สานสัมพันธ์ ‘วัด’ และ ‘บ้าน’ ผ่านเวที “ขยะ” พลิกวิกฤติผลิตเป็น “ปุ๋ย” คืนประโยชน์สู่ชุมชน

ข่าวทั่วไป Thursday January 29, 2009 17:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ม.ค.-- ปัญหาการเพิ่มปริมาณของขยะ และวิธีการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง ได้ก่อให้เกิดมลพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่เพียงแต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนต่างๆ จะได้รับผลกระทบแล้ว แม้กระทั่งในวัดเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน วัดอรัญญาวาส ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน เป็นอีกวัดหนึ่งที่ในอดีตก็เคยประสบกับปัญหาขยะสะสมกองโตจนล้นวัด ใช้วิธีการขุดหลุมฝังก็แก้ปัญหาไม่ได้ เผายิ่งเลวร้ายก่อมลพิษทั้งกลิ่นและควันต่อคนในวัดและชุมชนโดยรอบ โครงการศูนย์การเรียนรู้ครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่าน จึงได้เปิดเวที “ครอบครัวอรัญญาวาสเรียนรู้จุลินทรีย์กู้วิกฤติขยะในวัด” ขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกที่อาศัยอยู่ในวัดอรัญญาวาสซึ่งเปรียบเสมือนครอบครัวใหญ่ที่ประกอบไปด้วยพระภิกษุ สามเณร และลูกศิษย์กว่า 50 ชีวิตได้มีโอกาสสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและต่อชุมชนโดยรอบผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งไปสู่การแก้ปัญหาขยะภายในวัดที่สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วม โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายสำรวย ผัดผล รองประธานโครงการศูนย์ฯครอบครัวเข้มแข็ง จ.น่าน และประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน เผยว่าวัดอรัญญาวาสนั้นเป็นครอบครัวเสมือนจริง มีลักษณะเป็นครอบครัวเชิงอุปถัมภ์ ซึ่งหลายคนมักจะมองว่าไม่สามารถที่จะจัดเวทีเพื่อสร้างความสัมพันธ์เสริมความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวที่มีรูปแบบในลักษณะนี้ได้ ด้าน พระครูพิทักษ์นันทคุณ เจ้าอาวาสวัดอรัญญาวาส ซึ่งเปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัวเล่าว่า ปัจจุบันสมาชิกภายในวัดประกอบด้วยพระภิกษุ 8 รูป สามเณร 18 รูป และลูกศิษย์วัดอีก 18 คนอาศัยอยู่รวมกัน แต่ละคนก็มาจากครอบครัวที่แตกต่างกัน โดยมาอาศัยที่วัดเพื่อศึกษาเล่าเรียน และเนื่องจากวัดแห่งนี้เป็นที่ตั้งของมูลนิธิฮักเมืองน่าน จึงเป็นเสมือนศูนย์กลางของชุมชน เครือข่าย และองค์กรต่างๆ ที่มักจะใช้สถานที่ของวัดอันร่มรื่นเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ แทบทุกอาทิตย์ ไม่นับรวมกับงานบุญต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ “ลูกศิษย์จะทำการคัดแยกขยะที่ขายได้ก็คัดแยกเอาไปขาย ที่ขายไม่ได้ก็รวมรวมส่งให้เทศบาลนำไปทิ้ง ส่วนพวกเศษใบไม้ กิ่งไม้ กระดาษ ก็จะนำไปใส่ลงในบ่อขนาดกว้าง 3x4 เมตร ลึกประมาณ 2 เมตร เพื่อหมักโดยวิธีธรรมชาติให้กลายเป็นปุ๋ย” เจ้าอาวาสวัดอรัญญาวาสกล่าว ปุ๋ยที่ได้ส่วนหนึ่งก็จะนำไปใช้ในแปลงปลูกพืชผักสวนครัวของวัดเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารให้กับลูกศิษย์ที่อาศัยอยู่ในวัด หรือเลี้ยงญาติโยมที่มาร่วมทำกิจกรรมหรือทำงานต่างๆ ภายในวัด ปุ๋ยอีกส่วนหนึ่งก็จะแจกจ่ายให้กับชาวบ้านให้นำไปใช้กับพืชผลภายในสวน ซึ่งก็ปรากฏว่าได้ผลผลิตดีจนมีคนติดใจขอบริจาคเงินเพื่อซื้อปุ๋ยของทางวัดนำไปใช้ ทำให้วัดมีรายได้สำหรับจ่ายค่าน้ำค่าไฟในกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยผลดีที่เกิดขึ้นกับวัดอรัญญาวาสและชุมชนรอบๆ วัดสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ด้านคือ หนึ่งวัดไม่มีขยะ สองชาวบ้านได้ปุ๋ยจากวัดไปใช้โดยไม่ต้องซื้อ สามวัดก็จะได้ผลผลิตจากชาวบ้านกลับมาในรูปแบบของการถวายปัจจัย อาหารใส่บาตรทำบุญ เกิดเป็นวงจรที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์อันดีอย่างแนบแน่นระหว่างวัดและชุมชน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ