แนะเทคนิคการวิจัย ICT ในชั้นเรียน

ข่าวทั่วไป Tuesday December 26, 2006 17:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--สสวท.
การวิจัย ICT ในชั้นเรียน เป็นกระบวนการที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาเรียนรู้ของครูผู้สอน ICT จากการทำงาน เป็นกระบวนการวิจัยที่ไม่เน้นการอ้างอิงมากนัก ก่อให้ได้ความรู้ใหม่ๆ ที่ยอมรับ ตรวจสอบได้ มีคุณภาพ ส่งผลให้ทั้งครู และนักเรียน เก่ง ดี และมีสุข ขึ้น
การวิจัยในชั้นเรียนเป็นกระบวนการในการแก้ปัญหาหรือพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนที่ครูรับผิดชอบอย่างเป็นระบบ เพื่อสืบค้นให้ได้สาเหตุของปัญหา แล้วหาวิธีแก้ไขหรือพัฒนาที่เชื่อถือได้ เช่น การสังเกต จดบันทึก และวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนของครู และพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีคุณภาพตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพื่อส่งเสริมผู้เรียนให้ได้รับการพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ
ในงานประชุมวิชาการไอซีทีเพื่อการศึกษาไทย (ICTEd2006) ที่จัดไปเมื่อวันที่ 26-27 ตุลาคม 2549 ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน จัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “เก่ง ดี มีสุข ด้วยการวิจัยในชั้นเรียน ICT” โดยนางสาวนารี วงศ์สิโรจน์กุล รองผู้อำนวยการ สสวท. นายนิพนธ์ ศุภศรี ผู้ชำนาญ สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท. และนางกมลทิน พรมประไพ โรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี จ.อุตรดิตถ์
นางสาวนารี วงศ์สิโรจน์กุล รองผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า การส่งเสริมการวิจัยในชั้น
เรียนด้าน ICT ของ สสวท.ในฐานะผู้ส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ การให้ทุนวิจัย พัฒนาสื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน ส่งเสริมครู ในการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมนักเรียนให้ได้รับประสบการณ์เชิงการวิจัย ในรูปแบบการสอนวิชาโครงงาน จัดสภาพแวดล้อม ให้เกิดบรรยายกาศในการวิจัย เช่น จัดประกวดโครงงาน ประกวดผลงาน เป็นต้น
นายนิพนธ์ ศุภศรี ผู้ชำนาญ สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท. การวิจัยในชั้นเรียน เป็นการพัฒนาหลักสูตรและการปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน รูปแบบการวิจัยในชั้นเรียน ประกอบด้วย การวิจัยเชิงสำรวจ เป็นการศึกษาค้นคว้า เช่น ศึกษารวบรวมข้อมูลซึ่งอาจมีลักษณะ เป็นความสัมพันธ์ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ ความเชื่อ แนวคิด หรือทัศนคติ กระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่ เป็นการทำนายลักษณะของผลที่จะเกิดขึ้น แนวโน้มหรือความเปลี่ยนแปลงที่กำลังพัฒนาอยู่ การวิจัยเชิงทดลอง เป็นการศึกษาโดยจงใจเปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่งของสถานการณ์ที่ทำอยู่ สร้างสถานการณ์ขึ้นเอง เพื่อศึกษาผลของการเปลี่ยนแปลง เช่น เพื่อแก้ไขปัญหาการเรียนการสอน
ขั้นตอนการพัฒนาตามวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (P-D-C-A) ซึ่งประกอบด้วย การวางแผน(Plan) การปฏิบัติการ (Do) การตรวจสอบ (Check) และการแก้ไขปรับปรุง (Action) ส่วนการวิจัยในชั้นเรียน ประกอบด้วยขั้นตอนการทำงานที่สำคัญ คือ ศึกษาปัญหาในชั้นเรียน จากนั้นเลือกปัญหาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนซึ่งมีความสำคัญในลำดับต้น ๆ มาแก้ปัญหา ขั้นตอนของการแก้ปัญหาคือหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา แล้วศึกษาหาวิธีการแก้ปัญหาที่คาดว่าสามารถนำมาใช้ได้ผล ซึ่งอาจเป็นสื่อ เทคนิค วิธีการจัดกิจกรรม ฯลฯ แล้วเลือกพัฒนานวัตกรรมหรือวิธีการที่เหมาะสม ตรวจสอบและปรับปรุง แล้วนำมาทดลองใช้ รวบรวมข้อมูลจากการทดลอง ตรวจสอบ วิเคราะห์ อภิปราย และสรุปผลการทดลองให้ชัดเจน เป็นรูปธรรม ในกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างรีบด่วน จะแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการวิจัยก็ไม่ทันการณ์ ครูก็สามารถศึกษาและนำผลงานวิจัยของครูคนอื่นที่ใช้แก้ปัญหาเดียวกันมาใช้แก้ปัญหาในชั้นเรียนของตนได้
ทั้งนี้ สสวท. กำลังจัดทำวีดิทัศน์ชุดการเรียนรู้ เรื่อง การวิจัยในชั้นเรียน วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี สาระที่ 4 เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียนเหมาะสำหรับ คุณครูผู้สอนสาระเทคโนโลยีสารสนเทศ และ คุณครูทั่วไป ทุกระดับชั้น
นางกมลทิน พรมประไพ ครูโรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี จ.อุตรดิตถ์ เล่าถึง ประสบการณ์ของการ ทำวิจัยในชั้นเรียน ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการวิจัยในชั้นเรียน โดยได้ใช้การวิจัยอย่างง่ายแก้ปัญหาการเรียนการสอนในชั้นเรียน รายบุคคล และรายกลุ่ม เช่น พบปัญหาว่า นักเรียนยังใช้คอมพิวเตอรืได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากบางโปรแกรมเป็นเมนูภาษาอังกฤษ และอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้ จึงได้ลองทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหานี้ดู หัวข้อเรื่อง “การใช้แบบฝึกเรียกชื่อสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในแถบเครื่องมือโปรแกรม Authoware 7.0” ผลปรากฏว่านักเรียนสามารถจดจำสัญลักษณ์คำสั่งต่าง ๆ ได้ นำไปสู่การใช้คำสั่งโปรแกรมต่าง ๆ ในวินโดวส์ได้ดีขึ้น
“การวิจัยด้าน ICT ในชั้นรียนไม่ได้ยุ่งยาก ซับซ้อน วุ่นวายอย่างที่คิดค่ะ ขอเพียงมีใจที่จะเริ่มต้นทำ เริ่มจากมองเห็นปัญหาในการเรียนการสอน แล้วคิดหาทางแก้ปัญหา โดยนำเอาระเบียบวิธีการวิจัยเข้ามาใช้ อาจเริ่มจากการทำวิจัยในชั้นเรียนแบบหน้าเดียวก่อน ครูผู้สอนไม่ต้องกังวล เรื่องจำนวนหน้าหรือรูปแบบการเขียนรายงาน สามารถเขียนรายงานการวิจัยแบบสั้นๆ หน้าเดียวได้ เพียงให้อ่านแล้วรู้เรื่อง เข้าใจว่าครูกำลัง ทำอะไร ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำการวิจัยปีหนึ่งได้หลายเรื่อง ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับนักเรียนและตัวครู เมื่อทำการวิจัยหลายเรื่องจนเกิดความชำนาญแล้วก็สามารถทำเป็นแบบสมบูรณ์ที่มีหลายบทได้” นางกมลทิน กล่าวทิ้งท้าย
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

แท็ก ICT  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ