“ซอฟต์แวร์พาร์ค” ร่วมพันธมิตรผู้ผลิตซอฟต์แวร์ จัดทำ โครงการ “ซอฟต์แวร์เพื่อสังคม” สู่ภาคการศึกษาเด็กไทย

ข่าวเทคโนโลยี Thursday December 18, 2008 16:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--ซอฟต์แวร์พาร์ค "ซอฟต์แวร์พาร์ค" ร่วมกับพันธมิตรผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไทย มอบซอฟต์แวร์ใน “โครงการซอฟต์แวร์เพื่อสังคม” สู่ภาคการศึกษา ได้แก่ ซอฟต์แวร์คุมการใช้งานอินเทอร์เน็ต, สอนเคมี, เกมออกกำลังกาย, โปรแกรมพจนานุกรม และระบบสอบออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสแห่งการเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศแก่เด็กและเยาวชนสู่โรงเรียน 148 แห่งทั่วประเทศ หวังปลูกต้นกล้าเยาวชนไอทีต่อไปในอนาคต ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) เปิดเผยว่า โครงการ Software for Society เป็นโครงการที่เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทยหรือซอฟต์แวร์พาร์ค ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ริเริ่มขึ้นเนื่องในโอกาสดำเนินงานครบรอบ 10 ปีโดยร่วมกับพันธมิตรผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และหน่วยงานที่สร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญาจำนวน 9 ราย เพื่อเป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในการทำประโยชน์สู่สังคมและเศรษฐกิจ โดยผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการได้ให้สิทธิในการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่คิดมูลค่าแก่หน่วยงานหรือองค์กรใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาคการศึกษา องค์กรภาครัฐ และภาคการสาธารณสุข เพื่อให้หน่วยงานใน 3 กลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าถึงซอฟต์แวร์ดีๆ ที่พัฒนาขึ้นโดยฝีมือของคนไทยและทำให้เกิดความเชื่อมั่นในซอฟต์แวร์ไทย ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวอีกว่า ล่าสุดโครงการนี้ได้มีการรับมอบการใช้งานซอฟต์แวร์สำหรับภาคการศึกษาโดยมีสถาบันการศึกษาต่างๆ จากทั่วประเทศยื่นแสดงความจำนงเพื่อขอรับซอฟต์แวร์ ทางโครงการฯจึงคัดเลือกสถาบันการศึกษาที่ตรงตามหลักเกณฑ์ อาทิ ผู้ใช้งานต้องมีความจริงจังที่จะนำซอฟต์แวร์ไปใช้ในการพัฒนาการดำเนินงานของตนอย่างมีระบบและต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การใช้งานจริง พร้อมให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลกลับถึงผลการใช้งานแก่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เพื่อต่อยอดการพัฒนาซอฟต์แวร์และปรับปรุงประสิทธิภาพในอนาคต นอกจากนี้ซอฟต์แวร์พาร์คยังมีการจัดอบรมการใช้งาน ตลอดจนให้ข้อมูลคุณลักษณะเด่นของซอฟต์แวร์แต่ละประเภท โดยในวันนี้ (18 ธันวาคม 2551)ได้มีพิธีมอบซอฟต์แวร์ที่เน้นด้านการศึกษาแก่ตัวแทนจากโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกในครั้งนี้อีก 48 แห่ง สำหรับซอฟต์แวร์ที่เน้นภาคการศึกษาจากผู้ประกอบการ/ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่เข้าร่วมโครงการด้วยกัน 5 ราย ประกอบด้วย บริษัท เอเทรียม เทคโนโลยี จำกัดได้มอบ “ซอฟต์แวร์ใส่ใจ” สำหรับเพิ่มความปลอดภัย ป้องกันอันตรายในการเล่นอินเตอร์เน็ต เล่นเกม และการสนทนาผ่านเน็ต(แชท) สำหรับกลุ่มเยาวชน โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นผู้รับมอบซอฟต์แวร์นี้จะเป็นโรงเรียนทั่วไป โดยไม่มีการจำกัดจำนวน คาดว่าในเบื้องต้นเฉลี่ย 40-80 เครื่องต่อโรงเรียน โดยยินยอมให้ใช้ซอฟต์แวร์เป็นเวลา 1 ปี หรือเป็นหน่วยงานที่นำซอฟต์แวร์ดังกล่าวไปใช้เพื่อเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และไม่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ และทางบริษัทจะทำซีดีติดตั้งโปรแกรมให้แต่ละโรงเรียนเพื่อเป็นคู่มือในการใช้งานโดยไม่มีการอบรม บริษัท ลานเกียร์ เทคโนโลยี จำกัด มอบซอฟต์แวร์ “สื่อการเรียนรู้สามมิติ”เพื่อการเรียนการสอนเรื่องโครงสร้างโมเลกุลในวิชาเคมี ในโครงการนี้บริษัทจะนำระบบพร้อมอุปกรณ์สร้างการเรียนรู้ด้วย Mixed Reality ที่จะทำให้เด็กไทยกระตือรือร้นและอยากที่จะเรียนรู้เนื้อหาการเรียนการสอนต่างๆ อย่างสนุกสนานจำนวน 80 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยแผ่นซีดีและเว็บแคม โดยจะมอบสิทธิ์ให้ตลอดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ สำหรับการติดตั้งและการใช้งานสามารถทำได้โดยใช้แผ่นซีดี ซึ่งจะมีวีดีทัศน์สำหรับแนะนำการติดตั้ง และหากเกิดปัญหาในการติดตั้งสามารถสอบถามได้โดยตรงกับตัวแทนของบริษัท โดยสื่อการเรียนรู้สามมิตินี้ยังเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย เนื่องจากเป็นโปรแกรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากากรแข่งขัน Asia Pacific ICT Award 2007 ในสาขา Research & Development ที่ประเทศสิงคโปร์ บริษัทพิคซอฟท์ จำกัด มอบซอฟต์แวร์ “เกมมาออกกำลังกายกันเถอะ” เพื่อเป็นเกมที่สร้างสรรค์และส่งเสริมเรื่องสุขภาพเด็กและเยาวชน ในชื่อเกม “Boost Life” สำหรับส่งเสริมการออกกำลังกายโดยใช้กล้องเว็บแคมมาเข้าร่วม และทางโรงเรียนต้องไม่นำซอฟต์แวร์เกมนี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตามการใช้งานของเกมออกกำลังกายต้องใช้ร่วมกับเว็บแคม ซึ่งทางโครงการไม่ได้รวมเป็นค่าใช้จ่ายไว้ในการมอบครั้งนี้และซอฟต์แวร์ดังกล่าวยังได้รับรางวัลชนะเลิศ Thailand Animation & Multimedia (TAM) Contest ในปี 2550 ในสาขา Professional PC Game บริษัท ไทยซอฟท์แวร์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด มอบซอฟต์แวร์ “โปรแกรมพจนานุกรม” เพื่อเอื้อประโยชน์ในการเรียนรู้ทางภาษาและให้ใช้ซอฟต์แวร์พจนานุกรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะมอบสิทธิ์ในการใช้เป็นเวลา 1 ปีและมีเงื่อนไขว่าจะให้สิทธิ์เฉพาะใช้ภายในหน่วยงานที่ระบุเท่านั้น โดยต้องแจ้งชื่อ ที่อยู่ และรายละเอียดอื่นๆ เพื่อบริษัทจัดทำเอกสารสิทธิ์การใช้งานพร้อมแผ่นโปรแกรมมอบให้หน่วยงานที่ได้รับเป็นหลักฐานตามกฎหมาย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) จังหวัดนครราชสีมา มอบซอฟต์แวร์ “ระบบสอบออนไลน์เคลื่อนที่” เพื่อความสะดวกของการสอบในสถานศึกษาต่างๆ โดยทางมหาวิทยาลัยฯได้มอบระบบสอบออนไลน์ที่เป็นโอเพนซอร์ส สามารถใช้งานปรับปรุงและแจกจ่ายได้ฟรี ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์เพิ่มเติม เพียงเลือกติดตั้งที่เครื่องใดเครื่องหนึ่งในห้องคอมพิวเตอร์ หรือบนโน้ตบุ๊กก็จะได้เครื่องเซิร์ฟเวอร์พร้อมสำหรับการสอบ มีทั้งเวอร์ชั่นที่อยู่บนแผ่นซีดี2 แผ่นและเวอร์ชั่นที่อยู่บนแผ่นดีวีดี 1 แผ่น พร้อมกับการจัดฝึกอบรมให้ฟรี อีกทั้งยังสนับสนุนระบบการศึกษาในปัจจุบันที่มุ่งไปสู่การนำระบบ E-learning มาใช้ให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวสรุปว่า ความคืบหน้าของโครงการในปัจจุบันยังได้รับรายชื่อของโรงเรียนจากทั่วประเทศจำนวน 148 แห่ง และคาดว่าจะส่งมอบให้กับทุกโรงเรียนได้ภายในเดือนมีนาคม 2552 ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งครู นักเรียน และบุคลากรในโรงเรียน สนับสนุนการเรียน การสอนในยุคไอที รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการใช้ซอฟต์แวร์ของคนไทยในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นด้วย และเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ใช้งานซอฟต์แวร์ไทยเหล่านี้ ช่วยสร้างฐานตลาดการใช้งานซอฟต์แวร์ไทยในระยะยาวและเชื่อว่าจะเป็นก้าวสำคัญที่เปิดโอกาสแห่งการเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อร่วมปลูกต้นกล้าเยาวชนไอทีต่อไปในอนาคต เกี่ยวกับโครงการซอฟต์แวร์เพื่อสังคม (Software for Society) โครงการซอฟต์แวร์เพื่อสังคมเป็นโครงการภายใต้ 10 ปีซอฟต์แวร์พาร์ค ที่ได้ร่วมมือกับบริษัทซอฟต์แวร์ของคนไทย ที่พัฒนาโปรแกรมที่มีคุณภาพ จำนวนเบื้องต้น 9 ราย เพื่อนำซอฟต์แวร์ดังกล่าวมอบให้กับองค์กรการกุศล สถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานบริหารงานส่วนท้องถิ่น และ อื่นๆ ฯลฯ เพื่อนำไปพัฒนาและยกระดับระบบการบริหารและทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการนี้มีระยะเวลาในการดำเนินการ 1 ปี โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา โดยซอฟต์แวร์พาร์คมีเงื่อนไขหลักในการเข้าร่วมโครงการของบริษัทซอฟต์แวร์ไว้ว่า จะต้องมีการมอบสิทธิ์ในการใช้ซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นของบริษัทให้แก่ผู้ใช้งานที่เข้าร่วมโครงการโดยไม่คิดมูลค่า ส่วนด้านผู้ที่จะรับมอบซอฟต์แวร์ไปใช้งานนั้น ผู้ใช้งานต้องมีความจริงจังที่จะนำซอฟต์แวร์ไปใช้พัฒนาการดำเนินงานของตนอย่างมีระบบ และต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การใช้งานจริง เป็นต้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร. 0 2564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ : ธณาพร (เอ็ม), สุธิดา (ไก๋) โทร. 0 2270 1350-4 ต่อ 104-105 มือถือ 08 6612 0912, 08 5930 7166 อีเมล : prtmc@yahoo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ