ผลิต “ปุ๋ยหมัก” จากวัสดุเหลือใช้ในการเกษตร ลดรายจ่ายปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ข่าวทั่วไป Thursday January 29, 2009 17:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ม.ค.-- การทำการเกษตรในปัจจุบันที่เน้นในเรื่องของการเพิ่มปริมาณผลผลิต ด้วยการใช้ทั้งปุ๋ย ยา และสารเคมีต่างๆ ในด้านหนึ่งก็ช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้มีรายจ่ายและภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ที่สำคัญสารเคมีต่างๆ ที่ใช้ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชนรวมไปถึงสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกับ โครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่าน จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ปุ๋ยหมักลดรายจ่ายและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ครอบครัว” ขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้กับครอบครัวและชุมชนได้เกิดความตระหนัก เห็นความสำคัญ และหันมาสร้างพื้นที่ๆ ปลอดภัยให้กับพื้นที่เพาะปลูก พืชอาหาร และสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยการใช้ปุ๋ยหมักที่สมาชิกในชุมชนร่วมกันทำและร่วมกันใช้ด้วยตนเอง นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะครอบครัว สสส. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อสถาบันครัวเรือนอย่างรุนแรงโดยเฉพาะครอบครัวในชุมชนเมือง แต่สำหรับครอบครัวในสังคมชนบทจะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้น้อยกว่าเพราะว่าหลายๆ ครอบครัวสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้โดยแทบไม่จำเป็นต้องใช้เงินด้วยการปลูกพืชผักต่างๆ “ทางเลือกและทางรอดสำหรับสถานการณ์เช่นนี้ก็คือ การกลับไปพึ่งองค์ความรู้ของในหลวงของเรา นั่นก็คือการนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต รวมถึงแต่ละครอบครัวก็ควรที่จะต้องทำบัญชีครัวเรือนร่วมกัน เพื่อที่จะได้รู้สถานการณ์การเงินของตนเอง และหาหนทางที่จะลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว” นายวันชัยระบุ นางอนงค์ อินแสง ผู้ประสานงานโครงการศูนย์ครอบครัวเข้มแข็งฯ เล่าว่าการนำเรื่องปุ๋ยหมักมาเกี่ยวโยงกับเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว เนื่องจากปุ๋ยหมักเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัว เพราะปุ๋ยได้เข้าไปอยู่ในวิถีการทำเกษตรของชาวบ้านแต่ละคนอยู่แล้ว “กิจกรรมนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและสามารถที่จะเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวได้ เพราะสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวทั้ง พ่อ แม่ หรือลูก ก็สามารถทำร่วมกันได้ ทั้งการทำปุ๋ยและการทำแปลงผักสวนครัวของแต่ละบ้าน ซึ่งหลายๆ เวทีที่โครงการศูนย์ครอบครัวเข้มแข็งเคยจัดขึ้นมา ทุกคนมักจะเรียกร้องว่าไม่มีเวลาอยู่ด้วยกัน ไม่มีเวลาได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ดังนั้นถ้าเราใช้เวทีตรงนี้เป็นเครื่องมือในการชวนเด็กๆ ให้มาร่วมกันการทำปุ๋ยปลูกต้นไม้ร่วมกับพ่อและแม่ ก็น่าจะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะสร้างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวให้เกิดขึ้นได้” นางอนงค์กล่าว ในช่วงที่เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวโพด ภายในแต่ละบ้านของชุมชนจะมีกองขยะที่เกิดจากเศษเปลือกข้าวโพดและซังข้าวโพดเป็นจำนวนมาก แกนนำชาวบ้านจึงมีความเห็นร่วมกันที่จะนำเศษข้าวโพดเหล่านี้มาทำเป็นปุ๋ยหมักเพื่อใช้ปลูกพืชในช่วงหลังการทำนา ซึ่งชาวบ้านจะมีพื้นที่ส่วนกลางที่สมาชิกทุกคนได้ร่วมกันทำปุ๋ยหมัก โดยมีส่วนผสมคือ เศษข้าวโพด 1 ตัน มูลวัว 200 กิโลกรัม ปุ๋ยยูเรีย 2 กิโลกรัม และหัวเชื้อจุลินทีรีย์ 1 ถุง หมักรวมกันด้วยการกองเป็นชั้นๆ รดน้ำและกลับกองปุ๋ยเป็นระยะๆ ซึ่งตามสูตรนี้จะได้ปุ๋ยหมักประมาณ 800 กิโลกรัม นางวาสนา คำเฝ้า เกษตรกรจากบ้านปงพัฒนา เผยถึงข้อดีของปุ๋ยหมักซึ่งนอกจากจะมีความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของชาวบ้านในเรื่องของค่าปุ๋ยเคมีได้เป็นจำนวนมาก ผลที่ได้นอกจากชาวบ้านจะมีกิจกรรมที่สามารถช่วยสานความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว แต่ละครอบครัวยังได้เรียนรู้ถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมีต่างๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพชีวิตของตนเองและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยก่อให้เกิดการ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีที่จะส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของสมาชิกในชุมชนในอนาคต “ข้อดีของการใช้ปุ๋ยหมักก็คือ ผลผลิตที่ได้ ทั้งพืช ผัก ผลไม้ ก็มีรสชาติที่ดีกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งจากการทดลองใช้ปุ๋ยหมักจะพบว่าต้นไม้จะมีโรคและแมลงรบกวนน้อยกว่าต้นไม้ที่ใช้ปุ๋ยเคมี เพราะต้นไม้จะแข็งแรงและมีความต้านทานโรคและแมลงมากกว่า เมื่อต้นไม้แข็งแรง แมลงน้อยลง เราก็จะใช้ยาไล่แมลงน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้นตัวของเราเองก็จะปลอดภัย และไม่ต้องไปคลุกคลีกับสารพิษอีกต่อไป” แกนนำชุมชนบ้านปงพัฒนา กล่าวสรุป. punnda เบอร์โทรศัพท์ : 081

แท็ก เกษตรกร   เคมี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ