สสส.เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิต “เผ่าตองเหลือง” จับมือ ม.แม่โจ้-แพร่ ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อชุมชน

ข่าวทั่วไป Tuesday February 10, 2009 15:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.-- ท่ามกลางปัญหาวิกฤติพลังงานของโลก ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทนแหล่งพลังงานสิ้นเปลืองอย่างถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติซึ่งใช้แล้วมีแต่หมดไป หนึ่งในบรรดาพลังงานทดแทนที่ถือว่าเป็นพลังงานยอดนิยมมากที่สุดคือ “พลังน้ำ” โดยข้อมูลของ IEA (International Energy Agency) ระบุว่าปัจจุบันทั่วโลกผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำขนาดเล็กคิดเป็นร้อยละ 16.6 ของพลังไฟฟ้าทั้งหมด และคิดเป็น 92 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรแหล่งน้ำที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กมาใช้งานได้ในหลายพื้นที่ แต่ยังขาดการนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุนี้ทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จัดทำโครงการ “การออกแบบ สร้าง และทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าจากแหล่งน้ำขนาดเล็กในชุมชน : กรณีศึกษาบ้านมลาบรี(ตองเหลือง) จังหวัดแพร่” เพื่อหาแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งน้ำที่เหมาะสมกับชุมชน อันจะช่วยยกระดับคุณชีวิต และกระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อก่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ชุมชนบ้านมลาบรี(ตองเหลือง) มีประชากรราว 150 คนจาก 30 ครอบครัว อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านห้วยฮ่อม ต.บ้านเวียง อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ซึ่งชนเผ่าผีตองเหลืองเป็นชาวพื้นเมืองที่มีภาษาพูดเป็นของตนเอง ในอดีตเป็นชนเผ่าเร่ร่อนไม่นุ่งผ้า ใช้ใบตองทำเพิงพักและจะย้ายถิ่นฐานเมื่อใบตองเปลี่ยนสี แต่ปัจจุบันได้มีการปรับสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก แต่ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นตองเหลือผ่านภาษาพูด ดนตรี และภูมิปัญญาของการดำรงชีพในป่า ทุกวันนี้ที่หมู่บ้านตองเหลืองมีไฟฟ้าเข้าถึง และชาวบ้านก็มีไฟฟ้าใช้แทบจะทุกครัวเรือน แต่ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบอาชีพเสริมยามว่างจากงานไร่นายังไม่มีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากชาวบ้านยังมีรายได้น้อยมากแค่พอจ่ายค่าไฟในส่วนของตนเองเท่านั้น ทำให้การประกอบอาชีพเสริมที่ชาวอเมริกันคนหนึ่งซึ่งใช้ชีวิตร่วมกับชาวมลาบรีมานานนับสิบปีแนะนำให้เช่น การย้อมสีด้าย และการถักเปลญวนไม่สะดวกในยามค่ำคืน ว่าที่ร้อยตรีธรรมศักดิ์ พันธุ์แสนศรี อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ และหัวหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำฯ เปิดเผยว่าจากการเข้ามาทำกิจกรรมกับชาวบ้านพบว่าในบริเวณหมู่บ้านมีลำธารน้ำไหลผ่าน จึงเกิดความคิดที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำให้กับชาวมลาบรีได้ใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ในศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งหากชาวบ้านมีไฟฟ้าที่ชุมชนสามารถผลิตเองแล้วจะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า และมีส่วนแก้ปัญหาโลกร้อนจากการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ด้วยอีกทางหนึ่ง “ชาวมลาบรีแต่ละครอบครัวใช้ไฟฟ้าน้อยมากมีเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นอาทิ หม้อหุงข้าว หลอดไฟให้แสงสว่าง และวิทยุเสตอริโอ มีโทรทัศน์เพียง 11 เครื่อง และใช้ไฟสูงสุดไม่เกิน 75 บาทต่อครัวเรือน แต่เมื่อเราดำเนินการติดตั้งและวางระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำแล้วเสร็จคาดว่าจะได้ไฟฟ้าประมาณ 6-7 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งแทบจะเพียงพอต่อการใช้งานของคนทั้งหมู่บ้าน ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะมีการตั้งคณะกรรมของโครงการร่วมกับชาวบ้านในการใช้ไฟฟ้า ซึ่งในปัจจุบันมีการรณรงค์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจึงเป็นไปได้ว่าในอนาคตชาวบ้านยังสามารถที่จะขายไฟฟ้าคืนให้กับการไฟฟ้าได้” อ.ธรรมศักดิ์กล่าว การทำงานของเครื่องผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กจากพลังงานน้ำนั้นจะเป็นการต่อท่อเพื่อนำน้ำจากจุดรับน้ำซึ่งมีความสูง 633 เมตรจากระดับน้ำทะเล ไหลลงมายังที่ตั้งของเครื่องผลิตไฟฟ้าซึ่งสูง 533 เมตรจากระดับน้ำทะเล เพื่อทำให้เกิดแรงดันผลักเครื่องกำเนิดให้ไฟฟ้าทำงาน ซึ่งระบบนี้จะไม่มีแบตเตอรี่เพื่อเก็บสำรองไฟ ดังนั้นเมื่อจะใช้ก็เพียงแค่เปิดวาล์วน้ำเครื่องก็จะทำงาน ด้าน นายบุญยืน สุขเสน่ห์ ชาวอเมริกาที่สนใจในวิถีชีวิตของชนเผ่าตองเหลือง โดยทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งส่งเสริมคุณภาพชีวิต และหาอาชีพเสริมให้กับชาวบ้านมานานกว่า 30 ปีเล่าว่า เมื่อมีไฟฟ้าชีวิตของชาวบ้านก็จะดีขึ้น ตัวอย่างง่ายๆ เขาก็จะได้ใช้หม้อหุงข้าวซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อดีอีกข้อหนึ่งที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงนั่นก็คือช่วยให้ชาวมาลาบรีลดการตัดไม้ทำลายป่าลงได้ “สมัยก่อนชาวบ้านต้องตัดไม้เพื่อมาทำเชื้อฝืนเป็นพลังงานความร้อนในการหุงหาอาหาร ซึ่งใช้กันเยอะมากแทบจะทุกครัวเรือนและทุกวัน หากชาวบ้านผลิตไฟฟ้าใช้ได้เอง เขาก็จะมีพลังงานไฟฟ้าใช้ในการหุงหาอาหาร ให้แสงสว่าง ซึ่งก็จะเป็นการช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ไปในตัวเองโดยอัตโนมัติ และข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือเขาสามารถที่จะทำมาหากินในเวลากลางคืนหลังจากเลิกงานในไร่ได้ด้วยการทอเปลญวนเป็นอาชีพเสริม ซึ่งปัจจุบันเป็นอาชีพหลักของหลายๆ คน โดยเขาจะสามารถหารายได้ถึงวันละ 200-250 บาทจากค่าแรงในการทอเปล นอกจากนี้เขายังจะได้เรียนรู้ว่าไฟฟ้าเกิดมาจากที่ไหน เมื่อเกิดมาจากน้ำเขาก็จะต้องช่วยกันอนุรักษ์ป่าเพื่อให้มีน้ำไว้ผลิตไฟฟ้าให้ใช้ได้ตลอดทั้งปี” นายบุญยืนกล่าว แต่สิ่งหนึ่งที่หลายๆคนต่างกังวลนั่นก็คือเมื่อมีไฟฟ้ามีความเจริญเข้ามาวิถีชีวิตของชาวตองเหลืองจะเปลี่ยนไปหรือไม่ นายบุญยืน ฝรั่งหัวใจไทยคนเดิมให้คำตอบว่า “ความเป็นตองเหลืองนั้นไม่ได้อยู่ที่ความด้อยโอกาส ไม่ได้อยู่ที่การไม่นุ่งผ้านอนกับดิน ไม่จำเป็นต้องอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพราะความเป็นตองเหลืองนั้นขึ้นอยู่ที่ใจของชาวบ้าน ขึ้นอยู่ที่ภาษาพูด ดนตรี และองค์ความรู้เกี่ยวกับป่า เราอนุรักษ์ด้วยการพัฒนาและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์ซึ่งสามารถทำไปควบคู่กันได้ ไฟฟ้าพลังน้ำจึงเป็นการสร้างชีวิตใหม่ให้กับชนเผ่าตองเหลืองได้อีกทางหนึ่งโดยไม่ได้ทำลายวิถีชีวิตและความเป็นตองเหลืองลงไปแต่อย่างใด” โครงการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งน้ำขนาดเล็กในชุมชนฯ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการที่จะแก้ปัญหา เสริมสร้างศักยภาพในการผลิตและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่ชุมชน และยังสามารถที่จะเผยแพร่ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้ออกไปยังชุมชนในท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายลงได้ อันจะทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยังยืนในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ