พาณิชย์เสนอสภาพิจารณาความตกลงด้านเศรษฐกิจที่จะลงนามในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14

ข่าวทั่วไป Friday January 23, 2009 13:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--จร. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2552 ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะลงนามความตกลงด้านเศรษฐกิจหลายฉบับ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างเสนอความตกลงดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบตามบทบัญญัติในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ก่อนที่ไทยจะเข้าร่วมลงนามด้วย ล่าสุดรัฐสภามีกำหนดที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา (สมัยสามัญทั่วไป) ระหว่างวันที่ 26-27 มกราคม ศกนี้ โดยความตกลงที่จะพิจารณาแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ความตกลงภายในอาเซียน 1.1 ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน เป็นการรวบรวมกฎเกณฑ์ทางการค้าเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งมีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2535 ให้เข้ามารวมอยู่ในฉบับเดียวกัน เพื่อให้เกิดความทันสมัย ชัดเจน และสะดวกมากขึ้น โดยไม่ได้มีพันธกรณีเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่เดิม 1.2 ความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน เป็นการรวมความตกลงการเปิดเสรีด้านการลงทุน และความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนของอาเซียนที่มีอยู่เข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนภายในอาเซียน 1.3 พิธีสารอนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 7 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน เป็นพิธีสารที่กำหนดให้มีการเปิดเสรีสาขาบริการ ตามข้อผูกพันตารางแนบท้าย ซึ่งจะต้องมีการจัดทำตารางแนบท้ายต่อไป 1.4 ข้อตกลงยอมรับร่วมด้านวิชาชีพ เป็นข้อตกลงที่จะยอมรับร่วมกันในเรื่องคุณสมบัติ เช่น การศึกษา และประสบการณ์การทำงาน สำหรับวิชาชีพ 5 สาขา ได้แก่ สาขาวิศวกรรม สถาปัตยกรรม แพทย์ ทันตแพทย์ และบัญชี เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้สามารถยื่นคำขอใบอนุญาต โดยไม่เสียเวลาตรวจสอบคุณสมบัติซ้ำ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบวิชาชีพยังต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องของประเทศที่เข้าไปทำงาน เช่น การสอบ การขึ้นทะเบียน การขอใบอนุญาตทำงาน เป็นต้น 2. ความตกลงของอาเซียนกับคู่เจรจา ในส่วนนี้ เป็นความตกลงที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำเขตการค้าเสรีของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ในแต่ละด้าน ได้แก่ 2.1 ความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นความตกลงส่งเสริมอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน และให้ความคุ้มครองการลงทุนและนักลงทุนของอาเซียนและจีน 2.2 ความตกลงภายใต้กรอบอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี เป็นความตกลงการเปิดตลาดด้านการค้าสินค้าและบริการ ซึ่งเกาหลีและอาเซียนจะลดภาษีลงร้อยละ 90 ของมูลค่านำเข้าระหว่างกัน โดยไทยสามารถลดภาษีสินค้าอ่อนไหวช้ากว่าอาเซียนอื่น การเปิดตลาดการค้าของเกาหลีจะช่วยให้ไทยมีโอกาสในการแข่งขันเท่าเทียมกับสมาชิกอาเซียนอื่น ซึ่งได้ลงนามความตกลงฯไปแล้ว สำหรับการเปิดตลาดภาคบริการ ไทยเสนอเปิดไม่เกินขอบเขตที่กฎหมายปัจจุบันอนุญาต และเป็นสาขาที่เปิดให้สมาชิกอาเซียนแล้ว 2.3 ความตกลงภายใต้กรอบอาเซียน-อินเดีย เป็นความตกลงครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า โดยลด/ยกเลิกภาษีระหว่างกันลงร้อยละ 90 ของมูลค่าการนำเข้าระหว่างกัน ซึ่งสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ เช่น ผักและพืชตระกูลถั่ว อาหารปรุงแต่ง ปลากระป๋อง น้ำผลไม้ เครื่องยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น สำหรับสินค้าที่ผู้ประกอบการยังไม่พร้อมแข่งขันจะจัดไว้ในรายการสินค้าอ่อนไหวซึ่งจะลดภาษีช้ากว่าหรือไม่นำมาลดภาษี 2.4 ความตกลงภายใต้กรอบอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เป็นความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีที่ครอบคลุมเรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ซึ่งในการเปิดตลาดสินค้าไทยจะไม่ลดภาษีเร็วกว่าความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีที่ไทยมีอยู่แล้วกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แต่จะได้ประโยชน์จากการที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จะลดภาษีเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ พลาสติก ยาง อลูมิเนียม และเครื่องจักร นอกจากนี้ ยังได้รับประโยชน์จากกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่ยืดหยุ่นกว่า ส่วนสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง เช่น นมผงขาดมันเนย และน้ำตาล เป็นต้น ไม่รวมอยู่ในขอบเขตการลดภาษี การเข้าร่วมลงนามเป็นภาคีในความตกลงต่างๆดังกล่าวข้างต้นจะเป็นก้าวสำคัญของไทยและอาเซียนในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา190 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เผยแพร่และจัดสัมมนาหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่องจนสามารถสรุปผลการเจรจาในกรอบต่างๆได้ สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่Call Center กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศโทร.0-2507-7555 หรือที่เวปไซต์ www.thaifta.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ