วิเคราะห์สถานการณ์ธุรกิจซอฟต์แวร์ไทย ปี 2551 โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย

ข่าวเทคโนโลยี Thursday December 18, 2008 16:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--ซอฟต์แวร์พาร์ค ในรอบปี 2551 ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สังคมโลกจับจ้องไปกับเหตุการณ์สำคัญทางด้านเศรษฐกิจ และคาดเดาถึงผลกระทบที่เกิดกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทยในหลายๆ ด้าน ในส่วนของเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค ซึ่งถือเป็นองค์กรภาครัฐที่มีส่วนและบทบาทการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทยมากว่า 10 ปี ได้อาศัยประสบการณ์และความที่คลุกคลีกับอุตสาหกรรมนี้อย่างใกล้ชิด ได้ประเมินภาพรวมที่เกิดขึ้นอันเกิดจากปัจจัยหลายด้าน โดยมุ่งหวังให้เกิดการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาธุรกิจซอฟต์แวร์ของไทยที่ถูกต้องต่อไป โดยในปีนี้ได้ตั้งคำถาม 5 ข้อในการตอบคำถาม คือ 1.ปัจจัยบวกและลบในรอบปีที่ผ่านมามีอะไรบ้าง 2. การวิเคราะหจุดแข็งของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยและจุดอ่อนเพิ่มการสร้างโอกาสทางธุรกิจในรอบปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร 3. เหตุการณ์สำคัญและมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มีอะไรบ้าง 4. ธุรกิจซอฟต์แวร์ในรอบปีมีอะไรที่รุ่งเรืองและล้มเหลว และ 5. ซอฟต์แวร์พาร์คกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยในรอบปี 2551 ซึ่งคำถามทั้งหมดทางผู้บริหารและส่วนที่เกี่ยวข้องได้ระดมความคิดเห็นเฉพาะในมุมมองของซอฟต์แวร์พาร์คเท่านั้น ในส่วนที่ 1 เรื่องปัจจัยบวกและลบในรอบปี 2551 ทางซอฟต์แวร์พาร์คได้รวบรวมปัจจัยภายนอกซึ่งมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เพียงอย่างเดียว โดยได้แบ่งช่วงคะแนนความกว้างออกเป็น คะแนน -5 คือผลกระทบด้านลบที่ส่งผลรุนแรงมาก ลดหลั่นลงมา โดยมีจุดกึ่งกลางคือ 0 คะแนน คือไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ส่งผลกระทบใดๆ ไปจนถึง +5 คือมีผลกระทบทางด้านบวกมากที่สุด เริ่มจากปัจจัยที่ 1 คือ ในด้านการเมือง ซอฟต์แวร์พาร์คเห็นว่าคะแนนผลกระทบในส่วนการเมืองมีผลต่อธุรกิจซอฟต์แวร์ในปีนี้ออกมาในด้านลบ ที่คะแนน -1 เหตุผลคือ การเมืองในส่วนของรัฐบาลไม่มีความแน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงและลังเล จนส่งผลให้การขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ไม่เกิดขึ้น ซ้ำยังทำให้ขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันทางด้านซอฟต์แวร์ของประเทศตกต่ำลง ปัจจัยที่ 2 คือ เศรษฐกิจ แม้จะมีข่าวเชิงลบเรื่องเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา แต่ในส่วนของภาคซอฟต์แวร์แล้วถือว่ายังเป็นปีที่มีการขับเคลื่อนที่ดีอยู่ การเติบโตและการได้งานของธุรกิจซอฟต์แวร์ในประเทศไทยยังมีต่อเนื่อง ไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด ซึ่งความจริงปัจจัยด้านนี้ควรจะส่งผลบวกบ้างเล็กน้อย เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีความต้องการใช้ซอฟต์แวร์ที่สูงขึ้น แต่สภาวการณ์ที่เกิดข่าวเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทำให้เกิดความระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย ส่งผลต่อจิตวิทยาการใช้ซอฟต์แวร์เช่นกัน ดังนั้นคะแนนที่ซอฟต์แวร์พาร์คให้ในส่วนนี้คือ 0 ปัจจัยที่ 3 คือ ด้านการศึกษา ในรอบปีที่ผ่านมาภาคการศึกษาของไทยโดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยมีการตื่นตัวเรื่องการผลักดันการศึกษาทางด้านซอฟต์แวร์มากขึ้น แทบทุกมหาวิทยาลัยจะให้ความสำคัญและถือเป็นคณะดาวรุ่งที่เรียกลูกค้าที่เป็นนักศึกษาใหม่ได้เป็นอย่างดี ทำให้เห็นแนวโน้มการผลิตคนเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ทดแทนการขาดแคลนได้มากขึ้น แต่เนื่องจากหลายสถาบันยังเป็นการลองผิดลองถูก และหลายแห่งยังมีทัศนคติในการผลิตคนเพื่อป้อนให้กับส่วนของซอฟต์แวร์ที่ทำรายได้สูงเพียงอย่างเดียว ทำให้ซอฟต์แวร์พาร์คเห็นว่ายังเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยังไม่ถูกจุด ดังนั้นคะแนนที่ซอฟต์แวร์พาร์คให้ในส่วนนี้คือ +1 ปัจจัยที่ 4 คือ ด้านเทคโนโลยี ต้องถือว่าเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจซอฟต์แวร์โดยตรง และในรอบปีที่ผ่านมาถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีระดับโลกครั้งใหญ่พอสมควร มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพื่อกระตุ้นตลาดไม่ว่าจะเป็น Visualization, Cloud Computing ฯลฯ แต่เนื่องจากปริมาณเทคโนโลยีเข้ามามีมากเกินไป แม้จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในระยะยาวให้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทย แต่ในรอบปี 2551 ยังไม่ส่งผลมากนัก เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของธุรกิจซอฟต์แวร์ในไทยยังต้องการข้อมูลเพื่อศึกษาเรื่องนี้ อีกทั้งมีการลงทุนในธุรกิจซอฟต์แวร์ไปมากแล้ว จึงไม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นธุรกิจซอฟต์แวร์ของไทยกับเทคโนโลยีใหม่อาจส่งผลแต่ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นคะแนนที่ซอฟต์แวร์พาร์คให้ในส่วนนี้คือ +2 ปัจจัยที่ 5 คือ ภาครัฐบาล โดยทางซอฟต์แวร์พาร์คได้แบ่งในส่วนนี้ออกเป็น 2 ส่วนย่อย นั่นคือ ภาครัฐในส่วนการเป็นผู้ใช้ และภาครัฐในส่วนที่เป็นการส่งเสริม โดยคะแนนในส่วนของการเป็นผู้ใช้นั้นในรอบปี 2551 ต้องถือว่าเป็นปัจจัยลบพอสมควร คือ -2 เนื่องจากภาคการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย หน่วยงานรัฐมีการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีบ่อยครั้ง ทำให้โครงการการใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์เกิดการหยุดชะงัก โครงการใหม่ไม่เกิดขณะที่โครงการเก่ามีการชะลอ ทำให้ธุรกิจซอฟต์แวร์ที่พึ่งพางานภาครัฐในปีนี้เกิดปัญหาตามมาอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ภาครัฐในส่วนของการส่งเสริม ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เข้าไปดูแล ปัญหาในปีนี้คือหน่วยงานหลักไม่มีการขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญออกมา ขณะที่อีกหลายหน่วยงานประสบปัญหาการปรับเปลี่ยนผู้บริหาร การแก้ไขระเบียบภายใน และการขาดแคลนงบประมาณ ทำให้ในปี 2551 การส่งเสริมของภาครัฐต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไม่ได้สร้างผลกระทบใดๆ ต่ออุตสาหกรรมเลย คะแนนที่ออกมาจึงเป็น 0 ปัจจัยที่ 6 คือ สมาคมวิชาชีพด้านซอฟต์แวร์และที่เกี่ยวข้อง ในปี 2551 ได้เกิดสมาคมวิชาชีพในด้านซอฟต์แวร์ขึ้นหลายแห่ง โดยมีการแยกย่อยตามวัตถุประสงค์มากขึ้น อีกทั้งหน่วยงานรัฐที่ให้การสนับสนุนก็ให้ความสำคัญและพร้อมจะทำงานด้วยมากกว่าจะเอื้อกับเอกชนรายใดรายหนึ่ง อีกทั้งในปีนี้สมาคมต่างๆ มีการขับเคลื่อนนโยบายทั้งในแนวกว้างและแนวลึกอย่างเป็นรูปธรรมออกมา อย่างไรก็ตามผลของการเรียกร้องยังไม่ได้สร้างผลกระทบอย่างจริงจังเกิดขึ้น ดังนั้นคะแนนที่ออกมาคือ +1 ปัจจัยที่ 7 คือ กฎหมาย ปี 2551 นั้นมีกฎหมายและกฎระเบียบที่บังคับใช้ในปีนี้อยู่หลายฉบับ ที่โดดเด่นมากที่สุดคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งผลในแนวบวกต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ทางด้านรักษาความปลอดภัย หรือ security ซึ่งนับรวมไปถึงซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และการรักษาความปลอดภัยคือ surveillance แม้การวิเคราะห์ในภาคสังคมนั้นจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการทางด้านธุรกิจ แต่ในส่วนของซอฟต์แวร์กลับส่งผลในแง่บวกที่คะแนน +1 ปัจจัยสุดท้ายคือ ด้านสังคม วัฒนธรรม และการใช้ชีวิต หรือ Lifestyle โดยในส่วนนี้ซอฟต์แวร์พาร์คพิจารณาในมุมของ culture change ที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในด้านเดียวเท่านั้น ซึ่งในรอบปี 2551 ในช่วงที่ผ่านมามีปัจจัยบวกอย่างมาก นั่นคือการยอมรับเทคโนโลยีให้มีส่วนต่อการใช้ชีวิตมีสูงมากขึ้น ซอฟต์แวร์และอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ กลายเป็นกลไกของสังคมอย่างเห็นได้ชัด มีการใช้เทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกส่วนของชีวิต อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงแนวทางของสังคมใหม่ ไปสู่ Knowledge Society หรือสังคมของความรู้ เกิด Social Network หรือเครือข่ายของสังคมยิ่งทำให้ความจำเป็นของการใช้ซอฟต์แวร์มีมากขึ้น คะแนนในส่วนนี้จึงมีผลแนวบวกถึง +3 เมื่อเฉลี่ยปัจจัยต่างๆ เข้าด้วยกันแล้วจะเห็นว่าปัจจัยที่มีผลต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในปีนี้ยังส่งผลบวกเล็กน้อย ซึ่งสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงคือธุรกิจซอฟต์แวร์สามารถอยู่รอดได้ และมีรายได้เติบโตอยู่พอสมควร แต่ไม่หวือหวา อย่างไรก็ตามยังไม่นับรวมถึงในปี 2552 ที่ภาคเศรษฐกิจจะมีผลกระทบอย่างจริงจังแต่อย่างใด ในหัวข้อที่ 2 คือ การวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของสภาพธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยในช่วง 2551 ที่ผ่านมา ในมุมมองของซอฟต์แวร์พาร์คเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงยังไม่เกิดขึ้นมากนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจุดแข็งคือ การที่ธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยมีความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจหรือ Flexibility ที่สูง สามารถปรับตัวกับสถานการณ์ได้หลากหลายรูปแบบ การที่ใช้ทุนในการดำเนินการเริ่มต้นที่ไม่มากนักก็สามารถเกิดธุรกิจซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ นั้นถือเป็นจุดแข็งที่ในรอบหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยนั้นมีอยู่แล้ว เช่นเดียวกับจุดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรที่เข้ามารองรับทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เกิดสภาพแย่งชิงบุคลากรที่มีคุณภาพด้วยการซื้อตัวทำให้มีการโก่งราคาค่าตัวและความจงรักภักดีกับองค์กรต่ำ รวมถึงการยอมรับซอฟต์แวร์ไทยในระดับโลกยังมีไม่มากนัก ก็เป็นจุดอ่อนเดิมที่ธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยยังไม่สามารถหนีจากวังวนนี้ได้ แต่จากประเด็นเหล่านี้ได้ส่งผลให้เกิดมุมมองใหม่ในการพัฒนาธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยเกิดขึ้น 2 ประการ นั่นคือ ธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยจำเป็นต้องเลือกเก่งเฉพาะซอฟต์แวร์ เนื่องจากความจำกัดในทรัพยากร ซึ่งทำให้พื้นที่ที่ธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยนั้นๆ เลือกแล้วได้รับการยอมรับจากตลาดทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น และประการที่สองสถานการณ์อย่างนี้ทำให้ธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยจำเป็นต้อง Smart Growth ซึ่งส่งผลดีในระยะยาวนั่นเอง แต่อีกสองมุมมองที่มีการเปลี่ยนแปลงนั่นคือ โอกาส และภัยคุกคามทางธุรกิจ ในด้านโอกาสนั้นซอฟต์แวร์พาร์คมองว่า ในรอบปีที่ผ่านมาการเกิดเทคโนโลยีใหม่จำนวนมากเป็นโอกาสที่ดี มี tool จำนวนมากเปิดกว้างให้ธุรกิจซอฟต์แวร์เข้าไปเลือกใช้ กระบวนการการปิดกั้นมีน้อยลง tool ที่เปิดให้ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก นอกจากนั้นตลาดในระดับโลกมีลักษณะเปิดมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งนโยบายการส่งเสริมภาครัฐในด้านซอฟต์แวร์โดยเฉพาะด้านการสร้างคุณภาพของผู้ประกอบการอาจทำให้เป็นจุดแข็งต่อไปในระยะยาวได้ ส่วนทางด้านภัยคุกคามทางด้านธุรกิจซอฟต์แวร์ของไทยนั้น แน่นอนในปีนี้สภาพเศรษฐกิจและการเมืองเป็นหัวข้อที่มีผลกระทบสูงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ในส่วนของระดับโลกที่ซอฟต์แวร์พาร์คจับตามองนั้น นั่นคือการเข้ามาของคู่แข่งทางด้านซอฟต์แวร์รายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นปากีสถาน หรือออสเตรเลีย ซึ่งฉายภาพให้เห็นแล้วในเวทีการประกวดซอฟต์แวร์อย่าง APICTA ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้ส่งผลงานที่ได้รับการยอมรับจากตลาดโลกมากขึ้น ขณะที่ไทยกลับมีแนวโน้มการสร้างนวัตกรรมเหล่านี้ลดน้อยลง สำหรับข้อ 3 คือ เหตุการณ์สำคัญและมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มีอะไรบ้าง ในรอบปีนี้ซอฟต์แวร์พาร์คมีมติเป็นเอกฉันท์นั่นคือ เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในประเทศ ซึ่งมีระยะเวลายาวนานและส่งผลกระทบในเชิงลบ แม้จะไม่กระทบกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โดยตรงเหมือนกับอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ก็มีผลโดยอ้อมต่อการทำให้ธุรกิจซอฟต์แวร์ในภาครัฐไม่เติบโตเท่าที่ควร และแน่นอนสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำอย่างมากก็เป็นเหตุการณ์สำคัญที่มีผลลบต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในคำถามข้อ 4 คือ ธุรกิจซอฟต์แวร์ในรอบปีมีอะไรที่รุ่งเรืองและล้มเหลว ทางซอฟต์แวร์พาร์คได้แบ่งการพิจารณาออกเป็นสองประเภท คือ พิจารณาแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่นำซอฟต์แวร์ไปใช้ กับกลุ่มซอฟต์แวร์แยกตามประเภทของงาน โดยในกลุ่มแรกคือกลุ่มอุตสาหกรรมที่นำซอฟต์แวร์ไปใช้ ซอฟต์แวร์พาร์คเห็นว่าหมวดที่ถือว่าเป็นดาวรุ่งแห่งปี 2551 ของธุรกิจซอฟต์แวร์คือ Healthcare หรือซอฟต์แวร์ในธุรกิจสุขภาพ สาธารณสุข โรงพยาบาล รวมถึง SPA จากการเติบโตอย่างมากมายของธุรกิจนี้ในรอบปีที่ผ่านมา และการปรับใช้ซอฟต์แวร์ในธุรกิจเหล่านี้ จนมีการแยกย่อยออกมาเป็นธุรกิจซอฟต์แวร์จากฝ่าย Admin ของตนเอง รวมไปถึงการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ รองรับ นำไปสู่ความสนใจของกลุ่มทุนจากต่างประเทศ ถือเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่มีอนาคต ส่วนกลุ่ม cash cow หรือกลุ่มที่ยังสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอให้กับธุรกิจซอฟต์แวร์นั้นมีอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร การขนส่ง โทรคมนาคม อุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว ค้าปลีก ธนาคารและการเงิน สำหรับกลุ่มซอฟต์แวร์แยกตามประเภทการใช้งานนั้น กลุ่มดาวเด่นประจำปีนี้ได้แก่ ซอฟต์แวร์ด้านกลุ่ม Entertainment โดยในรอบปีถือเป็นซอฟต์แวร์ที่มีการพัฒนาในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการดูทีวี ภาพยนตร์ เพลง ล้วนแต่สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มนี้อย่างหลากหลาย และได้รับความนิยมจากตลาดบริโภคโดยรวมอย่างมาก ในกลุ่ม Cash Cow นั้น ยังเป็นซอฟต์แวร์ประเภท Web Application, Mobile, Service และอื่นๆ สำหรับหัวข้อสุดท้ายคือ ซอฟต์แวร์พาร์คกับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจซอฟต์แวร์ของไทยในปี 2551 ซึ่งเมื่อได้มีการประมวลผลงานดึงส่วนที่มีผลกระทบแยกภาพใหญ่ออกมาได้ว่าในรอบปีนี้งานสร้างคนและการปักธงซอฟต์แวร์ไทยในตลาดโลกคือกลยุทธ์ที่โดดเด่นมีผลงานที่สุด โดยทั้งหมดได้เกิดเป็นรูปธรรมความสำเร็จใน 5 ด้านสำคัญคือ 1. ซอฟต์แวร์พาร์คสามารถสร้างผู้เชี่ยวชาญในระดับสูงให้กับวงการซอฟต์แวร์ไทย จนทำให้ระดับของผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมขึ้นจนติดอันดับโลกในลำดับที่ 43 จากทั้งหมด 200 กว่าประเทศ ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมายอดผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ของไทยมีจำนวนน้อยมาก 2. การเร่งสร้างระบบเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยในระยะยาว โดยใช้กระบวนการที่ถูกต้องเข้ามาเพิ่มศักยภาพ โดยซอฟต์แวร์พาร์คสามารถขับเคลื่อนการเพิ่มจำนวนบริษัทซอฟต์แวร์ที่ผ่านมาตรฐาน CMMI ได้ถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา (จาก 6 บริษัทเป็น 21 บริษัท โดยมี level 2 = 9 ราย level 3 = 11 ราย และ level 5 = 1 ราย) และสามารถขึ้นไปอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน (อันดับ 1 มาเลเซีย = 50 ราย, ฟิลิปปินส์ = 25 ราย) 3. ความโดดเด่นของศูนย์บ่มเพาะทางธุรกิจซอฟต์แวร์ ถือว่าสร้างบริษัทซอฟต์แวร์หน้าใหม่ที่ประสบความสำเร็จในตลาดจำนวนมาก บริษัทที่เป็น Incubatee ของซอฟต์แวร์พาร์คสามารถชนะรางวัลในระดับประเทศและได้รับการยอมรับจากสากล ทำให้มาตรฐานการบ่มเพาะของซอฟต์แวร์พาร์คได้รับการยอมรับจากสังคมในวงกว้างอย่างมาก 4. การสร้างเครือข่ายการตลาดทั้งในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นของซอฟต์แวร์พาร์คในปีนี้ได้ส่งดอกออกผลให้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นโครงการของ Oceania Software Park Alliance และอื่นๆ ที่เปิดช่องให้ภาคธุรกิจซอฟต์แวร์ของไทยเจาะตลาดได้มากกว่าการไปจักบูธตามงานใหญ่ๆ เพียงอย่างเดียว ส่งผลให้เกิด Business Matching ในระดับคุณภาพ มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ส่วนเครือข่ายท้องถิ่นภายในประเทศเกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันในรูปแบบของ Software Park ท้องถิ่นที่ทำงานกันอย่างอิสระแต่เชื่อมโยงถึงกันอย่างแนบสนิท เพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจซอฟต์แวร์ท้องถิ่นได้เพิ่มศักยภาพทั้งด้านคุณภาพและการตลาด และ 5. การสร้างเครือข่ายชุมชนนักพัฒนาในรูปแบบของ social network ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมของ Android social network หรือกลุ่ม tester software ที่มีความเข้มแข็งและสร้างผลกระทบต่อสังคม นอกจากนั้นการเร่งกระตุ้นตลาดในระดับอุตสาหกรรม จนเกิดโมเดลธุรกิจใหม่ เช่น สิ่งที่เกิดขึ้นในธุรกิจอัญมณี ที่มีซอฟต์แวร์ ERP เกิดขึ้นรองรับโดยเฉพาะ ทำให้เกิดตลาดในประเทศที่ยั่งยืนจนผลกระทบทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แทบจะไม่เกิดผล ดังนั้นบทสรุปของปีนี้ซอฟต์แวร์พาร์คยังเห็นว่าแม้สภาพเศรษฐกิจ การเมือง และภาครัฐจะเป็นปัจจัยที่ถ่วงการเจริญเติบโตของธุรกิจซอฟต์แวร์ แต่ทิศทางการพัฒนาที่เติบโตมาอย่างยาวนานได้กลายเป็นเกราะป้องกัน ทำให้ซอฟต์แวร์ไทยสามารถฝ่าวิกฤตในรอบปี 2551 ไปได้อย่างไม่ลำบากนัก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ สุกัญญา ฉัตร์แก้วมรกต (หน่อย) Suganya Chatkaewmorakot Business Analyst Business Development and Marketing Enabling Phone: (02) 583-9992, (02) 962-2900 #1481 Mobile: (086) 910-6194 Fax: (02) 583-2884, (02) 962-2929

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ