สสส. ดัน “อาหารพื้นบ้าน” สู้ฟาสต์ฟู้ด เปิดเวทีเรียนรู้สานสัมพันธ์ครอบครัวด้วย “น้ำพริก”

ข่าวทั่วไป Tuesday February 10, 2009 15:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--สสส. กระแสบริโภคนิยมที่เน้นในเรื่องของความสะดวก สบาย รวดเร็ว เพราะต้องแข่งขันกับเวลาที่เกิดจากสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนพื้นที่อาหารของชุมชนถูกรุกรานทำลายด้วยการทำเกษตรกรรมโดยไม่คำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลต่อวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่น ลุกลามกัดกินเข้าไปถึงห่วงโซ่อาหาร และทำลายสุขภาพของคนในชุมชนโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่หลงลืมอาหารพื้นถิ่นหันไปนิยมกินอาหารสำเร็จรูป ทั้งๆ ที่อาหารพื้นบ้านมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีความปลอดภัยต่อสุขภาพ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับ โครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่าน จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “มหกรรมน้ำพริก อาหารปลอดภัย ครอบครัวบ้านถืมตอง” ขึ้น ณ บ้านถืมตอง อ.เมือง จ.น่าน เพื่อฟื้นความรู้เรื่องอาหารพื้นบ้านผ่านน้ำพริก เชื่อมความสัมพันธ์ของครอบครัวกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะครอบครัว สสส. เปิดเผยว่าในปัจจุบันวิถีของชุมชนเมืองได้รุกรานเข้าไปในวิถีชนบทของคนน่านค่อนข้างมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอินเตอร์เน็ต หรืออบายมุขต่างๆ ที่เข้าไปทำลายวิถีของครอบครัวแบบดั้งเดิม ดังนั้นกระบวนการแก้ปัญหาก็คือ รื้อฟื้นประเพณีหรือวัฒนธรรมดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน “ที่จังหวัดน่านมีความโดดเด่นในการดึงเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นและวัฒนธรรมชุมชนมาผูกเชื่อมโยงกับการพัฒนาสถาบันครอบครัวได้อย่างกลมกลืน เพราะว่ามีวัฒนธรรมการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่เหนียวแน่น ซึ่งพร้อมที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการที่จะดึงประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามในอดีตที่หายไปกับวัฒนธรรมและวิถีเมืองให้กับคืนมาอีกครั้ง” นายวันชัยระบุ การจัดเวทีมหกรรมน้ำพริกมีเป้าหมายหลักคือการฟื้นความรู้ในเรื่องอาหารพื้นบ้านอย่างน้ำพริกและผักที่เป็นเครื่องเคียงให้กับแต่ละครอบครัว พร้อมทั้งร่วมกันค้นหาสาเหตุว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่จึงไม่ชอบกินน้ำพริก นางอนงค์ อินแสง ผู้ประสานงานโครงการศูนย์ครอบครัวเข้มแข็งฯ เปิดเผยว่าสาเหตุที่นำเรื่องของน้ำพริกมาใช้สร้างกระบวนการเรียนรู้เนื่องเพราะน้ำพริกนั้นสามารถเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและสังคมของชุมชนได้ในหลายมิติ “น้ำพริกเชื่อมโยงได้กับทั้งสภาพภูมิศาสตร์ เช่นน้ำพริกปลาทูเค็ม น้ำพริกถั่วเน่า น้ำพริกปลาร้า ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการถนอมอาหาร เนื่องจากวัตถุดิบเหล่านี้นั้นสามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสีย เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบตามธรรมชาติในท้องถิ่นตามช่วงเวลาหรือฤดูกาลต่างๆ เช่นช่วงปลายฝนต้นหนาว พืช ผัก สัตว์ อุดมสมบูรณ์ การหาวัตถุดิบอย่าง กบ เขียด ปลา จึงไม่ใช่เรื่องยาก นอกจากนี้น้ำพริกก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับความเชื่อและประเพณีด้วยเช่นการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวในสมัยก่อน เมื่อหนุ่มถามว่าวันนี้กินข้าวกับอะไรหากสาวเจ้ามีใจก็จะตอบว่ากินน้ำพริกหง่าหอม ซึ่งเป็นคำผวนมาจากหง่อมหา ที่แปลว่าคิดถึง รวมไปถึงสื่อให้เห็นถึงความเอื้ออาทรของคนในชุมชนเช่นคำว่าพริกบ้านเหนือเกลือบ้านใต้” นางสาวอนงค์ระบุ ด้าน นางสีดา สีหนาท ชาวบ้านถืมตองที่เข้าร่วมในเวทีที่จัดขึ้นบอกว่า ได้ชวนลูกหลานเข้ามาร่วมในกิจกรรมเพื่อหาคำตอบว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่จึงไม่ชอบกินน้ำพริกและได้พบคำตอบว่าน้ำพริกมักจะมีรสเผ็ด เด็กๆ ไม่ชอบกลิ่นของวัตถุดิบหรือเครื่องปรุงที่นำมาใช้ อีกส่วนหนึ่งไม่ชอบกินผัก จึงหันไปหาอาหารสำเร็จรูปที่หากินง่ายรสชาติถูกปากมากกว่า “เราก็มีการปรับปรุงสูตรน้ำพริกให้เผ็ดน้อยลง และใส่อาหารที่เขาชอบลงไปอย่างหมูหรือปลา อย่างน้ำพริกปลาทูที่แต่เดิมใช้ปลาเค็มย่างที่มีกลิ่นแรงก็เปลี่ยนมาใช้ปลาทูนึ่งแทน บางสูตรก็มีการใส่ไข่เพิ่มเข้าไป เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของเขา และยังทำให้สมาชิกคนอื่นในครอบครัวอย่างคนเฒ่าคนแก่ที่ทานเผ็ดไม่ได้สามารถทานน้ำพริกร่วมกันได้” แม่สีดากล่าว นายสุเรียน วงศ์เป็ง คณะทำงานโครงการศูนย์ครอบครัวเข้มแข็งฯ เล่าว่าเวทีนี้ได้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านการทำน้ำพริกของแต่ละครอบครัว วิธีการถนอมอาหาร รวมไปถึงสูตรของแต่ละบ้าน รวมถึงทำให้เกิดการปรับปรุงสูตรน้ำพริกใหม่ๆ ขึ้นมาจากสูตรน้ำพริกดั้งเดิมซึ่งมีอยู่เพียง 30 กว่าชนิด เพิ่มขึ้นมากกว่า 80 ชนิด “สิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนผ่านน้ำพริกก็คือทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น จากการที่เด็กเข้าไปมีส่วนร่วมทำน้ำพริกกับพ่อหรือแม่ แต่ละครอบครัวได้มีการพูดคุยและร่วมวงรับประทานอาหารร่วมกัน ตัวเด็กเองก็ได้พบว่าน้ำพริกมีสารอาหารที่มีคุณค่าและมีประโยชน์มากมายกว่าที่คิด และยังเป็นอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของสมาชิกทุกคนในครอบครัว” นายสุเรียนระบุ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากเวทีน้ำพริกของบ้านถืมตองก็คือการที่สมาชิกในชุมชนได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นเพื่อเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัย ซึ่งหากมีการใช้สารเคมีก็จะไม่มีวัตถุดิบเหล่านี้มาใช้ในการประกอบอาหารหรือทำน้ำพริก ทำให้เกิดการกันพื้นที่ป่าสาธารณะตามหัวไร่ปลายนาเพื่อใช้เป็นธนาคารอาหารของชุมชน “น้ำพริกมีประโยชน์มากมาย วัตถุดิบแต่ละอย่างที่ใช้ก็เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยให้แต่ละบ้านประหยัดรายจ่ายลงได้ เพราะใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ผัก ปู เห็ด ปลา ก็หาได้จากหัวไร่ปลายนา บางอย่างก็สามารถปลูกเองได้และปลอดสารพิษ จึงไม่จำเป็นต้องซื้อ ในด้านหนึ่งก็จะช่วยในเรื่องของสุขภาพ ความปลอดภัย ช่วยสานความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและครอบครัวกับชุมชน ซึ่งบทเรียนที่ได้จากเวทีนี้ทำให้ชาวบ้านได้รู้ว่าเค้าสามารถหาอาหารได้จากธรรมชาติโดยแทบไม่ต้องซื้อ และถ้าเขาร่วมกันอนุรักษ์ป่ารักษาน้ำวัตถุดิบก็จะไม่มีวันหมดมีให้หาเก็บหากินได้ไปตลอด” นางอนงค์กล่าวสรุป การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ครอบครัวกับชุมชน และชุมชนกับสิ่งแวดล้อม ผ่านวัฒนธรรมอาหารอย่างน้ำพริกและผักพื้นบ้านนั้น จึงนับได้ว่าเป็นการบูรณาการองค์ความรู้และภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาท และเป็นเครื่องมือให้ชุมชนพร้อมเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงท่ามกระแสการบริโภคนิยมที่หลังไหลเข้ามาอย่างรวดเร็วและรุนแรงในยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างมั่นคง. PP เบอร์โทรศัพท์ : 081

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ