นักวิชาการชี้ชัดเศรษฐกิจอาเซียนเหลื่อมล้ำสูง แนะผนึกความร่วมมืออย่างจริงจังดึงดูดเงินลงทุน

ข่าวทั่วไป Friday January 9, 2009 13:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ นิด้าจัดสัมมนาผ่ากลยุทธ์การค้าการลงทุนอาเซียน โหมโรงก่อนการประชุมอาเซียนซัมมิท ระดมสมองนักวิชาการทั้งไทยและเทศมองหาโอกาสและช่องทางการลงทุน ชี้แนวทางความสำเร็จกลุ่มอาเซียน ต้องมีปัจจัยรองรับที่ครบวงจร เพื่อเอื้ออำนวยต่อการลงทุนต่อเนื่อง ย้ำชัดต้องการเทคโนโลยีและความร่วมมืออย่างจริงจัง ขณะที่อุปสรรคสำคัญอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการส่งสินค้าสู่ตลาดที่กลายเป็นคู่แข่งกันเอง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ร่วมกับสถาบันการค้าโลกและกฎระเบียบการค้า การลงทุน มหาวิทยาลัย Fribourg ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “การลงทุนและการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น โดยมีประเด็นสำคัญอยู่ที่แนวโน้มการขยายตัวของการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน และปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการพัฒนา นายฟิเลมอน เอ อูเรียเต้ ผู้อำนวยการมูลนิธิ ASEAN FOUNDATION ประจำกรุงจาการ์ต้า กล่าวในระหว่างเข้าร่วมสัมมนาว่า การลงทุนในอาเซียนนั้นต้องการการรองรับแบบ integrated หรือครบวงจรเป็นหัวใจสำคัญ แต่ความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมดในกลุ่ม จัดว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้การพัฒนาทั้งกลุ่มเป็นไปได้ยาก แม้ว่าอัตราการเติบโตในประเทศด้อยพัฒนาอย่างพม่า ลาว เขมร และฟิลิปปินส์ได้มีการพัฒนามากขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาช่องว่างที่แตกต่างของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สิงคโปร์ และ มาเลเซีย ซึ่งยังแตกต่างกันมากเกินไปกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค และยังไม่สามารถหามาตรการกลางในการช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อให้ภูมิภาคมีความทัดเทียมกันมากกว่านี้ “ถึงแม้ว่าจะได้มีการประชุม อาเซียน วิชั่น 2020 ในกัวลาลัมเปอร์ไปแล้วในปี 2540 เพื่อพยายามลดช่องว่างทางเศรษฐกิจลงให้ได้ในปี 2563 แต่ก็ดูเหมือนว่า จะยังไม่ได้ผล” นายอูเรียเต้ กล่าว อย่างไรก็ตาม ASEAN Economic Community ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนา โดยเน้นไปที่เทคโนโลยี และการร่วมมือกันอย่างจริงจังมากกว่าที่จะชี้แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศด้อยพัฒนาในกลุ่ม โดยอาศัยการริเริ่มสำหรับการพัฒนาภูมิภาคอาเซียนอย่างครบวงจร (Initiative for ASEAN Integration — IAI) ซึ่งเป็นนโยบายที่มุ่งลดช่องว่างทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยการพัฒนากฎหมาย องค์การและระเบียบกฎเกณฑ์ และความสามารถในทางเทคนิค และสมรรถนะในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา คือ เขมร ลาว พม่า และเวียดนาม โดยเน้นไปที่การพัฒนาสาธารณูปโภค บุคลากร ข้อมูลและเทคโนโลยีข่าวสาร และโปรโมทความร่วมมือในทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค รวมทั้งจัดทำโรดแม็พสำหรับการร่วมมือในอาเซียน (Roadmap for the Integration of ASEAN - RIA) เพื่อให้ผลประโยชน์ของการพัฒนาอาเซียนจึงจะสามารถบรรลุเป้าประสงค์ได้ ด้านนายฟิลลิปป์ กัจเลอร์ นักวิชาการประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัย Fribourg ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ กล่าวเสริมว่า การร่วมมือในการแข่งขันทางการค้าของกลุ่มประเทศอาเซียนต้องพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจในเชิงมหภาค การเมือง กฎหมาย และสังคม โดยมีปัจจัยหลักสำคัญ 3 ข้อที่ต้องพิจารณาคือ ความทันสมัยขององค์กร สภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจ และสภาพคล่องตัวของการพัฒนา ซึ่งในแต่ละประเทศควรคำนึงถึงความเป็นจริงว่า สถานะของประชากรที่ประกอบกิจการจะดีขึ้นได้จะต้องประสบความสำเร็จในการเจาะลึกการพัฒนาระดับโครงสร้างตั้งแต่ระบบเศรษฐศาสตร์จุลภาค “การสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันต้องคำนึงถึงกลยุทธ์ทางการค้าขององค์กร ความต้องการในตลาด คู่ค้าที่จะสนับสนุนกิจการ สภาพเกื้อหนุน โดยปัจจัยเหล่านี้จะก่อให้เกิดโอกาสทางการค้าและมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาล ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องให้การสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ” นายกัจเลอร์กล่าว ในส่วนของอุปสรรคของการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค รศ.ดร. ภวิดา ปานะนนท์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความคิดเห็นว่า การลงทุนทางการค้าของกลุ่มประเทศอาเซียน มีความแตกต่างกันอย่างมาก อีกทั้งประเทศในอาเซียนมักจะผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน แต่ละประเทศจึงกลายมาเป็นคู่แข่งกันเองในสินค้าหลายๆรายการ การเปิดตลาดของอาเซียนจึงมีปัญหาตามมา ดังนั้น การที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มประเทศอาเซียน จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วย มิฉะนั้นการเติบโตของทั้งภูมิภาคจะเป็นไปได้ยาก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ในนาม NIDA Business School) พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 14 หรือ 08-1929-8864 e-mail: address : c_mastermind@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ