สสส.หนุนท้องถิ่นสร้าง 1 ตำบล 1 ภูมิคุ้มกัน ดึงผู้สูงวัยถ่ายทอดความรู้สร้างสุขภาวะที่ดีแก่ชุมชน

ข่าวทั่วไป Tuesday February 10, 2009 15:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--สสส. ในสภาวะปัจจุบันการมีสุขภาพที่ดีถือเป็นวาระสำคัญระดับชาติที่หลายประเทศต่างให้ความสนใจ เพราะการที่ประชาชนอยู่ดีมีสุขเป็นดัชนีหนึ่งในการวัดระดับของการพัฒนาของประเทศ ด้วยเหตุนี้องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จึงร่วมกันหาวิธีการทำให้ประชาชนมีความสามารถในการป้องกัน ดูแล และรักษาสุขภาพอย่างถูกต้อง การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวไม่ได้เป็นหน้าที่เฉพาะของแพทย์หรือพยาบาล เท่านั้น แต่รวมไปถึงองค์กรภาคประชาชนในท้องถิ่นที่จะต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจที่จะต่อความรู้ เติมความคิด เสริมสร้างภูมิคุ้มกันสู่การมีสุขภาพดี เพื่อให้คนไทยทุกหย่อมหญ้าล้วนมีสุขภาวะที่ดีโดยเริ่มต้นจากตนเองและคนในชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน จากสถานการณ์สุขภาพของประชาชนใน ต.แม่ทราย อ.ร้องกวาง จ.แพร่ โดยการเก็บข้อมูลของสถานีอนามัยตำบลแม่ทรายได้พบว่า 6 อันดับโรคที่พบมากในตำบลแม่ทรายได้แก่ โรคปวดกล้ามเนื้อ, ไข้หวัด, ผื่นคัน, ปวดศีรษะ, ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ที่มักพบในผู้สูงอายุซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาสุขภาพจากโรคเรื้อรังและการเสื่อมสภาพของร่างกาย โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคดังกล่าว เกิดจากกรรมพันธุ์ พฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง และเกิดจากข้อจำกัดในด้านการให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพที่ทำได้น้อยเนื่องจากเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยมีไม่เพียงพอ ชมรมนักสื่อสารสุขภาพตำบลแม่ทราย จึงได้ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทราย, สถานีอนามัยตำบลแม่ทราย และชมรมผู้สูงอายุตำบลแม่ทราย จัดทำ “โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งภูมิคุ้มกัน สานพลังสร้างนักสื่อสารสุขภาพท้องถิ่นตำบลแม่ทราย” ขึ้นมาเพื่อพัฒนารูปแบบการสื่อสารสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ แล้วส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถสื่อสารข้อมูลในการดูแลสุขภาพของตนเองและเพื่อนร่วมวัยคนอื่นๆ ได้โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นางสาวศิริพร พันธุลี หัวหน้าโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งภูมิคุ้มกันฯ เปิดเผยว่า ประชากรส่วนใหญ่ในตำบลแม่ทรายเป็นผู้สูงอายุและเด็ก ซึ่งขาดการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลานเพราะต้องไปทำงานต่างถิ่น อีกทั้งผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้าตามวัย ดังนั้นจึงต้องมีการให้คำแนะนำผู้สูงอายุในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองอย่างถูกต้อง แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องบุคคลากรทางการแพทย์ที่มีน้อย และแนวความคิดของผู้สูงอายุที่มักละเลยคำแนะนำหรือคำเตือนของแพทย์ รวมถึงไม่เข้าใจข่าวสารสุขภาพที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ทำให้ผู้สูงอายุในตำบลท่าทรายยังมีสถิติการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ “การดูแลสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุมีข้อจำกัดหลายประการ ส่วนใหญ่คนเฒ่าคนแก่จะเชื่อถือคำแนะนำของคนวัยเดียวกัน อีกทั้งข่าวสารด้านสุขภาพที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ อยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าถึงผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง โดยมีข้อจำกัดเรื่องภาษาและวัฒนธรรม ดังนั้นแนวทางดำเนินงานของโครงการฯ จึงเน้นจัดตั้งเครือข่ายแกนนำนักสื่อสารสุขภาพตำบลสูงวัยอย่างมีค่า หรือ นสต. โดยใช้หลักคิด ‘เพื่อนดูแลเพื่อน วัยเดียวกัน ภาษาเดียวกัน’ โดยให้ผู้สูงอายุได้ระดมความคิดร่วมกันเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์ด้านสุขภาพในชุมชนของตนเอง แล้วค้นหาผู้สูงอายุที่เป็นต้นแบบในการดูแลสุขภาพเช่น ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง และโรคอื่นๆ มาบอกเล่าวิธีการป้องกันโรคกับคนอื่นๆ” นางสาวศิริพรกล่าว เมื่อมีผู้สูงอายุเข้าร่วมเป็นแกนนำนักสื่อสารสุขภาพผู้สูงอายุ (นสต.) แล้วทางโครงการฯ จะพัฒนาศักยภาพ นสต. ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนโดยให้แกนนำหารูปแบบสื่อที่จะทำให้ผู้สูงอายุสนใจ เพื่อสามารถสื่อสารข้อมูลข่าวสารด้านการดูแลรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง และถูกต้อง ชัดเจน พร้อมทั้งจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ในการพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารให้แก่แกนนำตามความสนใจและความชำนาญ เช่น วิธีการบอกปากต่อปาก วิธีการเล่าผ่านวิทยุชุมชน หอกระจายข่าว จดหมายข่าว หรือผ่านทางวัฒนธรรมประจำถิ่นที่สนุกสนานอย่าง จ้อย (การเกี้ยวพาราสี) ซอ (การเขียนกลอน) และค่าว (การร้องลำตัด) รวมทั้งการจัดรายการวิทยุชุมชนด้านสุขภาพ เป็นต้น นายเชาวเลิศ สุทธิสวัสดิ์ ประธารชมรมผู้สูงอายุ ต.แม่ทราย เปิดเผยว่า หลังจากการเปิดตัวโครงการฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีผู้สูงอายุใน ต.แม่ทราย เข้าร่วมโครงการถึง 80 คน จากทั้งหมด 232 คน ซึ่งผู้สูงอายูในชุมชนมีศักยภาพของตนเองอยู่แล้ว การเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้แสดงความสามารถในการดูแลเพื่อนร่วมวัยในชุมชนเดียวกัน นอกจากจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพแล้วยังทำให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าในตัวเอง และสามารถผสมผสานภูมิปัญญาสู่การทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุในท้องถิ่นได้ “การสื่อสารด้านสุขภาพระหว่างผู้สูงอายุด้วยกันเอง จะได้รับข้อมูลด้านสุขภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจากการให้ผู้สูงอายุได้ระดมความคิด ค้นหาปัญหาด้านสุขภาพในตำบลแม่ทราย ส่วนใหญ่มีปัญหาโรคประจำตัวคนแก่ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น และพบว่ามีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกสุขลักษณะอย่างการกินอาหารดิบๆ สุกๆ อาหารที่ไม่สะอาด ไม่มีคุณค่าทางสารอาหาร ซึ่งการให้ผู้สูงอายุที่ดูแลสุขภาพของตนเองได้ดี มาเป็นต้นแบบให้แก่ผู้สูงอายุคนอื่นๆ ด้วยการบอกเล่าประสบการณ์เป็นภาษาท้องถิ่นผ่านสื่อต่างๆ เช่น ในรายการวิทยุเสียงจากแม่โจ้-แพร่ FM 94 MHz ก็จะทำให้ผู้สูงอายุที่ได้รับฟังรายการรู้สึกอยากปฏิบัติตาม เพราะได้รับข้อมูลจากเพื่อนวัยเดียวกัน ด้วยภาษาเดียวกัน” ประธานชมรมผู้สูงอายุกล่าว เมื่อกลุ่มผู้สูงอายุได้มีโอกาสสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านโรคภัยไข้เจ็บซึ่งกันและกัน ด้วยภาษาเดียวกัน จากคนในวัยเดียวกัน นอกจากจะเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงแล้ว ยังเป็นการสร้างเสริมความเข้มแข็งทางใจอีกด้วย เพราะผู้เฒ่าผู้แก่จะรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ และยังสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนได้ เรียกได้ว่าเป็นการส่งเสริมทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ผู้สูงวัยไปพร้อมๆ กัน

แท็ก ตำบล   สสส.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ