีกว่า อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดหลายประเทศเกินดุล อัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ต่ำกว่า หรือมีทุนสำรองที่เข้มแข็งกว่าเดิมมาก โอกาสในการลงทุนอีกมุมหนึ่งที่ต่างประเทศพูดถึงกันมาก คือ ตราสารหนี้บริษัทเอกชนคุณภาพดี เนื่องจากผลของวิกฤติครั้งนี้ ทำให้การปล่อยกู้ของระบบสถาบันการเงินยังไม่เป็นปกติ เอกชนมีปัญหาในการกู้ยืมเงิน หุ้นกู้ของบริษัทต่างประเทศที่ออกระดมทุนใหม่ จำกัดอยู่เพียงผู้ออกหุ้นกู้ที่เป็นบริษัทคุณภาพดี และบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนโดยการออกขายหุ้นกู้ใหม่จำเป็นต้องเสนออัตราผลตอบแทนที่สูง และการเทขายหุ้นกู้เอกชนเหล่านี้เพื่อลดสัดส่วนหนี้สิน (deliberate) ของผู้ลงทุนเป็นการเพิ่ม supply ของตราสารหนี้บริษัทเอกชนเข้ามาในตลาดรองอย่างมาก เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ตราสารหนี้เอกชนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับดี ๆ (credit rating) ในตลาดรองของต่างประเทศ มีอัตราผลตอบแทนที่สูงเหนือกว่าพันธบัตรรัฐบาลอย่างมาก ในเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา Lehman Corporate Index ซึ่งเป็นดัชนีมาตรฐานของตราสารหนี้เอกชน แสดงผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ถึง 5.60% ซึ่งไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้เห็นภาวะเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม หากภาวะวิกฤติยังไม่ผ่านไปในสายตาผู้ลงทุน การพิจารณาเพียงปัจจัยพื้นฐานของหุ้นกู้เอกชนนั้นอาจจะไม่เพียงพอในยามวิกฤติ จะต้องมีปัจจัย อื่น ๆ ชี้นำว่าเป็นเวลาที่เหมาะจะลงทุนด้วย เช่น บรรยากาศของตลาดเงินในต่างประเทศกลับมากล้าให้กู้ยืมกันตามปกติ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ต้นกำเนิดของปัญหา เริ่มปรับตัวนิ่งขึ้น จนธนาคารพาณิชย์ หรือ บริษัทประกัน หันมาสนใจตลาดหุ้นกู้เอกชนอีกครั้ง ตลาดหุ้นต่างประเทศผันผวนน้อยลง เพราะตลาดหุ้นที่ผันผวน จะทำให้ผู้ลงทุนลดการลงทุนในตราสารที่คิดว่าเสี่ยง รวมถึงหุ้นกู้เอกชนด้วย มีสัญญาณว่าผู้ลงทุนหันมาสนใจหุ้นกู้เอกชนมากขึ้น เช่น ผู้ลงทุนที่เคยลงทุนในหุ้น รวมถึงสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นกู้เอกชนเหล่านี้ด้วย เพราะปัจจุบัน สถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่เคยมีบทบาทในการซื้อขายตราสารหนี้หลายแห่งต้องปิดตัวลงในช่วงวิกฤติ ทำให้สภาพคล่องของตราสารหนี้เอกชนหายไปบางส่วนด้วย จึงอาจต้องรอให้สถาบันการเงินที่เหลืออยู่และได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล เข้ามาทำหน้าที่แทน ถ้ากลไกกลับมาทำงานปกติ ผู้ลงทุนก็จะกล้าลงทุนในตราสารหนี้เอกชนเหล่านี้มากขึ้น เพราะไม่กังวลเรื่องสภาพคล่องในการซื้อขาย และหากปัจจัยเหล่านี้มาพร้อม ความสำเร็จในการลงทุนในตราสารประเภทนี้ในยุคนี้ คือ หาจังหวะเข้าลงทุนใหเหมาะและวิเคราะห์เครดิตของผู้ออกตราสารหนี้นั้นอย่างระมัดระวัง ในปี 2009 ปัจจัยบวกต่อตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ คือ อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะปรับตัวลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โอกาสในการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศในภาวะที่หลาย ๆ ประเทศยังมีแนวโน้มจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก จึงค่อนข้างน่าสนใจ และมีความได้เปรียบการลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ในประเทศไทย เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในการลงทุนมากกว่า เพราะประเทศต่างๆ มีระดับและความเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยและเศรษฐกิจต่างกันไป ผู้จัดการกองทุนจึงมีทางเลือกและมีความยืดหยุ่นมากกว่าที่จะเลือกลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศที่อัตราผลตอบแทนยังไม่สะท้อนภาวะเศรษฐกิจหรืออัตราดอกเบี้ยที่ควรจะเป็น และสามารถเลือกลงทุนหรือปรับ duration ให้เหมาะสมได้ก่อนที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศนั้น ๆ รวมถึงการมองหาช่องทางและโอกาสจากอัตราแลกเปลี่ยนของหลากหลายสกุลเงินด้วย และการที่ผู้ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศมักเป็นผู้ลงทุนระยะยาว ผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศ จึงสามารถปรับduration ให้ยาวขึ้นได้มากกว่ากองทุนในประเทศไทย ที่ผู้ลงทุนบางส่วนยังกังวลกับความผันผวนขึ้นลงของมูลค่าหน่วยลงทุนด้วย อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วกองทุนตราสารหนี้ในต่างประเทศมีความผันผวนที่สูงกว่ากองทุนตราสารหนี้ในประเทศ จากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งสามารถผันผวนได้ง่ายในระยะสั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ